>>ในประเทศไทยพบว่ามีผู้ป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นราว 5 % ทุกปี โดยมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งเฉลี่ยปีละ 8 หมื่นคน และพบคนไข้รายใหม่ประมาณ 1.5 แสนคนต่อปี ในขณะที่ระดับโลกพบการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งมากถึงปีละ 8 ล้านคน และแนวโน้มการเสียชีวิตก็มากขึ้นเป็น 17 ล้านคนในปี 2573 โดยเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน แนวโน้มก็สูงขึ้นเช่นกัน
นายแพทย์ ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวัฒโนสถ โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ ในโรงพยาบาลกลุ่มบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS ระบุว่า
“จากสถิติคนไทยถ้ามีชีวิตอยู่ถึง 75 ปี จะพบผู้ป่วยโรคมะเร็งทุก 1 ใน 7 คน และเสียชีวิตอยู่ที่ 1 ใน 10 คน ถือว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวอย่างมาก หากแบ่งตามเพศ จะยิ่งใกล้ตัวกว่า โดยเพศชายพบว่า ทุก 1 ใน 6 คนจะป่วยด้วยโรคมะเร็งโอกาส เสียชีวิตในอัตรา 1 ใน 8 คน ส่วนเพศหญิง พบว่า 1 ใน 8 จะป่วยเป็นโรคมะเร็ง และเสียชีวิตที่ 1 ใน 12 คน โดยทั้งในผู้ชายและผู้หญิง โรคมะเร็งที่พบมากที่สุด คือ มะเร็งตับ, มะเร็งปอด, มะเร็งเต้านม, มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งลำไส้ใหญ่ทวารหนัก แต่ถ้าถามถึงโรคมะเร็งที่น่าเป็นห่วงที่สุด ต้องดูที่อัตราของผู้ที่เป็นแล้วมีจำนวนการเสียชีวิตมากที่สุด คือ มะเร็งตับ ที่สูงถึง 92-95% ส่วนมะเร็งปอด 80-90% มะเร็งปากมดลูก 60% มะเร็งลำไส้อยู่ที่ 50-60% ส่วนมะเร็งเต้านมอยู่ที่ 30-35% นั่นหมายถึงว่า มะเร็งเต้านมอาจพบอัตราการเกิดสูง แต่มีการรักษาอยู่ในระดับดี มีโอกาสหายขาดได้มาก”