Celeb Online

กิ๊ก ตัวชี้วัดความดีในใจเรา /อ้วน อารีวรรณ

jatung_32@yahoo.com

“กิ๊ก” เป็นคำฮิตที่แสนฮิตมาหลายปี ใครๆ ก็พูดถึง ใครๆ ก็รู้จักคำนี้ แม้กระทั่งหลานสาววัย 7 ขวบ ก็ยังพูดให้ได้ยินบ่อยๆ ก็เลยต้องเขียนถึงสักหน่อย..สักครั้ง


อ้วนก็เลยถือโอกาสไปหาข้อมูลมาจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ด้วยความอยากรู้ว่า “กิ๊ก” มีความหมายอื่นๆ นอกเหนือจากที่เรารับรู้อีกไหม??? ก็ได้คำตอบมาดังนี้ค่ะ

“กิ๊ก” คือ คู่เดท เป็นคำเรียกของความสัมพันธ์ระยะสั้นระหว่างบุคคล (short-term relationship) โดยจะแตกต่างจากคำว่า “แฟน” ซึ่งกล่าวถึงความสัมพันธ์ของบุคคลที่มีระยะยาว

ความสัมพันธ์ของ “กิ๊ก” อาจมีการเข้าใจผิดกัน โดยที่ทั้งสองฝ่ายไม่ได้มีการกล่าวถึง โดยอาจจะมีความเข้าใจผิดระหว่างความสัมพันธ์ระยะสั้นกับความสัมพันธ์ระยะยาว และในปัจจุบัน คำว่า “กิ๊ก” อาจหมายถึงพฤติกรรมการหาเพื่อนของกลุ่มวัยรุ่น โดยต้องการหาเพื่อนคุยหรือเพื่อนเที่ยว โดยใช้คำว่า กิ๊ก แทนคำว่า เพื่อน ไปเลย

ความหมายของคำว่า กิ๊ก จึงแตกต่างกันไปตามวัย หรือกลุ่มอายุ และสังคม ที่มีความหลากหลาย กิ๊กจึงอาจมีความหมายได้หลายแบบ ดังนี้

* เพื่อนต่างเพศที่มีความสำคัญมากกว่าเพื่อนทั่วไป โดยมีความลึกซึ้งมากกว่า
* เพื่อนคุยโทรศัพท์ หรือเพื่อนที่คุยได้ทุกเรื่อง
* หรืออาจกลายเป็น คู่นอน หรือมีความหมายเหมือนกับคำว่า ชู้ อีกด้วย โดยเป็นการเลี่ยงคำว่า ชู้ ไปใช้คำว่า กิ๊ก แทน เพื่อเลี่ยงการใช้คำพูดที่รุนแรงต่อความรู้สึกของคนที่มีกิ๊กหรือเป็นกิ๊ก

ที่มาของคำว่า “กิ๊ก” ยังไม่มีการกล่าวถึงที่มาแน่นอน โดยอาจจะมาจาก

* คำว่า กุ๊กกิ๊ก ซึ่งกล่าวโดยวัยรุ่น หมายถึงการออกไปเที่ยวเล่น หรือไปใช้เวลาร่วมกัน
* คำว่า คลิก (click) ที่เป็นแสลงในภาษาอังกฤษ หมายถึง การเข้ากันได้ของคนสองคน (โดยเปรียบเทียบจากเสียง คลิก ของวัตถุสองสิ่งที่ใส่เข้ากันได้พอดี) หรือ
* คำว่า กิ๊ก (gig) ที่เป็นแสลงในภาษาอังกฤษ หมายถึง กิจกรรมระยะสั้น (คำเดียวกันนี้ ยังมีความหมายอื่น ๆ อีก เช่น งานแสดงดนตรี)

วิกิพีเดีย มีการกล่าวถึง “เหตุผลของการมีกิ๊ก” ไว้ด้วยนะคะ ว่า

* มีความประทับใจในเพศตรงกันข้าม ซึ่งในขณะนั้นเราอาจต้องการใครสักคนเพื่อที่จะทำให้เรามีความสุข พูดคุยกับเรา ทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น ไปเที่ยว ดูหนัง ฟังเพลง หรืออื่นๆ คลายเครียด เมื่อไม่ต้องการเป็นแฟนกันแล้ว ก็จากไปโดยไม่คิดอะไรมากมาย

* บางครั้งแฟนของเราที่คบกันอยู่ในขณะนั้น ยังไม่สามารถเติมเต็มกับความต้องการของเราได้ บางครั้งเกิดอาการเบื่อแฟน หรือในปัจจุบันที่คิดว่า การมีกิ๊กหลายๆ คน เป็นเรื่องของการมีความสามารถหรือ “เจ๋ง”

* การที่จะมีกิ๊กได้ ไม่จำเป็นว่า ต้องไม่มีแฟน หรือว่ามีแฟนแล้ว ทุกคนสามารถเป็นกิ๊กกันได้ แต่ต้องให้ความสำคัญกับกิ๊กน้อยกว่าแฟน ที่เรียกว่า “มากกว่าเพื่อน แต่ไม่ใช่แฟน” ถ้าหากแฟนจับได้ว่ามีกิ๊ก ต้องเลิกทันที

* ฯลฯ

ข้อมูลจากวิกิพีเดียนี้ อาจจะล้าสมัยไปแล้วสำหรับหลายๆ คนนะคะ แต่ดูเหมือนว่า ทิศทางของคำว่า “กิ๊ก” กลายเป็นเพื่อนต่างเพศที่มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งมากกว่าเพื่อนธรรมดา และอาจกลายเป็นความสัมพันธ์พิเศษ เช่น คู่นอน หรือมีความหมายเหมือนกับคำว่า “ชู้” มากขึ้นเรื่อยๆ

