Celeb Online

“ผมไม่เคยเบื่อที่จะเขียนรูปในหลวง” ดินหิน รักพงษ์อโศก


ART EYE VIEW—หลายปีที่ผ่านมา ศิลปะภาพเหมือนบุคคล เขียนด้วยเทคนิควาดเส้น(drawing)ด้วยชาโคล ผลงานของ ดินหิน รักพงษ์อโศก เป็นที่คุ้นตาและประทับใจสำหรับใครหลายคน

เพราะไม่ว่าจะโอกาสร่วมแสดงความยินดี,แสดงความเสียใจ หรือแค่พบปะสนทนาเพื่อเชื่อมสัมพันธภาพ

บรรดาบุคคลที่มีชื่อเสียง ,หลายชีวิตที่แวดล้อมตัวเขา โดยเฉพาะเพื่อนศิลปิน ต่างเคยเป็นแบบให้เขาฝึกฝีมือเขียนภาพด้วยเทคนิคนี้

นอกจากนำผลงานไปจัดแสดงในหลายวาระโอกาส ผลงานชิ้นมาสเตอร์พีซส่วนหนึ่งของเขายังถูกรวบรวมและตีพิมพ์ไว้ในหนังสือ 86 กลเม็ดเคล็ดลับ กับ ดินหิน : 86 Things They Don't Tell You About Portrait Drawing โดยสำนักพิมพ์สารคดี เพื่อเป็นอีกช่องทางในการให้ความรู้แก่ผู้ที่สนใจศึกษาวิธีการเขียนภาพในแบบเขา

ดังนั้นหากให้เอ่ยชื่อศิลปินที่มีความรักและชำนาญในการเขียนภาพเหมือนบุคคลด้วยเทคนิควาดเส้น(drawing)ด้วยชาโคล ชื่อของ “ดินหิน” ย่อมเป็นหนึ่งในรายชื่อของศิลปินที่หลายคนไม่ลืมจะนึกถึง


แม้จะฝึกเขียนภาพเหมือนบุคคลมาหลายร้อยชีวิต แต่มีใบหน้าของบุคคลหนึ่งที่ดินหินไม่เคยเบื่อที่จะเขียนซ้ำ แม้บางครั้งภาพถ่ายที่นำมาเป็นแบบในการฝึกเขียนจะเป็นภาพเดิม บุคคลท่านนั้นคือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยมีจุดเริ่มต้นในการเขียนมาจาก ดินหินต้องการให้พระบรมสาทิสลักษณ์ของพระองค์ท่านที่ตัวเองเขียนเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้พระองค์ท่านทรงปลื้มพระทัย และหายจากการประชวร

“ประมาณปี ค.ศ. 2011 เพื่อนๆของผม เขาตั้งกลุ่ม คลับหน้าพระลาน แล้วชวนกันเขียนรูปไปแสดงร่วมกันครั้งแรก ช่วงนั้นใกล้วันที่ 5 ธันวาคม เลยชวนกันเขียนพระบรมสาทิสลักษณ์ของในหลวง

และช่วงนั้นพระองค์ท่านประชวรด้วย ยิ่งทำให้เราอยากเขียนเยอะๆ เป็นความฝันของคนเขียนรูปอย่างเรา ที่อยากจะเขียนให้พระองค์ท่านทอดพระเนตร ให้ทรงปลื้มพระทัยว่ามีคนเขียนพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระองค์ท่านเยอะมากเลย และมีคนรักพระองค์ท่านเยอะมากเลยนะ จะได้ทรงหายประชวรเร็วๆ

ผมไม่เคยเบื่อที่จะเขียนรูปในหลวง ไม่เคยเบื่อเลย ตอนหลังๆ มาค้นเจอคำตอบจากความรู้สึกลึกๆของตัวเองว่า เพราะเรามีความรักต่อพระองค์ท่านมาก เลยทำให้เราทำงานเขียนรูป หรือเขียนพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระองค์ท่านได้อย่างไม่เคยเบื่อ เขียนรูปเดิมอยู่ซ้ำๆก็ยังไม่เบื่อ รู้สึกสนุกทุกครั้ง”

อย่างไรก็ตามดินหินยอมรับว่าการจะหาพระบรมฉายาลักษณ์(ภาพถ่าย)ของพระองค์ท่านที่เป็นภาพ portrait มาเป็นแบบในการเขียนภาพไม่ใช่เรื่องง่ายเลย กระทั่งทราบข้อมูลจากข้าราชบริพารบางท่านที่รับใช้เบื้องพระยุคลบาท ว่าพระองค์ท่านไม่โปรดให้ถ่ายภาพ portrait จึงเข้าใจในข้อจำกัดนี้

“เวลาจะเขียนพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระองค์ท่าน ผมจะพยายามหามุมที่ตัวเองถนัด หาพระบรมฉายาลักษณ์ที่ตัวเองชอบ และชัดที่สุดมาเป็นแบบในการเขียน ไม่ได้คิดเรื่องวัย เรื่องกิจกรรมที่ทรงทำ เพราะสิ่งที่ผมต้องการแสดงออกผ่านรูปเขียนคือเรื่องของเส้น เรื่องของอารมณ์ในรูปมากกว่า

พระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ท่านที่ผมใช้เป็นแบบฝึกเขียน มีอยู่ไม่กี่รูป ได้มารู้ภายหลังจาก  ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล (เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา และข้าราชบริพารที่รับใช้เบื้องพระยุคลบาทอย่างใกล้ชิด) เพราะผมเคยถาม ท่านบอกว่า ในหลวงไม่โปรดให้ถ่ายรูป portrait (ภาพเน้นที่ใบหน้าและอารมณ์เป็นหลัก แต่บางครั้งก็สามารถรวมเอาทั้งตัวและฉากหลังเข้าไปก็ได้ ไม่จำเป็นว่าจะต้องถ่ายเฉพาะที่หน้าหรือถ่ายแค่ครึ่งตัว) เราก็เลยไม่ค่อยมีแบบที่น่าเขียน มีแต่มุมบังเอิญ ที่เป็นรูป candid (ภาพถ่ายที่ตัวแบบไม่ได้ตั้งใจโพสต์ท่าให้ถ่ายภาพ) ที่พอจะมีให้เลือกอยู่ไม่กี่รูป”


ดินหินเป็นชาวจังหวัดนครสวรรค์ จบการศึกษาด้านศิลปะจาก วิทยาลัยช่างศิลป์ และ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เคยทำงานเป็น บรรณาธิการฝ่ายศิลป์, นักเขียนภาพประกอบ และนักเขียนการ์ตูนล้อการเมือง ให้กับ บริษัทโฆษณา, หนังสือพิมพ์,นิตยสาร และสำนักพิมพ์หลายแห่ง

อาทิ นิตยสาร “คู่ทุกข์-คู่ยาก”,นิตยสาร “เพื่อนการ์ตูน”,บริษัท “BKK 200”,หนังสือพิมพ์ “ซันเดย์ มิเรอร์”,นิตยสาร “โลกศิลปะ” ,นิตยสาร “ฟีลลิ่ง”,สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง,บริษัท ลีโอ-เบอร์เน็ตต์ ดีทแฮล์ม แอดเวอร์ไทซิ่ง จำกัด,นิตยสาร “หมอชาวบ้าน”,นิตยสาร “รักลูก” และนิตยสาร “สารคดี”

ขณะที่ปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนศิลปะ ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ควบคู่ไปกับทำงานศิลปะเป็นงานอดิเรก

ย้อนเวลากลับไปราว 4 เดือน ก่อนการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 เป็นช่วงเวลาที่ดินหินกำลังรวบรวมผลงานเพื่อที่จะจัดแสดงเดี่ยว ในช่วงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2559 ณ แกลเลอรี่แห่งหนึ่ง

แต่หลังจากที่ประชาชนชาวไทยต้องประสบกับความโศกเศร้าเสียใจร่วมกัน ผลงานของดินหินที่เตรียมไว้เพื่อจะจัดแสดง ซึ่งทั้งหมดเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เขียนด้วยเทคนิควาดเส้น(drawing)ด้วยชาโคล ได้ถูกจับจองไปเกือบหมด

จึงเป็นเหตุให้เขาต้องเขียนพระบรมสาทิสลักษณ์ขึ้นมาทดแทนภาพที่ขายไป แล้วเปลี่ยนชื่อนิทรรศการจาก The King มาเป็น “ใต้ร่มพระบารมี ๗๐ ปี แห่งการครองราชย์” เลื่อนวันเปิดแสดงวันแรกจากช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนมาเป็นช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน พร้อมทั้งเปลี่ยนสถานที่จัดแสดงจากหอศิลป์ร่วมสมัยอาร์เดล มาที่ 333Gallery ศูนย์การค้าริเวอร์ซิตี้ ด้วยเหตุผลหลายประการ

