Celeb Online

พระสงฆ์ชาวอุบล ชนะเลิศ “จิตรกรรมเพชรยอดมงกุฎ” หวังรางวัลไปสร้างวิหาร และใช้หนี้ กยศ.


ART EYE VIEW—หลังจากที่เคยจัดแถลงข่าวการประกวดไปเมื่อต้นปี พ.ศ.2559 ล่าสุด วันนี้ ( 11 สิงหาคม 2559) ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถ.เจ้าฟ้า ได้มีการแถลงข่าวผลการตัดสินการประกวด “จิตรกรรมเพชรยอดมงกุฎ ครั้งที่ 1 และประติมากรรมเพชรยอดมงกุฎ ครั้งที่ 5” ซึ่งจัดโดย มูลนิธิร่มฉัตร ร่วมกับ มูลนิธิ คิงเพาเวอร์ และคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ผลงานศิลปะประเภทจิตรกรรม ที่สามารถชนะใจกรรมการ จนคว้ารางวัลชนะเลิศ การประกวด “จิตรกรรมเพชรยอดมงกุฎ ” ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในหัวข้อ “อารยธรรมเส้นทางสายไหมทางทะเล” ในระดับประชาชนทั่วไป(อายุ 25ปี ขึ้นไป) คือผลงานจิตรกรรมชื่อ “อารยธรรมไร้พรมแดน” ผลงานโดย พระปวริศ ธีรปัญโญ(พูนเหลือ) ได้รับรางวัลเป็นเงินจำนวน 200,000 บาท ขณะที่ระดับนักศึกษา ไม่มีผลงานจิตรกรรมชิ้นใดที่ควรค่าแก่การได้รับรางวัล


นอกจากนี้ อาจารย์อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ คณบดีคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ทำหน้าที่ประกาศผลการตัดสิน ยังประกาศรายชื่อ ผลงานศิลปะประเภทประติมากรรม ที่คว้ารางวัลชนะเลิศการประกวด “ประติมากรรมเพชรเพชรยอดมงกุฎ ครั้งที่ 5” ใน 2 หัวข้อ (ได้แก่ 1. การประกวดประติมากรรมหัวข้อ “พระพุทธรูปปางคันธารราฐ” และ 2.การประกวดประติมากรรม หัวข้อ “พระพิฆเนศ”) ทั้งในระดับประชาชนทั่วไปและนิสิต นักศึกษา

ปรากฎว่าในระดับประชาชนทั่วไป(อายุ 25ปี ขึ้นไป) ของการประกวดประติมากรรมหัวข้อ “ พระพุทธรูปปางคันธารราฐ” ไม่มีผลงานประติมากรรมชิ้นใด ควรค่าแก่การได้รับรางวัลชนะเลิศ ขณะที่ผลงานประติมากรรมชื่อ “พระพุทธรูปปางสมาธิ” ผลงานโดย วรุต วรรณแก้ว คว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดในระดับนิสิตนักศึกษา ได้รับรางวัลเป็นเงินจำนวน 100,000 บาท

ส่วนการประกวดประติมากรรมหัวข้อ “พิฆเนศ” ผลงานประติมากรรมชื่อ “พระพิฆเนศเทพแห่งความสำเร็จ” ผลงานโดย มงคล ฤชัยนาม คว้ารางวัลชนะเลิศในระดับประชาชนทั่วไป(อายุ 25ปี ขึ้นไป) รับเงินรางวัลเป็นเงินจำนวน 200,000 บาท ขณะที่ผลงานประติมากรรมชื่อ “คเณศวร” ผลงานโดย ชัยวัฒน์ โพธิตะนัง คว้ารางวัลชนะเลิศในระดับนิสิตนักศึกษา รับเงินรางวัลเป็นเงินจำนวน 100,000 บาท