อ้วนถึงได้กล่าวว่า “กิ๊ก” ได้กลายเป็นตัวชี้วัดความดีในใจของคนเราไปแล้ว แค่คุณคิดจะมี “กิ๊ก” ทั้งๆ ที่คุณก็มีแฟน หรือมีคู่ หรือมีสามี-ภริยา เป็นตัวเป็นตนอยู่แล้ว แสดงว่าใจคุณนั้น ก็เริ่มออกนอกลู่นอกทาง

ยิ่งนอกจาก “คิด” แล้วยังนำไปปฏิบัติด้วยการแสวงหา “กิ๊ก” ด้วยแล้ว ก็ยิ่งเห็นชัดว่า คุณได้กระทำตามใจตัวเองอย่างเต็มที่ ใจไม่ได้แค่หวั่นไหวธรรมดา แต่ตัวก็เคลื่อนกายตามใจไปด้วยเลย..

ยิ่งถ้าให้เหตุผลว่า “ใครๆ เค้าก็มีกัน..ใครๆ เค้าก็กระทำกัน” หรือ “เป็นเรื่องปกติธรรมดา”

โดยลืมไปว่า การเป็นแฟน หรือการเป็นสามีภริยานั้น มีความหมายถึง การที่คุณได้รับความรักและความไว้วางใจจากคู่ของคุณ ให้คุณได้รับสิทธิและมีหน้าที่พิเศษขึ้นมาแล้ว โดยเฉพาะหน้าที่ที่จะต้องเป็นผู้ให้และผู้รับ “ความรัก” การดูแลกันและกันให้มีความสุขทั้งร่างกายและจิตใจ

ซึ่งกฎหมายในปัจจุบัน ก็ได้รับรองสิทธิและหน้าที่นี้ไว้ด้วยนะคะ เห็นได้จากการที่มีบทลงโทษทางแพ่งกรณีบุคคลอื่นมามีความสัมพันธ์ทางเพศกับหญิงชายที่ได้หมั้นหมายกันไว้ หรือสามีภริยาที่ได้จดทะเบียนสมรสแล้ว เช่น

มาตรา 1445 ชายหรือหญิงคู่หมั้นอาจเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งได้ร่วมประเวณีกับคู่หมั้นของตน โดยรู้ หรือควรจะรู้ถึงการหมั้นนั้น เมื่อได้บอกเลิกสัญญาหมั้นแล้ว ตามมาตรา 1442 หรือมาตรา 1443 แล้วแต่กรณี

มาตรา 1446 ชายหรือหญิงคู่หมั้นอาจเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งได้ข่มขืนกระทำชำเราหรือพยายามข่มขืนกระทำชำเราคู่หมั้นของตน โดยรู้ หรือควรจะรู้ถึงการหมั้นนั้นได้ โดยไม่จำต้องบอกเลิกสัญญาหมั้น

มาตรา 1447/1 สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนตามมาตรา 1445 และมาตรา 1446 ให้มีอายุความหกเดือน นับแต่วันที่ชาย หรือหญิงคู่หมั้นรู้ หรือควรรู้ถึงการกระทำของผู้อื่น อันจะเป็นเหตุให้เรียกค่าทดแทน และรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าทดแทนนั้น แต่ต้องไม่เกินห้าปี นับแต่วันที่ผู้อื่นนั้นได้กระทำการดังกล่าว

มาตรา 1523 เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากัน เพราะเหตุตามมาตรา 1516 (1) ภริยาหรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามี หรือภริยา และจากผู้ซึ่งได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่อง หรือผู้ซึ่งเป็นเหตุแห่งการหย่านั้น

สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้ และภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผย เพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวก็ได้

ถ้าสามีหรือภริยายินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจให้อีกฝ่ายหนึ่งกระทำการตามมาตรา 1516 (1) หรือให้ผู้อื่นกระทำการตามวรรคสอง สามีหรือภริยานั้นจะเรียกค่าทดแทนไม่ได้

ส่วนเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (1) คือ สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดู หรือ ยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้ หรือมีชู้ หรือ ร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

แต่สภาพปัญหาสังคมไทยในเรื่อง “กิ๊ก” สะท้อนให้เห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ความอ่อนแอในจิตใจตัวเอง ที่ไม่สามารถคงความซื่อสัตย์ต่อคู่ของตนเองได้ ยิ่งเห็นคนอื่นทำ ก็คิดทำบ้าง โดยเฉพาะถ้ามีความอยากออกนอกลู่นอกทางอยู่ในใจเป็นทุนเดิมแล้ว ย่อมทำให้การทำตามใจตัวเองมีมากขึ้น คิดแค่ว่าขอให้ตัวเองมีความสุขก่อน คนอื่นจะทุกข์เพราะการกระทำของเรา ก็ช่างประไร

หรือพยายามหาเหตุผลให้ตัวเองว่า มันเป็นเรื่องธรรมดาของสัตว์โลก ที่ไม่สามารถมี “คู่” เพียงคนเดียว..ได้

งั้นขอถามสั้นๆ ง่ายๆ ว่า ถ้าสามีเราไปมีกิ๊ก คนเป็นภริยาทุกข์ใจไหม? หรือถ้าภริยาเราไปมีกิ๊ก คนเป็นสามีทุกข์ใจไหม?

ดังนั้นแค่สังคมนี้ คิดถึงหลัก “ใจเขาใจเรา” ได้ ปัญหาอะไรๆ หลายอย่างก็คงจะดีขึ้นได้นะคะ