Celeb Online

“ไม่อยากเห็นวัดเป็นเหมือนแกงโฮะ” พระแสงแก้ว มณีเพชร


ART EYE VIEW“ทีแรกยังไม่ได้สนใจศิลปะ หลวงพี่อยากจะเรียนคอมพิวเตอร์ แต่พอเห็นรายวิชาแล้วจึงตัดสินใจลงทะเบียนเรียนสาขานี้ ส่วนหนึ่งเพราะก่อนหน้านี้มีพระอาจารย์รูปหนึ่งได้บอกเล่าเกี่ยวกับงานพุทธศิลป์ที่มีคุณค่า ที่บรรพบุรุษทิ้งไว้ ทำให้หลวงพี่เกิดความซาบซึ้ง เกิดความรักความสนใจ”

พระแสงแก้ว มณีเพชร บอกถึงเหตุผลที่ตัดสินใจเลือกเรียน สาขาพุทธศิลป์ คณะพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย (มจร) วิทยาเขตเชียงใหม่ หนึ่งในสถาบันระดับอุดมศึกษาที่เปิดให้มีการเรียนการสอนด้านศิลปะที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ให้กับพระสงฆ์และบุคคลทั่วไปมาแล้วถึง 4 รุ่น

“สมัยก่อนงานศิลปะประเภทพุทธศิลป์ส่วนใหญ่อยู่ในวัด พระได้มีโอกาสเรียนรู้ พอสึกออกไปแล้ว บ้างเปลี่ยนศาสนา บ้างการใช้ชีวิตในสังคมทำให้ขาดการเรียนรู้เรื่องงานพุทธศิลป์อย่างต่อเนื่อง

ทางสถาบันฯ(มจร.)อยากให้พระสงฆ์และชาวพุทธทั่วไปมีความรู้ด้านศิลปะ จะได้มีส่วนช่วยอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ ทางด้านพระพุทธศาสนา เพื่อไม่ให้มรดกที่บรรพบุรุษทิ้งไว้ให้ถูกทำลายไปในที่สุด”


พระแสงแก้ว อายุ 28 ปี 7 พรรษามีเชื้อสายไทลื้อ เกิดที่เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เคยเดินทางไปศึกษาที่กรุงเวียงจันทน์ แล้วกลับไปช่วยงานวัด มีตำแหน่งเป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาส ก่อนจะลามาศึกษาที่ประเทศไทยในที่สุด

“เพราะขณะที่หลวงพี่เป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาส อยู่ไปสักระยะเริ่มคิดว่า ถ้าไม่มีความรู้เราจะอยู่ไปเพื่ออะไร เลยขออนุญาตเจ้าอาวาสมาเรียนต่อ

ท่านจึงมีเมตตาให้มาเรียน และฝากฝังว่าให้นำสิ่งที่เรียนกลับไปสอนรุ่นน้อง เพื่อให้พระพุทธศาสนาของเราสืบต่อไปได้

พระสงฆ์ส่วนใหญ่ของลาว ยังเป็นพระที่บวชตามประเพณี ไม่ได้ศึกษาอะไรที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเยอะแยะ”

ปัจจุบันพระแสงแก้วเป็นนักศึกษาสาขาพุทธศิลป์ปีสุดท้าย ดังนั้นจึงต้องทำงานศิลปนิพนธ์ก่อนจะจบการศึกษา ไม่แตกต่างจากนักศึกษาศิลปะปีสุดท้ายของสถาบันอื่น

“พระพุทธบารมีมณีล้านช้าง” พระพุทธรูป เทคนิคปั้นแล้วหล่อด้วยสำริดคืองานศิลปนิพนธ์ ที่พระแสงแก้วได้รับแรงบันดาลใจมาจากพระพุทธรูปในยุคศิลปะล้านช้าง ที่ปัจจุบันยังมีให้เห็นในหลายวัดของลาว ทั้งในเวียงจันทน์และหลวงพระบาง รวมถึงประเทศไทย ที่ จ.หนองคาย และ จ.อุดรธานี

“หลวงพี่อยากจะนำงานพุทธศิลป์ที่หาพบได้ในลาวบ้านเกิดของตนเองมาทำเป็นงานศิลปนิพนธ์ พระพุทธรูปยุคศิลปะล้านช้างในลาวในแต่ละที่ที่หลวงพี่ไปเห็นมา มีความงามไม่เหมือนกัน

พระพุทธบารมีมณีล้านช้าง เป็นผลงานที่ผ่านการตกผลึกทางความคิด หลวงพี่นำเอาข้อดี หรือสิ่งที่มีความประทับใจในงานศิลปะล้านช้างจากหลายๆที่ ทั้งโดยการไปเที่ยวชมมาด้วยตนเอง และหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต มาสร้างเป็นผลงานขึ้นมาใหม่