อาจารย์อำมฤทธิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลงานจิตรกรรมและประติมากรรมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดครั้งนี้ รวมถึงผลงานจิตรกรรมและประติมากรรมที่ได้รับรางวัลรองลงมา และผลงานจิตรกรรมและประติมากรรมอีกจำนวนหนึ่งที่ถูกกรรมการร่วมกันคัดเลือกให้ร่วมแสดง จะมีพิธีมอบรางวัลและถูกนำมาจัดแสดงให้ชมเป็นนิทรรศการในช่วงเดือนกันยายน ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถ.เจ้าฟ้า

มากไปกว่าการมอบรางวัลและการจัดแสดงนิทรรศการ ทางผู้จัดประกวดยังจะร่วมกับ สถานฑูตจีน ทำกิจกรรมอื่นๆที่ต่อยอดจากการประกวดครั้งนี้ ให้เหมือนกับว่าผู้ร่วมกิจกรรมได้ย้อนรอยบรรพบุรุษกลับไปสำรวจเส้นทางสายไหมทางทะเลอีกครั้งหนึ่ง

ด้าน พระปวริศ ธีรปัญโญ(พูนเหลือ) พระสงฆ์ชาว จ.อุบลราชธานี อดีตศิษย์เก่าภาควิชาศิลปะไทย คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เจ้าของผลงานจิตรกรรมชื่อ “อารยธรรมไร้พรมแดน” ซึ่งคว้ารางชนะเลิศ (ระดับประชาชน) จากการประกวด “จิตรกรรมเพชรยอดมงกุฎ ครั้งที่ 1” ในหัวข้อ “อารยธรรมเส้นทางสายไหมทางทะเล” และยังเป็นลูกศิษย์ของ อาจารย์ปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติ หนึ่งในคณะกรรมการตัดสินที่บอกว่า ตอนตัดสินไม่ทราบว่าเป็นผลงานของลูกศิษย์

บอกถึงแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานซึ่งใช้เทคนิควาดด้วยสีฝุ่นและหมึกจีนว่า เป็นผลงานที่เกิดขึ้นจากการที่ตนเองกลับไปศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับ อารยธรรมเส้นทางสายไหมทางทะเล บวกกับจินตนาการส่วนตัวของตนเอง

“ เหมือนเราจินตนาการย้อนอดีตกลับไปว่าบ้านเมืองในยุคอดีต ยุคที่อารยธรรมเส้นทางสายไหมทางทะเลเคยรุ่งเรือง มันรุ่งเรืองอย่างไรและแบบไหน”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้ชมสัมผัสได้ขณะชมผลงานของพระปวริศจากระยะไกล จะเสมือนว่ากำลังยืนชมภาพแผนที่โลก แต่เมื่อขยับเข้าไปชมในระยะใกล้ จะได้เห็นรายละเอียดต่างๆที่พระปวริศพยายามถ่ายทอดลงในผลงาน อาทิ วิถีชีวิตของผู้คนหลากหลายชาติ ตลอดจนสภาพบ้านเมือง และลักษณะอันเป็นเอกลักษณ์ในงานสถาปัตยกรรม ของแต่ละชาติ โดยที่มีผืนน้ำผืนทะเลเชื่อมโยงภาพรวมทั้งหมดไว้

“เพราะผลงานชิ้นนี้ของอาตมาต้องการสะท้อนให้เห็นด้วยว่าคนหลากหลายเชื้อชาติ สามารถอยู่ร่วมกันได้ ไม่ว่าจะเป็น ไทย จีน อินเดีย ฝรั่ง เพราะเขามีจิตใจที่อยากจะอยู่ร่วมกัน อาตมาต้องการเชื่อมโยงไปถึงเรื่องของการปรับตัวที่จะอยู่ร่วมกัน หรือเรื่องของสันติภาพด้วย”

พระปวริศบวชเป็นพระที่ วัดป่าบำรุงจิต ต.ผานกเค้า อ.ภูกระดึง จ.เลย และขณะนี้จำวัดอยู่ วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร เนื่องจากขอลามาศึกษา

