ในวันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี องค์การอนามัยโลก หรือ World Health Organization (WHO) กำหนดให้เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก หรือ World No Tobacco Day สำหรับในปี พ.ศ. 2561 องค์การอนามัยโลกกำหนดประเด็นรณรงค์ว่า “Tobacco and Heart Disease” และกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดคำขวัญภาษาไทยว่า “รักษ์หัวใจ ห่างไกลบุหรี่”
“รู้นะแต่มันทำไม่ได้” นี่คงเป็นเหตุผลหลักของการสูบบุหรี่ ทั้งที่ทราบถึงภัยร้ายที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของตัวเองและคนรอบข้าง โดยเฉพาะ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เป็นต้น หลายคนอาจคิดและพยายามที่จะเลิก และสรรหาวิธีต่างๆ มาใช้ เช่น เลิกซื้อ…แต่ก็ยังขอเพื่อน เลิกสูบในบ้านแต่ออกมาสูบนอกบ้านแทน เป็นต้น
นพ.ประธาน วาทีสาธกกิจ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด ศูนย์โรคปอดและโรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ให้ข้อมูลว่า การเดินทางของสารนิโคตินจากบุหรี่จะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดแล้วผ่านไปยังสมองอย่างรวดเร็วภายใน 6 วินาที บุหรี่จึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการคลายเครียด เพราะผู้สูบจะรู้สึกผ่อนคลายทันทีที่สูบ แต่นั่นเป็นเพียงระยะสั้น เมื่อระดับนิโคตินลดลงอารมณ์ที่เคยดี ผ่อนคลายก็จะหายไปด้วย จึงต้องสูบอีกเรื่อยๆ เพื่อความสบายใจจนกลายเป็นการเสพติดในที่สุด
หากมองเห็นจุดจบของการสูบบุหรี่อยู่ข้างหน้าแล้วไม่อยากเสี่ยง สามารถเลี่ยงได้ง่ายๆ เพียงแค่เลิกแล้วหันมาดูแลตัวเอง ซึ่งวิธีเลิกบุหรี่ทำได้ดังนี้
– หักดิบหรือเลิกด้วยตัวเอง โดยการหยุดสูบทันที วิธีนี้อาจจะง่ายที่สุด แต่พบว่าร้อยละ 90 ของผู้ที่พยายามเลิกบุหรี่ด้วยตัวเองไม่ประสบความสำเร็จ เพราะมักจะเกิดอาการขาดนิโคตินจนต้องกลับไปสูบอีกในเวลาเพียง 1 สัปดาห์
– พฤติกรรมบำบัด เป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เคยชิน หลีกเลี่ยงอารมณ์ที่ทำให้เกิดความอยากสูบ โดยใช้วิธีเสริมสร้างแรงจูงใจภายในเพื่อการเลิกบุหรี่ และอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์และพยาบาล
– ใช้ยาช่วยเลิกบุหรี่ ซึ่งมีอยู่ 2 กลุ่ม คือ ยาที่มีสารนิโคตินทดแทนในขนาดต่ำ ในรูปแบบของหมากฝรั่งอดบุหรี่ หรือแผ่นแปะผิวหนังนิโคติน และยาชนิดเม็ดที่ไม่มีนิโคตินสำหรับช่วยลดอาการถอนยาเนื่องจากขาดนิโคติน
– การฝังเข็ม เพื่อช่วยลดอาการอยากสูบบุหรี่และคลายความหงุดหงิด