Celeb Online

“ศิลปนิพนธ์ยอดเยี่ยม” ถอดรหัสชีวิตนักศึกษาศิลปะ 35 สถาบัน จากต่างพื้นที่


ART EYE VIEW—ถ้าคุณอยากรู้ความคิด มองเห็นชีวิตของคนรุ่นใหม่ ที่นำเสนอผ่านสิ่งที่พวกเขานำเสนอ โดยเฉพาะผลงานงานศิลปะ นิทรรศการ ศิลปนิพนธ์ยอดเยี่ยม ปี 2559 ที่เพิ่งเปิดให้ชมอย่างเป็นทางการวันนี้ (21 มิถุนายน 2559) เป็นวันแรก ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถให้คำตอบ

เนื่องจากนิทรรศการครั้งนี้ เป็นการจัดแสดงผลงาน “ศิลปนิพนธ์” ของนิสิต นักศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ชั้นปีสุดท้าย จากสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนด้านศิลปะ 35 แห่งทั่วประเทศ

ดังนั้นผลงานศิลปะแต่ละชิ้นในนิทรรศการ จึงสามารถถอดรหัสความคิด และชีวิต ของพวกเขาแต่ละคน ซึ่งเติบโตมาจากต่างพื้นที่และได้รับการศึกษาจากต่างสถาบัน ได้เป็นอย่างดี

ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้จัดนิทรรศการศิลปนิพนธ์ยอดเยี่ยม มาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ตามนโยบายที่ต้องการส่งเสริมและสนับสนุนศิลปินรุ่นใหม่ให้ได้มีพื้นที่ในการแสดงผลงานศิลปกรรม อีกทั้งยังเป็นโอกาสอันดีที่ประชาชนทั่วไปจะได้ชมผลงานศิลปะที่มีความโดดเด่นจากทั่วประเทศ

ในปี 2559 ได้ทำการรวบรวมผลงานศิลปนิพนธ์ของนิสิต นักศึกษา ที่ผ่านกระบวนการคัดเลือกจากคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิของแต่ละสถาบันระดับอุดมศึกษา ที่มีการเรียนการสอนด้านศิลปะ จำนวน 35 แห่ง 40 คณะ แบ่งเป็น นักศึกษาระดับปริญญาโท สถาบันละ 2 คน ระดับปริญญาตรี สถาบันละ 3 คน ส่งผลงานมาร่วมแสดงคนละ 1 ชิ้น รวมเป็นผลงานศิลปะที่จัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้จำนวนทั้งสิ้น 129 ชิ้น และเป็นผลงานศิลปะที่สร้างสรรค์ขึ้นด้วยหลากหลายเทคนิค ได้แก่ จิตรกรรม ประติมากรรม สื่อผสม และงานจัดวาง ฯลฯ

นิทรรศการ ศิลปนิพนธ์ยอดเยี่ยม ปี 2559 จัดแสดงระหว่างวันที่ 21 มิถุนายน – 23 กรกฎาคม 2559 ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (ธนาคารกรุงเทพ สาขาผ่านฟ้า)

“การละเล่นแคนม้ง” ผลงานเศิลปะเทคนิคประติมากรรมประยุกต์ โดย วรัญญู แซ่ยาง มหาวิทยาลัยราชภัฎกำแพงเพชร

ข้าพเจ้านำส่วนหนึ่งของเอกลักษณ์ชนเผ่าม้ง คือการละเล่นเครื่องดนตรีพื้นบ้านประจำชนเผ่า ที่เรียกว่าแคนม้ง มาสร้างสรรค์ในรูปแบบประติมากรรมประยุกต์ เพื่อแสดงถึงตัวตนและถ่ายทอดความเป็นชาติพันธุ์ รวมถึงลักษณะเฉพาะของชนเผ่าตนเอง

“ผูกพัน” ผลงานศิลปะเทคนิคประติมากรรมประยุกต์ โดย ณัฐพงษ์ สุโนนคุณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ความผูกพันของคนอีสานกับการทอผ้า เป็นแสมือนสิ่งสะท้อนวิถีชีวิตของผู้ทอ ที่บอกเล่าความคิด ความเชื่อผ่านเส้นด้ายและลวดลาย ที่มีมาแต่บรรพบุรุษจวบจนปัจจุบัน แม้แต่เด็ก(ผู้สร้างสรรค์งาน) ก็เคยผ่านการผูกเกี่ยว ผูกมัดของด้ายจากกระสวยที่กำลังเล่น เมื่อโตขึ้นทำให้เกิดความผูกพันโดยไม่รู้ตัว ผลงานศิลปะของณัฐพงษ์บอกเล่าด้วยเทคนิคการตัดเย็บ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากรูปแบบผ้าขาวม้า และมีการนำเศษผ้าอีสานที่มีลวดลายหลากหลายมาสร้างสรรค์ผลงาน

“จินตภาพจากวิถีชีวิต” ผลงาศิลปะเทคนิคจิตรกรรมสื่อผสม โดย มณีรัตน์ ธรรมนารักษ์ มหาวิทยาลัยสงขานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

มณีรัตน์สร้างสรรค์ผลงานผ่านความรู้สึกจากความทรงจำเพื่อสะท้อนสภาพชีวิตครอบครัวของชาวใต้ที่มีความเรียบง่าย และแปรเปลี่ยนตามสภาพการดำเนินชีวิต แสดงถึงคุณค่าของความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุและจิตใจ อันเกิดจากประสบการณ์ ความผูกพัน บนพื้นฐานของความพอเพียงของสังคมปัจจุบันตามกาลเวลา ผ่านความสำคัญของเครื่องใช้พื้นบ้านในด้านคุณประโยชน์ทางการใช้สอยและคติความเชื่อที่มีต่อสิ่งของเครื่องใช้ ซึ่งถูกปลูกฝังสืบทอดกันมา สื่อสารผ่านกระบวนวิธีรทางศิลปะ โดยแสดงกลุ่มของรูปทรงของเครื่องใช้ภายในห้องครัว

“จิตซ่อนเร้นหมายเลข 2” ผลงานศิลปะเทคนิคสีอะคริคบนผ้าใบ โดย กานต์มณี บูญจูง สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์

มนุษย์ถูกกำหนดด้วยเงื่อนไขแห่งการอยู่รอดในสังคมมายาคติ ที่ต่างคนต่างใส่หน้ากากเข้าหากัน คนในสังคมมองเพียงรูปลักษณ์ภายนอกแบบฉาบฉวย ดังนั้น การดิ้นรนเอาตัวรอดของคนในสังคมเพียงเพื่อเสพสุข กิเลส ตัณหา วัตถุภายนอก ด้วยเหตุนี้ คนในสังคมจึงต้องสร้างรูปลักษณ์ภายนอกให้สวยงาม เพื่อซ่อนเร้นความจริงที่ร้ายกาจของจิตใจ ข้าพเจ้านำแรงบันดาลใจมาสร้างสรรค์ผลงานรูปแบบกึ่งจริงกึ่งฝัน โดยใช้ความจริงทางกายภาพปรุงแต่งเข้ากับจินตนาการ ตัดทอนเป็นผู้หญิงสังคมมายาในทัศนคติส่วนตัว

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.manager.co.th Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews