ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ พวกเราคงทราบกันดีว่า “คนไทยทุกคนต่างมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ” เพราะมีการใช้เสรีภาพนี้มากขึ้นเรื่อยๆ
ความจริงเรื่องราวสิทธิเสรีภาพเหล่านี้ ถูกกล่าวถึงใน ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ค.ศ.1948 (The Universal Declaration of Human Right 1948) (UDHR) มาตรา 20 (1) บัญญัติว่า บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพแห่งการชุมนุมและการสมาคมโดยสงบ
และ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิของพลเมือง และสิทธิทางการเมือง ค.ศ.1966 (International Covenant on civil and Political Right 1966) (ICCPR) ข้อ 21 บัญญัติว่า สิทธิในการชุมนุมโดยสงบย่อมได้รับการรับรอง การจำกัดการใช้สิทธินี้จะกระทำมิได้ นอกจากจะกำหนดโดยกฎหมาย และเพียงเท่าที่จำเป็นสำหรับสังคมประชาธิปไตย เพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงของชาติ หรือความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยของสังคม การสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชน หรือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น
ด้านรัฐธรรมนูญไทย พ.ศ. 2550 ก็ได้รับรองเสรีภาพในการชุมนุมในพื้นที่สาธารณะไว้อย่างชัดเจน ในมาตรา 63 ว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณะ และเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบรัอยในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก”
อาจารย์จันทจิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่านได้กล่าวถึง เสรีภาพในการชุมนุมว่า เป็นส่วนหนึ่งของเสรีภาพในความคิดเห็นและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นซึ่งมีหลายรูปแบบ โดยมีความสัมพันธ์กับสถานะหรือชนชั้นทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หากเป็นนักวิชาการหรือผู้มีฐานะทางสังคมเศรษฐกิจที่ดี มีการศึกษา อาจใช้พื้นที่สื่อ เช่น เขียนบทความหรือจดหมายส่งไปหนังสือพิมพ์ ส่งข้อความหรือโฟนอินเข้าไปในรายการวิทยุ โทรทัศน์ต่างๆ หรืออาจใช้วงเสวนาหรือเวทีอภิปราย สาธารณะ หรือกระทั่งออกแถลงการณ์ เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาล
แต่สำหรับบุคคลอื่นๆ ที่ห่างไกล หรือไม่สามารถออกแถลงการณ์หรือไปพูดในพื้นที่สื่อสาธารณะใดๆ ได้ การชุมนุมในพื้นที่สาธารณะจะกลายเป็นทางเลือกเดียวสำหรับการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นสู่สาธารณชนวงกว้าง และยิ่งเป็นพื้นที่สาธารณะในกรุงเทพฯ ความคิดเห็นหรือข้อเรียกร้องของพวกเขาจะยิ่งได้รับฟังมากขึ้น
ดังนั้น เราจึงเห็นปรากฏการณ์ชุมนุมในพื้นที่สาธารณะบ่อยครั้ง และมีการพัฒนารูปแบบการชุมนุมเป็นการเคลื่อนขบวนชุมนุมไปประท้วงเรียกร้องที่โน่นที่นี่ ก่อปัญหาอื่นๆ ให้ตามมาไม่ใช่น้อย ยกตัวอย่างเช่น ผู้ชุมนุมใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นบนถนนสาธารณะ ทำให้ประชาชนทั่วไปที่มีสิทธิเสรีภาพในการเดินทางไปมาโดยสะดวกบนถนนสาธารณะก็ไม่ได้รับความสะดวกเหล่านั้น
จึงเกิดคำถามสำคัญขึ้นว่า การชุมนุมสาธารณะควรมีกติกาหรือไม่ แม้ว่าการรวมตัวชุมนุมสาธารณะนั้นเป็นสิทธิเสรีภาพเด็ดขาด ที่รัฐไม่สามารถแทรกแซงหรือจำกัดได้ หากเป็นการชุมนุมที่เข้าเงื่อนไข 4 ประการ คือ
1.ชุมนุมโดยสงบ/อย่างสันติ
2. ปราศจากอาวุธ
3. ชุมนุมในสถานที่ส่วนบุคค
4. ในสภาวการณ์ปกติ ไม่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก โดยรัฐสามารถจำกัดหรือแทรกแซงการใช้เสรีภาพในการชุมนุมได้เฉพาะเมื่อ
– เป็นการชุมนุมสาธารณะที่รัฐจำเป็นต้องแทรกแซงเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ
– เป็นการชุมนุมระหว่างที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม
– เป็นการชุมนุมระหว่างที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก ซึ่งรัฐต้องเข้าแทรกแซงเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยความมั่นคงปลอดภัยประเทศ
การใช้เสรีภาพในการชุมนุมเองก็ไม่สามารถกระทำได้อย่างไม่จำกัด เพราะในรัฐธรรมนูญมาตรา 28 ได้บัญญัติว่า “บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฎิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน”
อาจารย์จันทจิราจึงเสนอกติกาการชุมนุมสาธารณะ เพื่อสร้างมาตรฐานที่เหมาะสมสำหรับการใช้เสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะในสังคมไทย เรียกว่า ร่าง “พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะและการเดินขบวน” ที่มีลักษณะ 4 ประการดังนี้
1. ต้องเป็นกฎหมายที่ถูกออกแบบมาเพื่อการชุมนุมสาธารณะเป็นการเฉพาะตาม มาตรา 63 วรรคสอง รัฐธรรมนูญ 2550 เท่านั้น
2.กฎหมายฉบับนี้ ต้องพิจารณาถึงสิทธิเสรีภาพของทั้งกลุ่มผู้ชุมนุมและสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั่วไปในการใช้ที่ทางสาธารณะ และพยายามสร้างสมดุลระหว่างสิทธิเสรีภาพทั้งสอง เช่น การให้ผู้ชุมนุมสามารถจัดการชุมนุมในที่สาธารณะได้โดยไม่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย และไม่ขัดขวางการจราจร หากมีการฝ่าฝืน ก็ต้องมีบทลงโทษ
3. กฎหมายฉบับนี้ ควรอนุญาตให้รัฐวางมาตรการต่างๆ ที่จำเป็นได้ แต่ต้องเป็นมาตรการที่มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ชุมนุมสามารถใช้เสรีภาพของตนได้เช่นกัน ในขณะเดียวกันก็คุ้มครองเสรีภาพของบุคคลอื่นในการใช้พื้นที่สาธารณะด้วย
โดยกฎหมายฉบับนี้ห้ามใช้อาวุธร้ายแรงกับผู้ชุมนุมโดยเด็ดขาด และไม่ได้มองว่าผู้ชุมนุมเป็นอาชญากรที่ต้องลงโทษเพื่อให้หลาบจำเหมือนกฎหมายอาญา เว้นแต่ว่าการชุมนุมจะเกินเลยจากการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ไปสู่การกระทำที่รุนแรงวุ่นวายหรือจลาจล
4. เนื้อหากฎหมายฉบับนี้ควรมีการแบ่งประเภทการชุมนุมเพื่อให้สามารถวางมาตรการที่เหมาะสมกับการชุมนุมแต่ละประเภท เป็นไปตามหลักกฎหมายปกครองที่เรียกว่า “หลักความพอสมควรแก่เหตุ”
ถ้าท่านใดสนใจศึกษาแนวคิดในเรื่องการชุมนุมและการวางกติกาด้วยการเสนอร่างกฎหมายของอาจารย์จันทจิรา ติดตามได้ในเว็บไวต์ของมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติค่ะ
เคยมีคนกล่าวให้อ้วนได้ยินว่า “การชุมนุมเป็นเสมือนลมหายใจของเสรีภาพ และประชาธิปไตย” และโดยส่วนใหญ่ที่ผ่านมา การชุมนุมมักเกิดขึ้น เมื่อรัฐออกนโยบายที่สร้างปัญหาให้เกิดขึ้นกับประชาชน หรือคนในพื้นที่
ความจริงจะใช้คำว่ารัฐก็ดูเป็นเรื่องที่กว้างเกินไป เพื่อให้แคบลงและเห็นภาพชัดเจนขึ้น คือเมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้ใช้อำนาจของรัฐ เช่น ข้าราชการหรือนักการเมือง หรือแม้กระทั่งนายกรัฐมนตรีมีผลประโยชน์ซ่อนเร้นอยู่ในนโยบายการใช้งบประมาณแผ่นดินใช้อำนาจหน้าที่ที่มาจากตำแหน่งของตนสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นกับชุมชน สังคม ประเทศชาติ ก็ย่อมส่งผลให้ต้องมีพื้นที่ของการแสดงออกของประชาชนที่ไม่พึงพอใจการกระทำดังกล่าว
แต่อย่าลืมว่า บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญนี้เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้เช่นกัน
มุมมองของอ้วนเอง เห็นว่า ประเด็นสำคัญของการใช้เสรีภาพในการชุมนุม อยู่ที่ตัวบุคคลแต่ละคนมากกว่า ว่าการที่คุณมาใช้สิทธิและเสรีภาพเหล่านี้ .. คุณมีความเข้าใจมากน้อยแค่ไหน?
ในพื้นที่ของการใช้เสรีภาพในการชุมนุมและเดินขบวน ตัวคุณเองมาชุมนุมและเดินขบวนเพราะอะไร และเพื่ออะไร .. และคุณรู้ไหมว่า ต้องใช้เสรีภาพนี้ภายใต้ขอบเขตของกฎหมายด้วย
ถ้าคุณใช้เสรีภาพนี้ เพียงเพื่อเพราะมันแปลกใหม่ดีน่ะ น่าตื่นตาตื่นใจ น่าสนุก ได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน หรือมาทำงานรับค่าแรง !?! ก็คงเป็นการใช้เสรีภาพแบบเด็กเอามีดพ่อครัวใหญ่ไปหั่นดอกไม้ใบหญ้าเล่น ..
ดังนั้นสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าการใช้เสรีภาพในชุมนุมสาธารณะ คือ การประกาศว่านี้เป็นสิทธิประชาธิปไตย เราต้องถามตัวเองว่าได้ปฏิบัติตามกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายหรือเปล่า? ตราบใดที่คนในประเทศไทยยังเป็นคนที่ไม่เคารพกติกา ไม่เคารพกฎหมาย และไม่บังคับใช้กฎหมายกันอย่างจริงจัง เราจะกล่าวอ้างถึงกติกาได้อย่างไร? เพราะการเคารพกติกา การปฏิบัติตามกฎหมาย การเคารพสิทธิของตนเองและผู้อื่น เป็นรากฐานที่สำคัญที่สุดของสังคมในระบอบประชาธิปไตย
ถ้าคนไหน ไม่เคารพ ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่เคารพสิทธิของตนเองและผู้อื่น ก็เป็นคนที่ไม่มีประชาธิปไตยในหัวใจเช่นกัน และคงไม่แตกต่างอะไรจากเด็กที่เล่นโกง ไม่ปฎิบัติตามกติกา แต่เรียกร้องการใช้กติกาจากคนอื่น!