“พอพระองค์ท่านสวรรคต ก็มีคนมาขอซื้อพระบรมสาทิสลักษณ์ไปเกือบหมด เพราะมีคนต้องการรูปที่เป็นขาวดำเยอะมาก แม้แต่คนที่เคยเก็บพระบรมสาทิสลักษณ์ที่เป็นรูปสีสวยๆ ก็ยังอยากได้ขาวดำเก็บเอาไว้ด้วย มันมีกระแสแบบนี้ขึ้นมา เหมือนเหตุการณ์มันขีดมา ให้คนมาซื้องานเรา แต่เราไม่เจตนา เพราะงานของเรามันเป็นขาวดำอยู่แล้ว ไม่ได้เขียนเพื่อจะไว้อาลัยพระองค์ท่าน แต่เขียนเพื่อแสดงความจงรักภักดี เผยแพร่ความดีของพระองค์ท่าน”

พอเหตุการณ์มันทำให้ความรู้สึกเปลี่ยนไป และต้องเขียนพระบรมสาทิสลักษณ์ขึ้นมาใหม่ เราก็พยายามย้ำกับตัวเองว่า ต้องเขียนเพื่อเผยแพร่ความดี และแสดงความอาลัยพระองค์ท่านนะ ใช้รูปเขียนเป็นสื่อ เพื่อให้คนรุ่นใหม่ๆเห็นว่า คนรักพระองค์ท่านเยอะมาก เราต้องแสดงความรักต่อพระองค์ท่าน ในทางใดทางหนึ่ง ส่วนผมในฐานะที่เป็นศิลปิน จะทำอย่างอื่นก็ไม่ถนัด จึงเขียนรูปเพื่อเผยแพร่ความดีของพระองค์ท่านออกไปในรูปแบบของรูปเขียน”

และเพื่อเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท ในฐานะที่ทรงเป็นผู้ให้มาโดยตลอด ดินหินจึงมีความตั้งใจนำรายได้จากการจำหน่ายภาพเขียนทั้งหมดหลังหักค่าใช้จ่ายมอบให้ กองทุนเพื่อผู้ป่วย ร.พ.ศิริราช ศิริราชมูลนิธิ (รหัสทุน D004000 )

“เราโชคดีที่เราขายรูปได้จนเรามีเงินพอที่จะซื้อกรอบรูปดีๆมาใส่ พระบรมสาทิสลักษณ์ที่เขียนขึ้นใหม่และแสดงในนิทรรศการจะใส่กรอบที่มีราคาแพงมากๆ ใส่กรอบราคา 3,000-4,000 บาท ธรรมดางานของผมจะใส่กรอบราคาแค่ 1,000 บาท เราพยายามทำให้มันหรู เพราะเราถือว่ามันเป็นงานบุญทำเพื่อในหลวง และพยายามทำอะไรให้เป็นเรื่องบริจาคหมด คนที่เขาซื้อไป เขาจะได้รูปดีๆ ได้กรอบสวยๆ ไม่ต้องไปซื้อไปแล้วไปเปลี่ยนกรอบ เพราะบางคนซื้อรูปเราไปแล้วต้องไปเปลี่ยนกรอบ

ผมเชื่อว่าคนซื้อรูปหลายคน เขาคงไม่ได้สนใจศิลปะลึกซึ้งหรอก และไม่ได้สนใจว่าดินหินเป็นใคร แต่เขาซื้อเพราะอยากบริจาค เวลานี้ก็เลยมีคนจองที่จะซื้อหลายคนเลย เกินคาด แต่ถ้าผมไปขายหาเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง คงไม่มีใครซื้อขนาดนี้หรอก ผมรู้สึกอย่างนั้น เพราะธรรมดาเราก็ขายรูป ไม่ค่อยได้อยู่แล้ว คนเขียนรูป portrait แสดงงาน 10 รูป ขายได้ 1 รูป ก็ดีใจแล้วแหล่ะ จริงๆงานผมราคาถูก แต่แสดงงานครั้งนี้ตั้งเว่อร์ไปสิบเท่าเลย แต่คนก็ยังซื้อโดยไม่ต่อ ผมก็เลยรู้สึกว่า เขาซื้อรูปเราไม่ใช่เพราะเราหรอก แต่เพราะในหลวง”


นอกจากนี้ดินหินยังอนุญาตให้ประชาชนทั่วไปสามารถดาวน์โหลดไฟล์ภาพของพระบรมสาทิสลักษณ์ที่จัดแสดงในนิทรรศการครั้งล่าสุดไปใช้งานได้ในทุกรูปแบบโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และจะรู้สึกดีใจมาก ถ้าไฟล์ภาพผลงานของตัวเองสามารถสร้างรายได้ให้กับคนอื่นๆ (ดาวน์โหลดไฟล์ภาพเขียนขนาดใหญ่ผลงานของดินหิน..ได้ฟรีที่…https://www.flickr.com/photos/dinhin/  สามารถนำไปใช้ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต)

“รูปเราไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเราถือว่าในหลวงเป็นบุคคลสาธารณะ ใครจะเอาไปทำอะไรเราอนุญาต ยิ่งเขาเอาไฟล์ภาพไปทำอะไรขายหารายได้ เรายิ่งดีใจ ที่เขามีรายได้จากการขายรูปของเรา ทำให้เขามีรายได้ เราก็ดีใจสิ จะไปหวงไว้ทำไม”

เพราะตลอดมาคนทำงานศิลปะเช่นเขายังมีพระองค์ท่านเป็นแรงบันดาลใจในเรื่องการเสียสละเพื่อส่วนรวมด้วย

“เรื่องเสียสละเพื่อส่วนรวมสำคัญมาก ศิลปินส่วนใหญ่จะต้องทำตัวเองให้มีชื่อเสียง สร้างตัวเอง ขายรูปในราคาแพงๆ หรือไปทำหอศิลป์ของตัวเอง ผมมองว่า มันไม่มีอะไร พอตายไปก็ไม่มีใครดูแล ผมรู้สึกอย่างนั้น แต่ถ้างานศิลปะ ที่เราทำออกมา มันสามารถแปลงเป็นเงินได้ ขายได้ เราน่าจะทำประโยชน์ให้แก่คนอื่น ในระหว่างที่เรายังมีชีวิตอยู่ มากกว่าไปหาเงิน สร้างชื่อเสียงให้ตัวเอง เราอยากจะทำให้รูปเราเป็นประโยชน์กับคนอื่น

และการเขียนรูปสำหรับผม ยังเป็นงานอดิเรก เขียนเล่นๆ เพราะเรายังมีอาชีพเป็นครู เราก็มีรายได้อยู่แล้วนี่

ในหลวงมีส่วนทำให้ความคิดของคนเขียนรูปอย่างเราเปลี่ยนไป เพราะยิ่งศึกษาเรื่องราว และประจักษ์ชัดในความดีของพระองค์ท่าน เรายิ่งไม่กล้าที่จะมุ่งเขียนรูปเพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับตัวเองอย่างเดียว ถ้าเป็นแบบนั้นจะรู้สึกว่ามันผิดมากเลย

พอพระองค์ท่านสวรรคต ความดีอีกหลายเรื่องที่เรายังไม่เคยทราบ ถูกนำออกมาเปิดเผยเยอะมาก ก็ยิ่งทำให้ความคิดของเราเปลี่ยนไปอีกเยอะมาก

และพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระองค์ท่านที่ผมฝึกเขียนในช่วงหลังๆเนี่ย มันทำให้เราพัฒนาเทคนิคและฝีมือขึ้นมาเรื่อยๆ รู้สึกว่าเขียนรูปในหลวงนี้สนุกมาก ทำให้เราพัฒนาตัวเอง และมีแรงผลักดันมาจากในหลวง ทำให้เราหาเงินเพื่อมาทำงานเพื่อแสดงงาน หารายได้ไปช่วยมูลนิธิต่างๆ และตั้งใจว่าแสดงงานทุกครั้งเราจะช่วยการกุศลด้วย เพื่อจะเจริญรอยตามพระองค์ท่าน”


 
ใต้ร่มพระบารมี ๗๐ ปี แห่งการครองราชย์ (in Remembrance of His Majesty) นิทรรศการศิลปะแสดงเดี่ยวโดย ดินหิน รักพงษ์อโศก

เปิดแสดงระหว่างวันที่ 5 – 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2559 ณ 333 Gallery ชั้น 3 ศูนย์การค้าริเวอร์ซิตี้ สี่พระยา ถ.เจริญกรุง ซ.30

และมีพิธีเปิด วันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ.2559 เวลา 17.30 น. โดยมี นายจุน วนวิทย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท วนวิทย์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด (ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์พัดลมคุณภาพยี่ห้อฮาตาริ) เป็นประธานเปิดนิทรรศการ

นอกจากนี้ก่อนพิธีเปิด เวลา 15.00 น.ณ แกลเลอรี่จัดนิทรรศการ ดินหินจะสอนเขียนพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ให้กับผู้สนใจโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ (อุปกรณ์จัดไว้ให้แล้ว มาตัวเปล่าได้เลย)

และจะมี Workshop สอนเขียนพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อีกครั้งในวันเสาร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. เวลา 13.00 น. สอบถาม โทร. 094-928 2646 (คุณแดง)

รายงานโดย : อ้อย ป้อมสุวรรณ ถ่ายภาพโดย : จิตตรัตน์ จิตตศิริกุล









ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.manager.co.th Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews