Celeb Online

BDMS สานสายใยรักแม่-ลูก ผ่านความห่วงใยในสุขภาพกระดูก ของ "ศุภมาส และ จิราภา ลักษณวิศิษฏ์"


>>นับได้ว่าเป็นคู่แม่-ลูกที่น่ารักอีกหนึ่งคู่ สำหรับ “มาส – ศุภมาส ลักษณวิศิษฏ์” คุณแม่ยังสาวกับลูกสาวคนสวย “มิลค์กี้ – จิราภา ลักษณวิศิษฏ์” ด้วยคู่นี้เขามีไลฟ์สไตล์ใกล้เคียงกัน ทั้งการชอบแต่งตัว ชอบชอปปิ้ง และชอบเที่ยวผจญภัยแอดเวนเจอร์ เราจึงมักจะเห็นทั้งสองไปไหนมาไหนแบบแพ็กคู่ และผูกพันสนิทสนมกันราวเพื่อนสนิท แต่ในความใกล้ชิดนั้นเองก็แอบมีมุมซึ้งให้เราได้สัมผัสเช่นกัน


โดยสาวมิลค์กี้ที่เป็นห่วงเป็นใยในสุขภาพร่างกายคุณแม่สุดที่รัก จึงได้มีคำถามน่ารู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพกระดูกเพื่อช่วยดูแลคุณแม่ได้อย่างถูกต้องมาสอบถามแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน อย่าง “นายแพทย์สุทร บวรรัตนเวช” ผู้อำนวยการใหญ่ ศูนย์อุบัติเหตุและออร์โธปิดิกส์ ในเครือบริษัท และ ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์กระดูกและข้อกรุงเทพ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)

Q : โรคกระดูกและข้อที่มักพบในคนไทยคืออะไรคะ
A : ปัญหากระดูกและข้อที่พบมากในเมืองไทย แบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ 1. เรื่องของอุบัติเหตุ โดยประเทศไทยมีตัวเลขอุบัติเหตุบนถนนสูงติดอันดับโลก ซึ่งผู้ประสบเหตุมีทั้งเสียชีวิต และบาดเจ็บตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงสาหัส และอาการส่วนใหญ่ที่พบคือการแตกหักของกระดูก 2.เกิดจากการเล่นกีฬา ไม่ว่าจะเป็นจากการปะทะ หรือการผิดท่วงท่า หรือการออกแรงที่หนักหน่วงเกินไป และ ข้อ 3 ข้อสุดท้ายที่นับเป็นปัญหาใหญ่คือโรคกระดูกพรุน

Q : โรคกระดูกพรุนมักจะเกิดขึ้นกับใครและพบมากในวัยไหนคะ
A : โรคกระดูกพรุนมักเกิดในผู้สูงอายุ ซึ่งจากการเก็บสถิติในหลายปีที่ผ่านมาเราจะเห็นแนวโน้มของผู้สูงอายุมีปัญหาเรื่องกระดูกเปอร์เซ็นต์มากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากอายุเฉลี่ยของคนไทยขยับสูงขึ้น คือคนเราอายุยืนขึ้น แต่กระดูกคนเราไม่ได้สร้างมาให้มีความคงทนถาวร มีความพรุนมากขึ้นไปตามอายุ ทำให้ปัญหากระดูกในผู้สูงอายุเป็นตัวเลขที่เพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

Q : เพศชายกับเพศหญิง มีปัญหาเรื่องโรคกระดูกพรุนแตกต่างกันไหมคะ
A : เรื่องปัจจัยเสี่ยงหลักๆ ก็ขึ้นอยู่กับไลฟสไตล์ การใช้ชีวิตของแต่ละคน แต่ที่ต่างกันน่าจะเป็นช่วงวัยที่เริ่มพบปัญหา ซึ่งสำหรับอายุขัยโดยเฉลี่ยของคนไทยแล้ว ผู้ชายอายุสั้นกว่าผู้หญิง คือ ผู้ชายจะประมาณ 73 ปี ในขณะที่ผู้หญิงจะอยู่ที่ 78 ปี แต่ในเรื่องของกระดูกแล้วผู้หญิงจะประสบปัญหาก่อน คือจะเริ่มมีภาวะกระดูกพรุนตอนวัยฮอร์โมนหมด และจะมีปัญหาตอนประมาณ 60-65 ปี ส่วนผู้ชายจะเกิดช้ากว่าคือประมาณ 70-75 ปี

