Celeb Online

“โครงการรามาธิบดีเพื่อโรงพยาบาลชุมชน” สร้างสุข แห่งสาธารณะ


“ตอนเป็นแพทย์ฝึกหัด ตกใจมากที่เห็นรองเท้าหลายร้อยคู่วางเรียงเป็นแถวยาวอยู่หน้าห้องรับบัตรคิว พอสังเกต จึงพบว่าคนไข้หรือญาติคนไข้เอามาวางไว้ตั้งแต่ตี 4 ตี 5 เพื่อใช้แทนการต่อคิวรอพบแพทย์ บางคนมารอจองคิวตั้งแต่เที่ยงคืนก็มี และนั่งเฝ้าคิวรองเท้าของตัวเองอยู่ห่างๆ เป็นเช่นนี้ทุกวัน” เรื่องเล่า รองเท้าเข้าคิว ของ นพ.อภิสิทธิ์ ธำรงวรางกูร อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุบลรัตน์ หนึ่งในโรงพยาบาลชุมชนจากโครงการรามาธิบดีเพื่อโรงพยาบาลชุมชน ดูท่าจะเป็นคำกล่าวที่อธิบายถึงหนึ่งในปัญหาใหญ่ของสาธารณสุขไทย อย่าง ความแออัดภายในโรงพยาบาลรัฐ ได้อย่างเห็นภาพ


คนไข้ล้นโรงพยาบาล ปัญหาสะสมที่กลายเป็นภาพคุ้นชิน ไม่เพียงส่งผลให้ผู้ป่วยจำนวนมากต้องเผชิญกับความยากลำบากในการเข้าถึงการรักษา หากแต่ความขาดแคลนด้านเครื่องมือแพทย์ที่มีประสิทธิภาพและบุคลากรทางการแพทย์ ก็เป็นอีกความท้าทายที่บั่นทอนกำลังกายและพลังใจของผู้ประกอบอาชีพด้านสาธารณสุข ที่หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบโดยเร่งด่วน จะส่งผลให้เกิด สาธารณ(ะ)ทุกข์ กระทบต่อคุณภาพชีวิตและสังคมในวงกว้างอย่างที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ตระหนักดีว่า โรงพยาบาลชุมชน ที่กระจายอยู่ในท้องถิ่นทั่วประเทศ มีความใกล้ชิดและรับรู้ถึงปัญหาของคนในพื้นที่อย่างแท้จริง ทั้งยังเป็นสถานพยาบาลระดับฐานรากอันเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่จะช่วยเหลือชุมชนและประชาชนอย่างได้ผล จึงได้จัดตั้ง “โครงการรามาธิบดีเพื่อโรงพยาบาลชุมชน” โดยมี มูลนิธิรามาธิบดี ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางระดมทุนจากผู้มีจิตศรัทธาและนำไปจัดสรร เพื่อสนับสนุนการทำงานของโรงพยาบาลชุมชนในการทำหน้าที่เป็นฟันเฟืองที่เข้มแข็งและช่วยเหลือให้ชุมชนพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน


ความช่วยเหลือจากโรงพยาบาลเมืองหลวง สู่การสร้าง 4 โรงพยาบาลชุมชนต้นแบบ

ในพื้นที่ห่างไกล ‘โรงพยาบาล’ ไม่ได้เป็นเพียงสถานรักษาพยาบาล กลุ่มผู้ป่วยที่อยู่ในการดูแลของโรงพยาบาลชุมชน ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ และผู้สูงอายุที่พึ่งพาตนเองไม่ได้ ครอบครัวและชุมชนจึงจำเป็นต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ทำให้โรงพยาบาลชุมชน ยังเปรียบได้กับ ‘ที่พึ่ง’ ทางจิตใจและสังคมไปพร้อมๆกัน และแน่นอนว่า หากคนไทยทุกคนสามารถพึ่งพาโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิหรือสถานพยาบาลใกล้บ้านได้ ปัญหาความแออัดและระยะเวลาการรอคอยในโรงพยาบาลจะสามารถทุเลาเบาบางลงไปได้อีกมาก


“เราเชื่อมั่นในศักยภาพของโรงพยาบาลชุมชนในการขับเคลื่อนและพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องชาวไทย โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาส จึงได้จัดตั้ง ‘โครงการรามาธิบดีเพื่อโรงพยาบาลชุมชน’ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและความคล่องตัวให้แก่โรงพยาบาลชุมชน ด้วยการสนับสนุนทางด้านงบประมาณ การผลิตบุคลากรการแพทย์ที่มีคุณภาพการสร้างอาคารสถานที่ ตลอดจนองค์ความรู้ และเครื่องมือในการถ่ายทอดความรู้ที่จำเป็นให้แก่แต่ละชุมชน โดยก่อตั้งขึ้นร่วมกับโรงพยาบาลชุมชนต้นแบบ 4 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย จ.เลย โรงพยาบาลน้ำพอง และโรงพยาบาลอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ถือเป็นการกระจายและส่งต่อความช่วยเหลือจากโรงพยาบาลแพทย์ของแผ่นดิน สู่โรงพยาบาลชุมชนในพื้นที่ห่างไกล ให้เกิดการบูรณาการด้านการบริการและบริหารจัดการ เพื่อพัฒนาสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชากรในระดับพื้นที่และท้องถิ่นต่อไป” ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าว


ผลผลิตเมล็ดพันธุ์แห่งการให้… สร้างสาธารณ(ะ)สุข ในพื้นที่ห่างไกล

ปัจจุบัน ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ราวร้อยละ 18 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความเสมอภาคในการเข้าถึงบริการทางสุขภาพของคนไทยทุกคน รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งกำลังสำคัญในการเตรียมความพร้อมทางการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศเพื่อรองรับ ‘สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว’ ที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นเกือบร้อยละ 27 ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า[1] โครงการรามาธิบดีเพื่อโรงพยาบาลชุมชน จึงได้บรรจุอีกหนึ่งแผนงานสำคัญ เพื่อการสร้างนักบริบาลชุมชนเต็มเวลาให้แก่โรงพยาบาลชุมชนต้นแบบ ทั้ง 4 แห่ง และโรงพยาบาลที่สนใจอีก 19 แห่ง เพื่อเสริมสร้างการมีสุขภาวะที่ดีในสังคม


นักบริบาลชุมชน จากจิตอาสาในชุมชนสู่ผู้ช่วยบุคลากรการแพทย์ ทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วย ผู้พิการถึงบ้าน รวมถึงช่วยแบ่งเบาภาระของครอบครัวผู้ป่วยให้ได้มีเวลาประกอบอาชีพ หรือทำกิจธุระจำเป็น ซึ่งการพัฒนาศักยภาพและทักษะนักบริบาลชุมชนภายใต้การกำกับดูแลของบุคลากรวิชาชีพด้านสุขภาพนี้ จะสามารถช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านบริการสุขภาพเบื้องต้น ทำให้ผู้สูงอายุในชุมชนจะได้รับการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกัน รักษาและฟื้นฟูทั้งสุขภาพร่างกาย จิตใจและคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่อย่างทั่วถึง

นางสาวพรรณสิรี คุณากรไพบูลย์ศิริ ผู้จัดการมูลนิธิรามาธิบดีฯ ในฐานะอีกหนึ่งแรงกำลังสำคัญในการช่วยระดมทุน กล่าวปิดท้ายว่า “ทุกการให้มีความหมายการกระจายความช่วยเหลือไปยังโรงพยาบาลชุมชนและช่วยผู้คนในพื้นที่ห่างไกลครั้งนี้ เปรียบได้กับการหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งการให้ ที่ไม่เพียงจะช่วยยกระดับระบบสุขภาพและสร้างรากฐานสาธารณสุขไทยให้มีความแข็งแรงอย่างยั่งยืน แต่ยังจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางด้านสุขภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยทุกคน ‘โครงการรามาธิบดีเพื่อโรงพยาบาลชุมชน’ นับเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่เป็นก้าวสำคัญ จากหนึ่งเป็นร้อย จากร้อยเป็นพัน ที่จะสามารถรวมกันเป็นอีกพลังที่ยิ่งใหญ่ สนับสนุนการทำงานของทีมแพทย์และบุคลากรทางสาธารณสุขในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับสังคม ชุมชน และประเทศได้ ดังปณิธานที่ว่า คำว่าให้… ไม่สิ้นสุด”


คุณเอง… ก็สามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยโรงพยาบาลชุมชน ช่วยคนด้อยโอกาสที่อยู่ห่างไกลให้มีสุขภาพที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี และพึ่งพาตนเองได้ ร่วมบริจาคได้ที่ชื่อบัญชี มูลนิธิรามาธิบดี “โครงการรามาธิบดีเพื่อโรงพยาบาลชุมชน”