Celeb Online

ตามไปดู เวิร์กช็อปความงามบำบัดแก่หญิงป่วยมะเร็งแต้มสีบนใบหน้า ระบายสีให้จิตใจ

“มะเร็ง” นับว่าเป็นเนื้อร้ายที่คร่าชีวิตคนไทยมากที่สุด สำหรับผู้ป่วยมะเร็ง นอกจากจะต้องต่อสู้กับความร้ายแรงของอาการเจ็บป่วยจากโรคแล้ว ยังต้องต่อสู้กับกระบวนการรักษาในทุกขั้นตอน ส่งผลให้ผู้ป่วยทุกข์ ทรมาน จากผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งสูญเสียความมั่นใจในรูปลักษณ์ภายนอกโดยเฉพาะผู้หญิงที่เป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งปากมดลูก ทำให้สูญเสียความมั่นใจและกำลังใจในการดำรงชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคม ไม่ว่าจะเป็นการรักษาด้วยการผ่าตัด ให้คีโม (Chemo) เหล่านี้ส่งผลให้สีผิวคล้ำขึ้น ผิวแห้ง หย่อนคล้อย ซูบผอม ผมร่วง นับว่าเป็นความเจ็บปวดทั้งร่างกาย และจิตใจ

สมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย สมาคมโรคมะเร็งแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ และ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้ร่วมมือจัดโครงการ “Look Good…..Feel Better” คืนความมั่นใจให้กับผู้หญิงที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งกลับคืนสู่สังคม มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จัดเวิร์กช็อป แนะนำการดูแลผิว การแต่งหน้า การดูแลเส้นผม ทรงผม ด้วยวิธีง่ายๆ ให้ดูดี เหมาะกับสภาพในปัจจุบัน

ความโดดเด่นของโครงการนี้คือ ไม่ยึดถือ ไม่โปรโมตแบรนด์ใดเป็นพิเศษ ไม่ใช้โอกาสดังกล่าวทำธุรกิจใดๆ กับผู้ป่วยทั้งสิ้น เรียกว่าทุกองค์กรเข้ามาช่วยด้วยใจอย่างแท้จริง อาทิ บริษัท ลอรีอัล ประเทศไทย บริษัทไบเออร์สดอร์ฟ บริษัทพร็อคเตอร์ แอนด์ แกมเบิ้ล บริษัท เบตเตอร์เวย์ และบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ดิวิเน่

เมื่อวันจันทร์ที่ 25 มกราคม ที่ผ่านมา ได้จัดเวิร์กช็อปขึ้น ณ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ โดยมีทีมงานแบรนด์ลอรีอัล และอาสาสมัคร เช่น อดีตผู้ป่วยโรคมะเร็ง เจ้าของธุรกิจร้านเสริมสวย ช่างแต่งหน้ามืออาชีพ ตบเท้าอาสาร่วมงานเพียบ

“โครงการนี้เกิดขึ้นครั้งแรกที่สหรัฐอเมริกา ค.ศ.1989 โดยมีองค์การอุตสาหกรรมเครื่องสำอางของสหรัฐฯ เป็นแกนนำ บริษัทความงามต่างๆ เป็นผู้สนับสนุน ปัจจุบันโครงการนี้ขยายไปสู่อีก 17 ประเทศแล้ว ไทยเป็นประเทศที่ 18 ที่ได้นำโครงการนี้มาดำเนินการ

มีการจัดเวิร์กช็อปขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2551 รวมๆ แล้วครั้งนี้เป็นครั้งที่ 15 ในประเทศไทยค่ะ แต่ละครั้งจะมีผู้ป่วยเข้าร่วม 20 -25 คน มีผู้ป่วยทั้งหมดที่เข้าร่วมโครงการแล้วประมาณ 400 กว่าคน” เกศมณี เลิศกิจจา นายกสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย และประธานโครงการ “Look Good…..Feel Better” บอกเล่าความเป็นมา

และ ดร.พรทิพา พิชา เลขาธิการสมาคมโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และรองประธานศูนย์มิตรภาพบำบัด ผู้จัดโครงการฯ กล่าวเสริมว่า

