Celeb Online

เทคโนโลยีล่าสุดในการรักษาโรคมะเร็ง ​


>>เทคโนโลยีทางการแพทย์มีการพัฒนาการขึ้นตามลำดับ การรักษา “โรคมะเร็ง” ก็เช่นกัน ที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ขึ้นมา เพื่อให้การบำบัดรักษามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดียิ่งขึ้น

นายแพทย์ ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวัฒโนสถ โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ ในโรงพยาบาลกลุ่มบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS เปิดเผยว่า ปัจจุบันการรักษาโรคมะเร็งยังคงใช้การรักษาที่เรียกว่า “สามเสาหลัก” คือ การผ่าตัด การฉายแสงรักษา และเคมีบำบัด โดยจะมีการระดมทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการวางแผนการรักษาว่าจะดำเนินการอย่างไรก่อนหลัง โดยหลักเกณฑ์ในการพิจารณาการรักษาจะคำนึงผ่าน 3 ปัจจัย คือ 1.ระยะของมะเร็ง ว่าเป็นมะเร็งระยะใด เช่น หากเป็นมะเร็งระยะเริ่มต้น อาจพิจารณาเลือกวิธีการผ่าตัด 2.ตัวคนไข้เอง เช่น อายุ โรคประจำตัวต่างๆ ที่อาจส่งผลต่อการรักษา ยกตัวอย่าง แม้จะเป็นมะเร็งระยะเริ่มต้น แต่ผู้ป่วยอายุ 90 กว่าปี มีโรคหัวใจ การผ่าตัดผู้ป่วยอาจรับไม่ไหวก็ได้ เป็นต้น และ 3.แพทย์ผู้รักษา ต้องเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรคมะเร็ง และทำงานกันเป็นทีม

สำหรับแนวโน้มของเทคโนโลยีการรักษาโรคมะเร็งในอนาคต นายแพทย์ ธีรวุฒิ ระบุว่า จะพัฒนาไปสู่การรักษาที่ผู้ป่วยเจ็บตัวน้อยลง และเป็นการแพทย์แบบแม่นยำ (Precision Medicine) มากขึ้น ซึ่งจะมีการลงลึกถึงในระดับยีน รวมถึงการพัฒนาการรักษา “สามเสาหลัก” ดังนี้

1.การผ่าตัดรักษา ก็จะพัฒนาไปสู่การมีผลกับคนไข้น้อยที่สุด เช่น ใช้การกล้องส่องผ่าตัด เพื่อให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กลง ผู้ป่วยเจ็บตัวน้อยลง หรือหันมาใช้หุ่นยนต์มากขึ้น ในกรณีที่เป็นบริเวณผ่าตัดที่เข้าไปได้ยาก ให้มีความแม่นยำยิ่งขึ้น ช่วยให้อนุรักษ์อวัยวะได้มากขึ้น

2.การฉายแสงหรือรังสีรักษา ก็จะมีความเจาะจงมากยิ่งขึ้น แม่นยำมากยิ่งขึ้น โดยการฉายลำแสงเฉพาะส่วน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับเนื้อเยื่อหรือเซลล์ดีอื่นๆ ยกตัวอย่าง เมื่อก่อนมะเร็งตับไม่สามารถฉายรังสีรักษาได้ เพราะรังสีจะกระทบกับเนื้อตับ ทำให้ตับพังเสียหายได้ แต่ปัจจุบันฉายแสงเฉพาะที่ได้ (SBRT) ถือเป็นความแม่นยำที่เพิ่มมากขึ้น

3.ยารักษาหรือเคมีบำบัด ก็มีการพัฒนาให้ออกฤทธิ์ไปสู่เซลล์มะเร็งมากขึ้น และกำลังก้าวไปสู่การใช้ “ภูมิคุ้มกัน” ในการรักษา หรือ อิมมูโนเทอราปี (Immunotherapy) เนื่องจากมีการค้นพบว่า มะเร็งเกิดจากตัวมนุษย์ แต่ตัวมนุษย์ไม่สามารถกำจัดมันได้ คือไม่สามารถใช้ภูมิคุ้มกันกำจัดเซลล์มะเร็งออกไปได้ตามปกติ ดังนั้นจึงมีการศึกษาเพิ่มเติมไปถึงระดับยีนว่าเป็นอย่างไร และปัจจุบันจึงได้สามารถผลิตยามาปลดล็อกตรงนี้ เพื่อให้ภูมิคุ้มกันทำงาน หรือเรียกว่าให้ยาแล้วทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวในร่างกายไปจัดการเซลล์มะเร็งนั่นเอง