หลังจากเรียนจบด้านศิลปะไทย จากคณะจิตรกรรมฯ เคยทำงานรับเขียนภาพจิตรกรรมตามโบสถ์และวิหาร อยู่ราว6 -7 ปี รวมถึงเคยเป็นลูกทีมของ อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติ เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังให้กับวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ก่อนจะขออนุญาตพ่อแม่เปลี่ยนจากการนับถือศาสนาคริสต์ มานับถือศาสนาพุทธ แล้วตัดสินใจบวช เนื่องจากซาบซึ้งในหลักคำสอนของพุทธศาสนา และมีเป้าหมายในชีวิตที่มากไปกว่า การมีหน้าที่การงานหรือมีครอบครัวเฉกเช่นคนปกติทั่วไป

“ทำงานอยู่ระยะหนึ่ง อาตมาตั้งคำถามกับตัวเองว่าเป้าหมายชีวิตของตนเองคืออะไร ในที่สุดก็ตอบตัวเองได้ว่าคือการบวช (ไม่อยากเป็นศิลปิน?) เมื่อก่อนเคยอยากเป็น ทำทุกอย่าง มันเหนื่อย มันต้องต่อสู้ทั้งกับตัวเองและระบบของศิลปะ คนที่จะประสบความสำเร็จได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย เราต้องมีจุดหนึ่งที่มันพิเศษกว่าคนอื่นเขา ไม่ใช่จะบอกใครว่างานผมดี ต้องได้รางวัล มันเป็นไปไม่ได้หรอก นอกจากว่าคนตัดสินเขาจะยกรางวัลให้ การที่จะไปอยู่ในจุดนั้นได้ เป็นเรื่องยาก

และคนเรียนจบศิลปะแต่ละปีก็ไม่ใช่แค่คนสองคน แต่ละปีเป็นร้อยเป็นพันคน แล้วพวกเขาเหล่านั้นเลือกที่จะอยู่อย่างไร ก่อนหน้านี้อาตมาก็เป็นคนหนึ่งที่ต้องทำมาหากิน ค่าแรงวันละ 500 บาท ชีวิตมันก็มีความลำบาก สุขด้วยทุกข์ด้วย มันก็ธรรมดา พอทำไปเรื่อยๆ มันก็เป็นเรื่องปกติไปแล้ว มันไม่มีอะไรที่ต้องทำมากกว่านั้น พอลองมาศึกษาเรื่องของธรรมะดู มีผลทำให้ขออนุญาตครอบครัวเปลี่ยนศาสนา แล้วตัดสินใจไปบวช”

การตัดสินใจส่งงานศิลปะเข้าประกวด หาใช่เพราะพระปวริศอยากทำงานศิลปะหรือคิดถึงการเป็นศิลปินแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะอยากมีส่วนร่วมกับการประกวดซึ่งให้ความสำคัญกับพุทธศาสนา และหวังจะนำเงินรางวัลไปสมทบทุนสร้างวิหาร ที่ จ.อุบลราชธานี

“อาตมาจำวัดอยู่ที่วัดระฆัง วันหนึ่งเราเดินผ่านหน้ามหาวิทยาลัยศิลปากร เห็นป้ายโปสเตอร์เชิญชวนให้ส่งผลงานเข้าประกวด ซึ่งเป็นภาพพระพักตร์ของพุทธเจ้าก็เลยสนใจ เพราะถือเป็นโครงการดีๆที่ทำให้คนทั่วไปเห็นถึงความสำคัญของพุทธศาสนาให้มากขึ้น ก็เลยอยากจะมีส่วนร่วม เลยโทรไปถามทางโครงการว่าพระส่งผลงานเข้าประกวดได้ไหม ถ้าส่งได้ก็จะลองทำดู

และอาตมาอยากหาทุนไปสร้างวิหารบรรจุพระพุทธเจ้า 28 พระองค์ ให้กับวัดที่บ้านเกิดของพระอาจารย์ของอาตมา ที่ อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี ซึ่งขณะนี้ท่านเป็นเลขาเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดระฆัง

ก็เลยลองทำงานเพื่อส่งประกวดดู คิดแค่นั้น ตอนแรกก็ไม่คิดไม่ฝันหรออกว่าจะได้รางวัล แต่บังเอิญมันได้

พอได้พระอาจารย์ก็บอกให้นำเงินไปใช้หนี้ก่อน เพราะสมัยเรียนอาตมาเคยกู้เงินกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)เพื่อเรียนเป็นเงินเกือบสองแสนบาท อย่างไรก็ตามอาตมาก็ได้ทำงานศิลปะไว้ที่วัดอีกชิ้นหนึ่ง ลักษณะคล้ายๆกับงานที่ส่งประกวด ถ้าเกิดขายได้ก็จะนำเงินไปให้พระอาจารย์สร้างวิหาร เพราะเราไม่มีทุนอะไร มีแต่ฝีมือที่พอทำงานศิลปะได้”

เมื่อกล่าวถึงคำว่า “เพชรยอดมงกุฎ” อันเป็นส่วนหนึ่งของชื่อการประกวดหลายคนคุ้นเคยดีกับ “โครงการเพชรยอดมงกฎ” ซึ่งเริ่มต้นโดย มูลนิธิร่มฉัตร โดยเฉพาะการสนับสนุนการประกวดแข่งขันวิชาการทางด้านอื่น ไม่ใช่ทางด้านศิลปะ

อะไรคือเหตุผลที่ทำให้ มูลนิธิฯ หันมาให้ความสนใจสนับสนุนให้มีการจัดประกวดด้านศิลปะ และหวังไกลถึงขนาดอยากให้เป็นเวทีประกวดที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ

พระพรหมมังคลาจารย์(ท่านเจ้าคุณธงชัย) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร,ประธานมูลนิธิร่มฉัตร,ประธานสถาบันขงจือเส้นทางสายไหมฯลฯ ได้ตอบข้อสงสัยว่า

“ไม่ได้เป็นเรื่องแปลก สำหรับการที่มูลนิธิร่มฉัตรจะสนับสนุนศิลปะ เพราะว่ามันเป็นพื้นฐานของชีวิตมนุษย์ที่สำคัญที่แสดงออกถึงจิตใจและจิตวิญญาณของผู้มีการศึกษาที่สูงส่ง ที่เปี่ยมล้นไปด้วยจริยธรรมและคุณธรรม เพราะฉนั้นทุกคนต้องไม่มองว่า งานศิลปะมันเป็นแค่งานเขียนภาพ งานปั้นภาพ ต้องมองว่ามันเป็นจิตวิญญาณที่สื่อถึงธรรมะขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นการสื่อถึงจิตวิญญาณของทุกๆศาสนา ทุกคำสั่งสอนที่ปรารถนาที่จะให้คนเป็นคนดี เพราะฉนั้นตรงนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่จะต้องสนับสนุนส่งเสริม

วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ หรืออะไรก็แล้วแต่ สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงแค่อาชีพหรือเป็นแค่นวัตกรรมอันหนึ่ง แต่สิ่งที่สำคัญของมนุษย์มันอยู่ที่ใจ คุณจะเรียนด้านไหนก็แล้วแต่มันอยู่ที่ใจ ใจคุณจะต้องมีคุณธรรม

จิตรกรรม ประติมากรรม เป็นการสื่อสาร เป็นขบวนการที่จะแสดงออกถึงการพัฒนา และเป็นการแสดงออกถึงจิตใจมนุษย์ ทุกๆคน ทุกๆด้าน ว่ามีจริยธรรมและคุณธรรมสูงแค่ไหน ฉนั้น จิตรกรรม ประติมากรรม เป็นการตกตะกอนของจิตใจของมนุษยชาติในแต่ละยุคแต่ละสมัย ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ”
 
รายงานโดย : อ้อย ป้อมสุวรรณ ภาพถ่ายโดย: วรวิทย์ พานิชนันท์







ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.manager.co.th Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews