หากถามว่าฤดูอะไรที่ควรดูแลบุตรหลานเป็นพิเศษให้ปลอดภัยจากโรคภัยต่างๆ คงมีหลายเสียงตอบว่า “ฤดูฝน” เนื่องจากอากาศในฤดูฝนเหมาะกับการเจริญเติบโตและแพร่กระจายของเชื้อไวรัสและแบคทีเรียหลายชนิด โดยเฉพาะในเด็กเนื่องจากเด็กยังไม่มีภูมิคุ้มกันอย่างเต็มที่เท่ากับผู้ใหญ่ และอาจไม่สามารถบอกเล่าถึงอาการต่างๆของตนให้ทราบได้อย่างชัดเจน พ่อแม่และผู้ปกครองควรมีความรู้เบื้องต้นในเรื่องอาการของโรคระบาดต่างๆ เพื่อสังเกตบุตรหลานที่มีแนวโน้มจะป่วยเป็นโรคนั้นๆ “โครงการวัคซีนพ่อแม่” โดยบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว จึงได้เข้าไปให้ความรู้เกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ และ โรคมือเท้าปาก ซึ่งเป็นสามโรคอันดับต้นๆ ที่อันตรายในเด็กและควรระมัดระวังเป็นพิเศษโดยเฉพาะช่วงฤดูฝน ณ เทศบาลแกลงกะเฉด จังหวัดระยอง เพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองและคุณครูจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เข้าใจอาการและรู้วิธีดูแลเบื้องต้นได้อย่างถูกต้อง ก่อนพาเด็กที่มีอาการเข้ารับการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง
วิทยากรโดยทีมพยาบาลจากศูนย์กุมารเวชโรงพยาบาลกรุงเทพระยอง
1.โรคไข้เลือดออก
มียุงลายเป็นพาหะนำโรค จึงไม่สามารถติดต่อจากคนสู่คนโดยตรงได้ แต่หากไม่มีการกำจัดยุงลายซึ่งเป็นพาหะในบ้านเรือนหรือชุมชนอาจเสี่ยงต่อการป่วยที่อาจจะเกิดขึ้นโดยรอบได้ การวินิจฉัยโรคไข้เลือดออกเบื้องต้นในระยะสามวัน สามารถวัดไข้ร่วมกับการตรวจคัดกรองได้ โรคไข้เลือดออกสามารถส่งผลร้ายแรงมากกว่าแค่อาการตุ่มแดงและคัน กล่าวคือ ในเด็กบางรายอาจมีการอาเจียนอย่างรุนแรง เลือดออกจากเยื่อบุ มีอาการซึม หายใจลำบาก และปัสสาวะลดลง ซึ่งหากมีการติดเชื้ออย่างรุนแรงสามารถเกิดการช็อค รวมถึงการทำงานของอวัยวะล้มเหลวและเสียชีวิตได้ในที่สุด หากไม่สามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที
2.โรคไข้หวัดใหญ่
ไข้หวัดใหญ่ถือว่าเป็นอีกหนึ่งโรคที่ติดต่อได้ง่ายผ่านการสัมผัสละอองสารคัดหลั่งเข้า ตา ปาก หรือจมูก โดยมักพบทั้งปี ระบาดได้ง่ายในช่วงฤดูหนาวและฤดูฝน อาการป่วยจะเริ่มหลังรับเชื้อ 1-4 วัน โดยเฉลี่ยแล้วภายในวันที่สองจะเริ่มสามารถสังเกตอาการได้ เด็กที่เป็นโรคไข้หวัดใหญ่ มักมีไข้สูงอุณหภูมิเกินกว่า 39-40 องศาเซลเซียสติดต่อกัน 3-4 วัน อาจมีอาการหนาวสั่น และหัวใจเต้นเร็วร่วมด้วยในขณะที่ไข้หวัดธรรมดาอาจมีไข้แต่ไม่สูงมากนัก สิ่งสำคัญที่ช่วยแยกระหว่างอาการไข้หวัดธรรมดาและไข้หวัดใหญ่คือ เด็กที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ มักมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย และเบื่ออาหารร่วมด้วย ในบางรายอาจต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาล เนื่องจากมีอาการแทรกซ้อน อาทิ หูชั้นกลางอักเสบ ไซนัสอักเสบ ไข้ชัก กล่องเสียงอักเสบ หลอดลมอักเสบ หรือปอดอักเสบจากแบคทีเรีย เป็นต้น
การดูแลเด็กที่ป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ ส่วนมากสามารถพักที่บ้านและรักษาตามอาการได้ เช่น ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเมื่อมีไข้ พร้อมรับประทานยาลดไข้ หลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่มแอสไพริน หรือถ้ามีน้ำมูกให้ใช้ยาลดน้ำมูกและยาละลายเสมหะ ดื่มน้ำให้เพียงพอ รับประทานอาหารอ่อนๆ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 3 วัน เช่น ไข้สูงมากจนเพ้อ ซึม หายใจหอบ หายใจลำบาก เจ็บแน่นหน้าอก หน้ามืด มีอาการขาดน้ำและดื่มน้ำไม่เพียงพอ ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้
สำหรับคำแนะนำเพื่อป้องกันไข้หวัดใหญ่มีดังนี้
1.ฝึกให้เด็ก ล้างมือบ่อยๆอย่างถูกวิธี
2.แยกภาชนะส่วนตัว ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อนอาหาร เป็นต้น
3.แยกผู้ป่วยที่มีอาการป่วยออกจากเด็กหรือหากจำเป็น ควรสวมหน้ากากอนามัย
4.รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ฝึกการใช้ช้อนกลาง และให้ดื่มน้ำสะอาดเสมอ
5.หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัดและอากาศถ่ายเทไม่สะดวก
6.สามารถฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ในเด็กอายุ 6 เดือนถึง 19 ปี เพิ่มเติมจากตารางฉีดวัคซีนตามปกติ
3.โรคมือเท้าปาก
เป็นโรคติดต่อที่พ่อแม่และผู้ปกครองกังวลใจอย่างมาก เนื่องจากสามารถติดต่อกันได้ในเด็ก และหากโรงเรียนมีเด็กหลายคนที่ป่วยด้วยโรคนี้ อาจจำเป็นต้องหยุดการเรียน และทำความสะอาดโรงเรียน รวมถึงสนามเด็กเล่น เพื่อป้องกันการติดต่อผ่านเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคมือ เท้า ปาก โดยมักเริ่มต้นอาการป่วยด้วยการมีไข้ และจุดสังเกตที่เห็นได้ชัดคือการมีแผลในปาก สามารถพบได้หลายตำแหน่ง ตั้งแต่บริเวณเพดานปาก กระพุ้งแก้ม หรือลิ้น นอกจากนี้ จะมีผื่นขึ้นตามมือและเท้า ในบางกรณีที่มีแผลเยอะอาจทำให้มีอาการเจ็บปวด และรับประทานอาหารไม่ค่อยได้ จึงควรได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด
โรคมือเท้าปากสามารถรักษาตามอาการ เช่น หากมีไข้ สามารถกินยาลดไข้ หากมีอาการคัน สามารถกินยาแก้แพ้ แก้คันได้ โดยโรคมือเท้าปากยังไม่มีวัคซีนป้องกันเฉพาะ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือหยุดการแพร่กระจายของเชื้อ หากบุตรหลานของท่านมีแนวโน้มว่าจะเป็นโรคมือ เท้า ปาก ควรให้เด็กหยุดเรียน เพื่อป้องกันการเกิดโรคติดต่อในโรงเรียน นอกจากนั้น เน้นรับประทานอาหารที่ปรุงสุก สะอาด ใช้ช้อนกลางทุกครั้งเพื่อลดการแพร่เชื้อ รวมถึงล้างมือให้สะอาด โดยมีสูตรจำง่ายๆ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ”
วิธีการล้างมือที่ถูกต้อง
จะเห็นได้ว่าอาการเจ็บไข้ได้ป่วยในเด็ก เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ดังนั้น การสังเกตอาการบุตรหลานได้ในเบื้องต้น จะสามารถช่วยส่งเข้ารับการรักษาและบรรเทาอาการได้โดยเร็ว นอกจากนี้ ควรรักษาสุขอนามัยของเด็กๆ และของตนเอง รวมถึงปลูกฝังพฤติกรรมการล้างมืออย่างถูกวิธีสม่ำเสมอ *ซึ่งการล้างมือสามารถช่วยลดการระบาดของโรคติดต่อในเด็กได้จริง*