“โครงการนี้ได้ส่งผลกระทบทางด้านบวก เพิ่มคุณภาพชีวิตไปยังผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งที่เป็นผู้ให้ และผู้รับ สำหรับเสียงตอบรับที่ได้กลับมาจากผู้ป่วย เรียกว่าทุกคนให้การตอบรับอย่างดีมาก รู้สึกพึงพอใจ และมีความสุขมากขึ้นหลังผ่านการทำเวิร์กช็อป โดยเสียงส่วนใหญ่ ระบุว่า เวิร์กช็อปการแต่งหน้าบำบัด ช่วยสร้างความมั่นใจในรูปลักษณ์ ส่งผลให้มีกำลังใจมากยิ่งขึ้น ผู้ป่วยรู้สึกดีใจที่มีกลุ่มคนมากมายร่วมมือกัน และหันมาดูแลเอาใจใส่พวกเขา

ผู้ป่วยมะเร็ง มีความเครียดอยู่ลึกๆ บางคนเสียภาพลักษณ์ เช่น ตัดเต้านม เพราะฉะนั้นทุกคนจะมีปัญหาทางด้านสภาพจิตใจ และร่างกาย การกลับไปทำงาน การกลับสู่ครอบครัว สังคม มันจึงไม่มีความเต็มร้อย ขาดกำลังใจ ขาดความมั่นใจ จึงคิดว่า เราต้องทำกิจกรรมอะไรสักอย่างขึ้นมา บังเอิญทางสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย ได้เข้ามาในวันที่เรานึกอยากจะทำงานแบบนี้ ให้คนไข้ได้แต่งหน้าสวยงาม มันเหมือนเป็นอุบาย เช่นว่า คนไข้ได้ทำกิจกรรมร่วมกันก็จะเกิดความสุข วันนี้คนไข้ก็สนุกสนานเฮฮา คนไข้ออกมาร้องเพลง และได้รับความงาม

ความงามมันมีปรัชญาว่า ความสวยงามมันสามารถจะขับเคลื่อน สร้างเสริมสุขภาพทั้งกาย และใจ และทางจิตวิญญาณ เค้าเห็นตัวเองสวยขึ้น มีคนชื่นชม ไปไหนก็มั่นใจ อวัยวะที่สูญเสียไปก็เหมือนกับว่าได้ถูกทดแทน ส่วนลึกๆ ทางจิตวิญญาณ คือ เค้ามีเพื่อนมากขึ้น หรือเค้าอาจจะเจอคนที่ป่วยมากกว่าเค้า ก็จะรู้สึกว่า เค้ายังดีเลย ทำไมเราจะต้องกลัว คนที่เป็นยิ่งกว่าเราระยะสุดท้าย เค้ายังดีๆกันอยู่เลย”

“หลังจากให้คีโมเข็มแรก สางผมแล้วหลุดออกมาเป็นกระจุกเลยคะ ร่วงไปแทบจะครึ่งหัว รับไม่ได้เลย เลยให้น้องพาไปโกน เพราะเวลานอนก็จะติดหมอนไปหมดเลย ตัดใจ โกนเลยคะ แล้วซื้อวิกมาใส่ ด้านคุณพ่อคุณแม่ก็ให้กำลัง บอกว่า ให้สู้ อย่าท้อแท้ อยู่ไปเถอะ อย่างไรก็มีคนรักเยอะ” ขวัญประภา แสงใต้ หรือ น้องฝน ผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก บอกเล่าด้วยสีหน้าเปื้อนยิ้ม

“เวลามันเจ็บ มันทรมานมากนะ ไม่อยากอยู่ กินข้าวก็ไม่ได้ อาเจียน แม่บอกเสมอว่า นับหนึ่งให้ถึงร้อย ถ้ามันไม่หายเจ็บก็หลับไปเลย” น้องฝน ถ่ายทอดประสบการณ์ความเจ็บปวด อาการข้างเคียงโรคมะเร็ง

สำหรับโครงการฯนี้สนุกดี ได้ความรู้ติดตัวในการแต่งหน้ามากคะ พี่เค้าสอนวิธีการแต่งหน้าแบบง่ายๆ เวลามีคนชมว่า สวย ทำให้รู้สึกมีความสุขคะ หลายคนบอกว่า ไม่เหมือนคนป่วยเลย

ศิริพร ตั้งเมตตาจิตตกุล ตัวแทนจากทีมช่างเสริมสวยแบรนด์ลอรีอัล โปรเฟสชันเเนล และอดีตผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านม เล่าถึงแรงดลใจที่มาเข้าร่วมโครงการฯให้ฟังว่า

“ร่วมโครงการฯ ตั้งแต่เปิดเลยคะ ในฐานะที่ตัวเองเป็นผู้ป่วยเช่นกัน เป็นมะเร็งเต้านม รู้สึกถึงตรงนั้น จึงอยากจะเข้ามาช่วยรณรงค์ให้ผู้ป่วยมีกำลังใจที่จะต่อสู้กับโรคร้าย เพราะมะเร็งมันไม่ไกลตัวเรานะ อย่าประมาท” แล้วเธอก็แนะวิธีดูแลเส้นผมผู้ป่วยมะเร็งระหว่างการรักษาว่า

“เราแนะนำคนไข้ว่า ควรจะตัดผมสั้น ที่ดูแลทำความสะอาดง่ายๆ เพราะขณะที่บำบัด หรือคีโม จะทำให้ผมบาง ผมร่วง สิ่งที่สำคัญต้องทำความสะอาดได้ง่าย ดูแลง่ายที่สุด”

“อยากให้ทำความสะอาดผมบ่อยๆ ด้วยแชมพูที่รักษาหนังศีรษะ ใช้ตัวกระตุ้น หรือวิตามินที่ใส่หนังศีรษะ ชื่อว่า Aminexil มันจะช่วยปรับโครงสร้างของกะเปาะผมยังคงทำงานอยู่ หลังจากให้คีโมบำบัดเสร็จ ผมจะขึ้นมาเหมือนเดิม หรือมากกว่าเดิม เพราะเราได้กระตุ้นการทำงานของกะเปาะผมอย่างต่อเนื่อง คือระหว่างที่เราให้คีโม ผมจะหลุดร่วง บางคนหัวล้านไปเลยนะคะ ผมจะหลุดเป็นกระจุกเลย

ควรล้างทำความสะอาดเส้นผม และหนังศีรษะ หลังจานนั้นควรใส่ Aminexil เพื่อกระตุ้นกะเปาะผม ให้เซลล์มันทำงานตลอดเวลา พอการให้คีโมจบ กะเปาะผมมันก็จะสร้างเส้นผมขึ้นมาใหม่ พี่ก็เคยหัวล้านมาแล้วนะคะ และตอนนี้ก็ขึ้นเหมือนเดิม เพราะใช้ตัวนี้”

อาสาสมัครช่างแต่งหน้าอีกท่าน ภูวรินทร์ วะรุตมะบัวซ้อน หรือพี่อะเล็ก เล่าถึงการมาร่วมโครงการฯ ด้วยสีหน้าเปี่ยมสุขว่า

“เคยดูในโทรทัศน์ครับ มีสอนแต่งหน้าผู้ป่วยโรคมะเร็ง และต้องการอาสาสมัคร จึงรีบจดเบอร์ จากนั้นก็มาช่วยตลอดเลย เคยเจอคนไข้ครั้งหนึ่ง ประทับใจมาก สมัยมาครั้งแรก พอแต่งหน้าให้เสร็จเรียบร้อย เค้าก็ขอบคุณเสร็จ และเค้าบอกว่าตั้งแต่เป็นมะเร็ง เค้าไม่เคยสวยขนาดนี้มาก่อนเลย พอเราฟังปุ๊บนะ เราอึ้งเลย เรารู้สึกปลื้ม ดีใจมากๆเลย” แล้วพี่อะเล็กก็บอกเทคนิคการแต่งหน้าสำหรับผู้ป่วยว่า

“จริงๆแล้ว เทคนิกการแต่งหน้าสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง สำคัญมากเลย ต้องลงครีมบำรุงก่อน มิฉะนั้นเครื่องสำอางจะไม่ติดเลย เพราะว่าผิวหน้าของผู้ป่วยจะแห้งมาก นอกจากนั้นเราต้องรู้เบื้องต้นด้วยว่า คนไข้แพ้ง่ายไหม และอีกอย่าง คนทำคีโม จะเหม็นอะไรง่ายนะ ต้องถามคนไข้ก่อนว่าแพ้อะไรหรือเปล่า

ส่วนผู้ป่วยที่ผิวคล้ำ พวกสีเมกอัพควรจะออกโทนเย็นนะ ไม่ควรใช้สีชมพู ควรจะเป็นสีส้มๆ เพราะสีส้มจะทำให้หน้าดูไบรท์ สว่าง หากใช้สีชมพู จะแลดูผิวคล้ำลง แต่ทั้งนี้ต้องดูผิวของคนไข้ด้วยแหละว่าขาว หรือคล้ำ”

* สำหรับบริษัทความงาม ช่างแต่งหน้า และช่างผม ที่สนใจเป็นอาสาสมัครเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมของโครงการฯ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย โทร 02 713 3647