โดยก่อนจะสร้างเป็นพุทธรูป หลวงพี่สเก็ตซ์แบบขึ้นมาแล้วส่งให้อาจารย์ที่ปรึกษาศิลปนิพนธ์ช่วยดูและให้คำแนะนำ

จากที่เคยสังเกตงานศิลปนิพนธ์ของรุ่นพี่รุ่นที่ผ่านๆมา ส่วนใหญ่จะเป็นงานศิลปะชิ้นใหญ่เทคนิคอื่น แต่หลวงพี่อยากขนกลับบ้านเกิดจึงเลือกทำงานประติมากรรม ทำออกมาเป็นพระพุทธรูปชิ้นที่ไม่ใหญ่มาก

นอกจากนี้พระพระพุทธบารมีมณีล้านช้าง ยังมีการหล่อแบบโบราณ คือการหล่อทั้งองค์ สามารถถอดได้ 3 ส่วนคือ ส่วนฐาน ส่วนองค์พระ และส่วนยอดพระโมลี เพื่อให้เคลื่อนย้ายได้ง่าย เพราะแม้จะองค์เล็ก แต่ก็มีน้ำหนักมาก หนัก 20 กิโลกรัม”

รุ่นพี่ที่จบการศึกษาสาขาพุทธศิลป์ไปก่อนหน้านี้ บางส่วนเลือกทำงานพุทธศิลป์ส่วนตัว บางส่วนรับงานออกแบบเพื่อสร้างโบสถ์ วิหาร ซุ้มประตู-หน้าต่าง บางส่วนทำงานรับเหมาบูรณะวัด และ ปิดทองพระ แต่ความตั้งใจของพระแสงแก้วหลังจบการศึกษา อยากนำความรู้ที่ศึกษามาไปปลูกฝังหรือถ่ายทอดให้กับเยาวชนที่บ้านเกิด

“ เพราะที่ลาวยังขาดแคลนช่างฝีมือที่มีคุณภาพ ที่ผ่านมามักจะสร้างงานพุทธศิลป์ไปตามความเข้าใจส่วนตัวมากกว่า หลวงพี่จึงอยากจะไปถ่ายทอดวิธีการทำหรือเทคนิคที่ถูกต้อง โดยหลวงพี่จะไปเริ่มลงมือที่วัดก่อน แล้วให้คนที่สนใจมาเรียนรู้กับเรา”

นอกจากนี้พระแสงแก้วยังมีความตั้งใจจะศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สาขาปรัชญา “เพราะที่ มจร ยังไม่มีเรียนด้านศิลปะในระดับปริญญาโท ดังนั้นหลวงพี่จึงมีความตั้งใจจะนำความรู้จากการศึกษาด้านปรัชญาไปต่อยอด สร้างผลงานพุทธศิลป์ของตนเองในโอกาสต่อไป”


ตลอด 4 ปีที่ศึกษาในสาขาพุทธศิลป์ พระแสงแก้วไม่ได้เรียนรู้แต่งานศิลปะที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่ยังได้เรียนรู้งานศิลปะร่วมสมัยด้วย และหลายๆครั้งที่ฝึกฝนฝีมือด้วยการสร้างงานศิลปะร่วมสมัย แต่สุดท้ายก็ขอมุ่งเน้นทำงานพุทธศิลป์อย่างเดียว เพราะไม่อยากจะน้อมนำตัวเองไปในทางโลกียะมากเกินไป

“ในเมื่อมีโอกาสได้มาบวชและเรียนสาขาพุทธศิลป์ หลวงพี่ก็อยากทำให้คนทั่วไปได้เห็นว่า พระสงฆ์ก็มีส่วนช่วยสร้างงานพุทธศิลป์ได้ มีองค์ความรู้ มีศักยภาพพอที่จะสืบทอด

ไม่ใช่มอบหน้าที่ให้กับผู้รับเหมา ซึ่งเดี๋ยวนี้มีวัดหลายแห่งที่มอบหน้าที่ให้ผู้รับเหมา และได้ทำให้วัดมีบรรยากาศของความระเกะระกะ รกหูรกตา มากว่าความสะอาด สว่าง สงบ ไม่มีการจัดสภาพแวดล้อมภายในวัดให้ดูสวยงาม”

พระแสงแก้วแสดงความเห็นด้วยว่าปัจจุบันวัดหลายๆวัดมีบรรยากาศไม่ต่างจากสวนสาธารณะ และถ้าเปรียบเป็นอาหารก็เหมือนแกงโฮะ

“ เราไปวัดเราก็อยากจะสัมผัสความสงบ แต่บางวัดที่เราเข้าไป มันเหมือนสวนสาธารณะมากกว่า มีหลายอย่างที่สร้างเกินความจำเป็นสำหรับวัด ทั้งที่สร้างโดยขาดความรู้ สร้างตามศรัทธาของญาติโยม ไม่มีการวางผังที่ดี ทำให้วัดเป็นเหมือน แกงโฮะ คือมีทุกอย่าง

ศาสนาพุทธ แทนที่จะมีแต่พระพุทธรูป เริ่มมีอิทธิพลของอย่างอื่นเข้ามาด้วย เช่น เริ่มมีพระพิฆเนศ เจ้าแม่กวนอิม เข้าไปอยู่ในวัด มีวัฒนธรรมของศาสนาอื่นรุกล้ำเข้ามา ในมุมมองของนักวิชาการบางท่านก็บอกว่า บางวัดมีการสร้างสิ่งก่อสร้างอื่นใหญ่กว่าองค์พระเสียอีก จริงๆสร้างได้ แต่ไม่ควรสร้างจนเกินขอบเขต

หลวงพี่ไม่อยากเห็นวัดเป็นเหมือนแกงโฮะ อยากเห็นวัดมีบรรยากาศของความเรียบง่าย เข้าไปแล้วรู้สึกสะอาด สว่าง สงบ”

ล่าสุดในนิทรรศการ ศิลปนิพนธ์ยอดเยี่ยม ปี 2559 ผลงานศิลปนิพนธ์ “พระพุทธบารมีมณีล้านช้าง” ของพระแสงแก้ว รวมถึงผลงานของพระสงฆ์อีกหนึ่งรูป พระจำรัส พินิจกิจ เจ้าของผลงานศิลปะเทคนิคสื่อผสม “พุทธศิลป์ผ่านจิตรกรรม -สถาปัตยกรรมล้านนนา” และฆราวาสอีกหนึ่งราย ธีทัต แซ่ว่าง เจ้าของผลงานภาพวาดเทคนิคสีอะคริลิค “สมาธิ” ซึ่งต่างเป็นนักศึกษาปีที่สุดท้ายสาขาพุทธศิลป์ของ มจร วิทยาเขตเชียงใหม่ เป็นส่วนหนึ่งในจำนวนผลงานศิลปนิพนธ์ 129 ชิ้น (ของนิสิต นักศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ชั้นปีสุดท้าย จากสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนด้านศิลปะจำนวน 35 แห่งทั่วประเทศ) ที่ถูกนำมาจัดแสดงระหว่างวันนี้ – 23 กรกฎาคม 2559 ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (ธนาคารกรุงเทพ สาขาผ่านฟ้า)

“ก่อนหน้านี้หลวงพี่เคยมากรุงเทพฯแล้วหนหนึ่ง เคยไปดูงานด้านพุทธศิลป์ที่วัดพระแก้ว และพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย หรือ MOCA เพราะอยากรู้ว่าศิลปินยุคใหม่ที่ทำงานพุทธศิลป์ ที่เป็นฆราวาสไม่ใช่พระสงฆ์ มีวิธีนำเรื่องราวด้านพุทธศาสนามาถ่ายทอดผ่านผลงานศิลปะของตัวเองอย่างไร ไม่จำเป็นต้องสร้างออกมาเป็นพระพุทธอย่างเดียว แต่สามารถถ่ายทอดผ่านงานศิลปะเทคนิคอื่นได้

เพราะหลวงพี่เป็นพระจะไปถ่ายทอดอะไรที่เกินขอบเขตที่พระจะทำก็อาจจะไม่เหมาะสมจะทำให้ โลกะวัชชะ แปลว่า โลกติเตียน ก็เลยทำงานออกมาเป็นพระพุทธรูปดีกว่า

นอกจากนี้หลวงพี่ยังเคยไป จ. สุโขทัย เพราะอยากศึกษาซากปรักหักพังและความงามความยิ่งใหญ่ของงานพุทธศิลป์ที่ยังหลงเหลือมาถึงปัจจุบัน”

ขณะที่การเดินทางมากรุงเทพฯครั้งนี้ นอกจากแสดงผลงานศิลปนิพนธ์แล้ว พระแสงแก้ว ผู้เป็นเจ้าของหน้าเพจ facebook “พระเมืองลาว ล้านช้าง” ยังมีความตั้งใจที่จะไปชมและศึกษาหาความรู้ในนิทรรศการ ศิลป์แผ่นดิน ครั้งที่ 7 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม

“เพราะเป็นงานโชว์ผลงานของช่างฝีมือในวัง ซึ่งมีความวิจิตร ประณีต งดงามและลงตัวมาก เลยอยากไปดูว่าเขามีเทคนิควิธีการสร้างผลงานอย่างไร จะได้ศึกษาสิ่งอื่น นอกจากสิ่งที่ตนเองทำ หลวงพี่คิดว่าเป็นพระต้องเรียนรู้ทุกอย่าง เพราะว่าบางทีมีญาติโยมมาถาม เราจะได้ร่วมแก้ไขปัญหาให้เขาได้”

และได้บอกเล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า จากความตั้งใจที่จะหล่อ พระพุทธบารมีมณีล้านช้าง เพื่อทำเป็นผลงานศิลปนิพนธ์เพียง 1 องค์ เท่านั้น หลังจากนั้นเมื่อจัดแสดงเสร็จและเรียนจบก็จะนำกลับไปบูชาที่ลาว

ปรากฏว่าได้มีผู้ชื่นชอบในความงามและมีจิตศรัทธาอยากบูชา เมื่อไม่อยากฝืนศรัทธาและตั้งใจจะนำรายได้จากการเช่าบูชาไปทำกิจกรรมเผยแพร่ด้านพุทธศิลป์ให้กับเยาวชน จึงตัดสินใจหล่อเพิ่มในจำนวนเพียง 45 องค์

“เท่ากับจำนวนพรรษาของพระพุทธเจ้าหลังจากตรัสรู้เมื่ออายุ 36ปี จนถึงปรินิพพาน เมื่ออายุ80 ปี นั่นคือพระพุทธเจ้ามีอายุพรรษาอยู่สอนชาวโลก 45 ปี และเท่ากับจำนวนพระไตรปิฎก 45 เล่ม เป็นความตั้งใจของหลวงพี่ ที่ไม่ต้องการหล่อมากกว่านั้น และตอนนี้มีคนจองหมดแล้ว”

นอกจากนี้พระแสงแก้วยังรู้สึกภาคภูมิใจมากขึ้นไปอีก เมื่อผลงานศิลปนิพนธ์เพียงชิ้นเดียวของตนเองสามารถต่อยอดสร้างประโยชน์ให้กับสังคมมากขึ้น เพราะถูกขอไปเป็นแบบในการสร้างพระประธานที่วัดในลาวด้วย

“พระครูธีรสุตพจน์ พระผู้ใหญ่ ที่ มจร วิทยาเขตเชียงใหม่ ท่านอยากจะนำไปสร้างเป็นพระประธานที่ลาว ท่านมาขออนุญาตหลวงพี่ไว้ว่า ท่านแสงแก้ว ตอนนี้ที่วัดของพระอาจารย์มีพระนิสิตลาว และมีบ้านเกิดอยู่ที่แขวงไชยบุรี เขาอพยพจากบ้านหนึ่งมาบ้านหนึ่ง ยังไม่มีวัด ชาวบ้านอยากได้วัด และวัดยังไม่มีพระประธาน ญาติโยมบอกว่าเดี๋ยวซื้อตามร้านสังฆทานไปถวายก็ได้

แต่พระอาจารย์ท่านมีไหวพริบ มีความคิดที่ไกลกว่านั้น บอกชาวบ้านไปว่า เราจะเอาพระประธานจากร้านสังฆทานไปก็ได้ แต่มันจะมีคุณค่ากับเราไหม ทำไมเราไม่สร้างงานพุทธศิลป์ที่เป็นศิลปะของล้านช้างไปไว้ล่ะ จะมีคุณค่ากว่าไหม พอท่านมาถามหลวงพี่ว่าอยากนำไปขยายเป็นพระประธานได้ไหม หลวงพี่ก็เลยตกลงให้นำไปขยาย”

“ข้าพเจ้าได้ทำในสิ่งที่ข้าพเจ้าคิดว่าดีที่สุดแล้ว และภูมิใจในสิ่งที่ข้าพเจ้าสร้าง มันไม่ใช่แค่งานศิลปะเท่านั้น แต่มันคือประติมากรรมพุทธศิลป์ “พุทธบารมีมณีล้านช้าง” อันเปรียบเสมือนพระพุทธเจ้าให้ชาวพุทธทั่วโลกได้เห็นได้กราบ ได้สักการบูชาในสิ่งที่ข้าพเจ้าสร้างและฝากเอาไว้ในพระพุทธศาสนา”
 
พระแสงแก้ว มณีเพชร เจ้าของผลงานศิลปนิพนธ์ “พระพุทธบารมีมณีล้านช้าง”

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.manager.co.th Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews