สำหรับคู่รักที่ไม่เคยอาศัยอยู่ร่วมกันมาก่อน แต่ในช่วงการะบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 ทางเลือกของคุณคือ ถ้าไม่ย้ายมาอาศัยอยู่ด้วยกันตลอด 24 ชั่วโมง ก็อาจจะไม่ได้เจอหน้ากันแบบตัวเป็นๆ เลยสักเดือน-สองเดือน — โหย… เอาไงดีล่ะทีนี้
และถ้าคุณตกลงปลงใจ เก็บเสื้อผ้ายัดใส่กระเป๋า ย้ายเข้ามาอยู่ร่วมกัน ณ บ้านใครบ้านหนึ่ง ได้ซ้อมใช้ชีวิตคู่อยู่ก่อนแต่งกันจริงๆ ล่ะคราวนี้ เรามีเคล็ดลับทำให้มันเวิร์กมาฝาก…
การที่คนรักย้ายมาอยู่ด้วยกัน มีเรื่องให้ต้องปรับตัวมากมาย ไม่เพียงต้องทำตัวให้ชินกับอีกฝ่าย ไม่ว่าจะเรื่องกิจวัตรประจำวัน หรือนิสัยส่วนตัวที่ไม่เคยรู้และอาจทำให้อีกฝ่ายรู้สึกหงุดหงิดได้ แถมยังต้องแบ่งปันงานบ้านกันทำอีกต่างหาก มีรายละเอียดมากมายที่ต้องคำนึงถึง ดังนั้นเราเลยมี เคล็ดลับการย้ายเข้ามากักตัวแบบคนคู่กันมาฝาก
สเต็ปแรก – เอาที่สบายใจ (ทั้งสองฝ่าย)
จากรายงานตัวเลขผู้ป่วยโควิด-19 ประจำวัน จะพบว่าผู้ที่ติดเชื้อรายใหม่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นกลุ่มคนใกล้ชิด ซึ่งการจะย้ายเข้ามากักตัวอยู่ด้วยกันอย่าเพิ่งสนแค่ความรักกันหวานชื่น เพราะช่วงนี้มีเรื่องของสุขภาพให้ใส่ใจมากกว่า อย่าลืมปกป้องตัวเองให้ห่างไกลจากเชื้อโรค เพื่อที่จะไม่นำมาติดคนข้างกายเรา ด้วยการไม่ไปในที่ชุมชน สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อออกจากบ้าน และล้างมือบ่อยๆ
คุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกัน บอกว่า การจะจูบกับคนรักที่กักตัวอยู่ด้วยกันนั้นทำได้ถ้าไม่มีใครป่วย “เช่นเดียวกับการมีเซ็กซ์ที่อาศัยหลักการเดียวกัน”
สิ่งสำคัญที่สุดคือ การเปิดใจพูดคุยอย่างตรงไปตรงมา ถึงความคาดหวังและความต้องการของทั้งคู่เพื่อที่จะ “เข้าใจตรงกัน” ในการอยู่ร่วมบ้าน ร่วมเตียง
สเต็ป 2 – สร้างหลักปฏิบัติแบบหลวมๆ
จะคบหากันมานานขนาดไหน คนสองคนย่อมมีความต้องการที่แตกต่าง เมื่อจะย้ายมาอยู่ร่วมกัน ลองตั้งโปรแกรมชีวิตแบบคร่าวๆ เอาไว้ให้เห็นภาพไลฟสไตล์ประจำวันของกันและกัน
แฟนของเราชอบกินอาหารเช้าเวลาไหน การทำงานที่บ้านต้องมีงานส่งเร่งด่วนหรือไม่ หรืออาจจะมีประชุมทางไกลที่ต้องเข้าร่วมเวลาไหน ช่วงเวลาไหนพอว่างที่จะทำกิจกรรมร่วมกันได้บ้าง เช่นกินข้าว หรือออกกำลังกายเบาๆ ถ่ายติ๊กต่อกเล่นแล้วแชร์โพสต์ลงไปจะโดนนายของแฟนว่าหรือไม่? ฯลฯ
ฟังดูอาจจะไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่ก็สำคัญนะ เกิดคุณแฟนมีวิดีโอคอลล์กับออฟฟิศ แล้วเราเดินทะเล่อทะล่ามาในชุดชั้นในก็จะโป๊ะแตกน่ะสิ
สเต็ป 3 – ถกเรื่องความคาดหวัง
การอยู่ด้วยกันคือการมาเรียนรู้การใช้ชีวิตของแต่ละฝ่าย ก่อนหน้านี้คุณอาจจะเรียนรู้พฤติกรรมแย่ๆ ของเขามาบ้าง แต่ก็ไม่สู้การมาอยู่ด้วยกันตลอด 24 ชั่วโมงอย่างแน่นอน ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์แนะนำว่า ทางที่ดีควรจะคุยกันเรื่องความคาดหวังที่เรามีในการอยู่ร่วมกันไว้เสียตั้งแต่เนิ่นๆ อะไรที่คุณรับได้หรือรับไม่ได้ กิจวัตรประจำวันที่อาจจะแปลกประหลาดกว่าคนปกติธรรมดา อย่างเช่น ต้องทำงานเวลากลางคืนถึงจะลื่นไหล จึงต้องนอนในเวลากลางวัน
เราจะกินข้าวเช้า-กลางวัน-เย็น ด้วยกันมั้ย เวลานอนของคุณเป็นเวลากี่โมง ติดซีรีส์เกาหลี จีน ฝรั่งเรื่องไหน? — ถ้าตกลงกันแต่แรกจะได้ไม่ต้องมางง ปรับตัวเข้าหากันได้ง่าย สามารถใช้เวลาอยู่ร่วมกันได้อย่างมีคุณภาพ
สเต็ป 4 – รักษาระยะห่าง
ต่อเนื่องจากสเต็ปก่อน หลังจากคุยถึงเรื่อความคาดหวัง เริ่มรู้จักกันและกันมากขึ้น หาจุดตรงกลางที่จะอาศัยใช้เวลาร่วมกันแล้ว ก็ต้องหาเวลาที่แต่ละคนจะได้อยู่กับตัวเองด้วย ต่อให้รักกันปานจะกลืนเพียงไรก็ต้องไม่ลืมพื้นที่ส่วนตัว ซึ่งถ้าไม่ตกลงกันเองไว้ก่อนก็อาจจะนำไปสู่ความไม่เข้าใจ หรือก้าวล้ำปีนเกลียวกันทางความรู้สึกได้
สเต็ป 5 – หมั่นคอยดูแลและรักษาดวงใจ
อย่าลืมเปิดใจคุยกันเรื่องความรู้สึกบ่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงเวลาแห่งความยากลำบากที่เกิดโรคระบาด ซึ่งทำให้เกิดความเครียดหลายอย่าง ทั้งกลัวติดโรค ทั้งบางคนอาจเครียดเรื่องเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมาด้วย
“สิ่งสำคัญที่สุดคือการเป็นกำลังใจให้กันและกัน ว่าเราจะผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ ถ้าคุณรู้สึกกลัวหรือจิตตก การได้ระบายความในใจกันคนที่รักก็ช่วยได้มาก” จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านครอบครัวและชีวิตคู่กล่าวด้วยว่า การเปิดใจนอกจากจะช่วยระบายความเครียดแล้ว จะนำไปสู่การหาทางออกไปด้วยกันได้อีกด้วย
ทีนี้ถ้าเกิดรู้สึกหงุดหงิดใจกันขึ้นมาจะทำยังไงดี การตบจูบหรือดีกันเฉพาะบนเตียงไม่ช่วยแก้ปัญหาระยะยาวหรอกนะ การเผชิญหน้ากันทันทีก็เช่นเดียวกัน ถ้าเริ่มมีปากเสียง คนใดคนหนึ่งต้องหยุดและออกไปจากเหตุการณ์ก่อน เช่น หนีไปอาบน้ำ ออกไปจ๊อกกิ้งให้ใจร่มๆ สำหรับปัญหาความไม่เข้าใจเอาไว้ค่อยเปิดอกคุยกันวันหลัง