Q : เรื่องปัญหากระดูกพรุน กระดูกบาง สังเกตได้อย่างไรบ้างคะ
A : หมอแนะนำให้ควรมาตรวจที่โรงพยาบาล เพราะโรคกระดูกพรุนจะสังเกตได้ยาก เพราะไม่มีอะไรจะบ่งบอกให้เรารู้ได้ว่ากระดูกเราบางไปขนาดไหนแล้ว ส่วนใหญ่คนจะรู้ก็ต่อเมื่อกระดูกหักแล้วดังนั้นควรทำการตรวจเช็กก่อนเกิดปัญหา ยิ่งถ้าใครมี Risk Factor ในการเกิดปัญหาโรคกระดูก ยิ่งควรตรวจ ให้ลองสังเกตว่าคนในครอบครัว บรรพบุรุษ ถ้ามีคนหลังค่อมมากๆ หรือคนตัวผอม ตัวเล็กๆ ความเสี่ยงในเรื่องนี้จะสูงกว่าคนทั่วไป อย่างบางคนที่มีคนทักว่าเตี้ยลง ก็ควรจะเริ่มตรวจดูความผิดปกติแล้ว เพราะบางครั้งการที่เตี้ยลง อาจเกิดจากกระดูกสันหลังที่มันบางลง มันก็จะเริ่มยุบตัว ยุบมาทีละเล็กที่ละนิด พอสะสมกันเข้าอาจจะหายไปเป็นเซนติเมตรได้นะครับ

Q : วิธีการป้องกันไม่ให้เกิดโรคกระดูก
A : ต้องดูแลร่างกาย การระมัดระวังทั้งในเรื่องพฤติกรรม สภาพแวดล้อมด้วย ยิ่งถ้าเคยประสบปัญหามาแล้ว ต้องค้นหาสาเหตุเพื่อป้องการเกิดอีกครั้ง อย่างโรคกระดูกพรุนในผู้สูงวัย ที่มักเกิดการกระดูกหัก ต้องดูสภาพความเป็นอยู่ด้วยว่าเสี่ยงต่อการเปิดปัญหาหรือไม่อย่างพื้นบ้านที่ลื่น พื้นห้องน้ำที่เปียก ต้องมีการระมัดระวังสิ่งเหล่านี้ พร้อมแนะนำท่วงท่าในการยืน การเดิน การก้มหยิบข้าวของอย่างถูกสุขลักษณะ เพื่อทำการลดความเสี่ยงในการเกิดการกระดูกหักขึ้น

Q : สุดท้ายนี้ คุณหมอช่วยแนะนำวิธีดูแลสุขภาพกระดูกของคุณแม่ให้มิลค์กี้หน่อยได้ไหมคะ
A : วิธีการดูแลสุขภาพกระดูกสำหรับสุภาพสตรี อย่างที่บอกคือผู้หญิงจะมีอาการของโรคกระดูกพรุนได้เร็วกว่า คือประมาณวัยหมดฮอร์โมน โดยสักประมาณ 55 – 60 ปีก็ควรทำการตรวจกระดูกแล้ว หรือถ้าในรายที่เคยผ่านการตัดรังไข่ ซึ่งส่งผลให้ฮอร์โมนเพศหญิงลดลง ก็มีโอากาสในการเกิดที่เร็วขึ้นไปอีก ดังนั้นอายุสักประมาณ 50 ปี ก็ควรเริ่มได้รับการตรวจได้แล้ว และก็ต้องคอยดูแลสุขภาพคุณแม่ให้ดี ควรจัดให้ท่านรับประทานแคลเซียมในปริมาณที่พอเพียงเพื่อช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับกระดูกด้วย