Celeb Online

ร่างกฎหมายส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคทางเพศ /อ้วน อารีวรรณ

jatung_32@yahoo.com

สวัสดีปีใหม่ 2554 กับท่านผู้อ่านทุกคนด้วยนะคะ เป็นอย่างไรกันบ้าง หลังจากได้หยุดพักผ่อนช่วงสิ้นปีสี่ห้าวัน หลายท่านคงได้มีโอกาสเดินทางไปท่องเที่ยวชมความงดงามในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ และก็คงมีหลายท่านที่ตัดสินใจเลือกเดินทางท่องเที่ยวใกล้ๆ ไปเช้าเย็นกลับ เช่น ไปไหว้พระเพื่อเป็นสิริมงคลกับชีวิต โดยเฉพาะที่ฮิตติดลมมาหลายปีแล้ว คือ “ทัวร์ไหว้พระเก้าวัด” ซึ่งดิฉันเองก็ฮิตกับเขาด้วย เตรียมการจัดโปรแกรมเดินทางไว้ล่วงหน้าแล้ว แต่คงต้องรอให้ผู้คนซาน้อยกว่านี้สักหน่อย ก็จะไปไหว้พระเก้าวัดด้วยเหมือนกันคะ

เวลาที่คนทั่วไปไหว้พระ ส่วนใหญ่ก็จะถือโอกาสอธิษฐานขอพรกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจและน่าศึกษาเหมือนกันนะคะ เคยสอบถามคนรู้จักที่ได้ไปไหว้พระว่า พรที่ขอกันนั้นมีเรื่องอะไรบ้าง ก็มักจะได้คำตอบว่า เป็นเรื่องโชคลาภ ความร่ำรวย ความสำเร็จ หน้าที่การงาน ความรัก ตามด้วยสุขภาพของตนเองและครอบครัว ส่วนตัวดิฉันเองที่ผ่านมาเมื่อไหว้พระแล้วก็จะขอพรให้ตนเองเช่นกัน แต่นึกไม่ค่อยออกว่าจะขออะไรดี เพราะมัวแต่ชมความงามของพระพักตร์พระพุทธรูปนานไปหน่อย สุดท้ายก็เลยได้แต่นึกในใจว่า “ขอให้ความดีที่ลูกได้ทำมาส่งผลให้ลูกได้ทำความดีต่อไปด้วยเทอญ สาธุ”

ส่วนปีนี้ถ้าได้ไปไหว้พระเก้าวัดอย่างที่ตั้งใจไว้ก็คงจะขอพร “ขอให้เกิดสิ่งดีๆ มีการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่างๆ ของสังคมได้อย่างราบรื่นเรียบร้อย โดยเฉพาะปัญหาเรื่องสิทธิสตรี ก็ขอให้ได้รับความร่วมมือร่วมใจจากผู้ชายทุกคนด้วย” ที่เตรียมขอพรเช่นนี้ เนื่องจากอีกไม่กี่วันข้างหน้า หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเสนอร่างพระราชบัญญัติเท่าเทียมทางเพศเข้าสู่สภาเพื่อบรรจุเข้าวาระการประชุมพิจารณากฎหมาย ดิฉันเองอยากให้บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสมาชิกที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ซึ่งมีหน้าที่พิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ได้มีความเข้าใจและเห็นความสำคัญในเนื้อหาหลักการสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ และสนับสนุนให้มีการประกาศใช้เป็็ย็้็นกฎหมายในที่สุด

ต้องบอกก่อนว่า ร่างพระราชบัญญัติเท่าเทียมทางเพศ หรือชื่อเดิม “ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ” เป็นความหวังขององค์กรเอกชนที่ทำงานประเด็นสิทธิสตรี นักเคลื่อนไหว นักวิชาการด้านสิทธิสตรี ซึ่งได้พยายามผลักดันให้บังเกิดกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมานานแล้ว เพื่อให้รัฐบาล เจ้าหน้าที่รัฐได้เข้ามาแก้ไขเยี่ยวยาปัญหาของการเลือกปฏิบัติทางเพศ โดยเฉพาะการกีดกัน การมีอคติทางเพศ ซึ่งส่งผลให้เกิดความไม่เสมอภาคระหว่างเพศขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา การทำงาน การเข้าถึงบริการทางสังคมและบริการสาธารณะ การขาดโอกาสทางเศรษฐกิจ และการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม

และอยากบอกว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้ดูแลเฉพาะเพศหญิงเท่านั้น แต่จะดูแลมนุษย์ทุกๆ คนอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม เพศชาย เพศหญิง หรือบุคคลที่มีการแสดงออกที่แตกต่างจากเพศที่ถือกำเนิดมา หากคุณคิดว่า กำลังถูกเลือกปฏิบัติทางเพศ ก็สามารถยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ หรือชื่อย่อ “วลพ.” ได้ เพื่อขอรับการช่วยเหลือคุ้มครอง หรือการบรรเทาทุกข์หรือชดเชย อาทิ เช่น

ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติ

ค่าสูญเสียโอกาสที่เป็นค่าเสียหายในเชิงพาณิชย์ซึ่งสามารถคำนวณเป็นเงินได้

ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องในการรักษาพยาบาล รวมทั้งค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจ

ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการ วลพ.หรือการฟ้องร้องคดีตามกฎหมายพระราชบัญญัตินี้

ขอยกตัวอย่างกรณีของหญิงข้ามเพศ หรือบุคคลที่มีการแสดงออกที่แตกต่างจากเพศที่ถือกำเนิดมา เนื่องจากได้มีโอกาสพูดคุยถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นของพวกเขา แล้วพบว่า พวกเขาได้ถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมอย่างชัดเจน ตั้งแต่การเข้ารับการศึกษา การประกอบอาชีพ หรือแม้กระทั่งการแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็ยังเจอปัญหาอคติทางเพศ ซึ่งน้องคนหนึ่งได้เล่าว่า “วันนั้นได้ไปแจ้งความบนโรงพักว่า โดนขโมยโทรศัพท์มือถือ ตำรวจถามว่า ใครเป็นคนขโมย ก็เลยบอกว่า เป็นผู้ชายคนหนึ่งที่ตนเองได้เจอในสถานที่เที่ยวยามราตรี แล้วชักชวนมาหลับนอนที่ห้องพัก ปรากฏว่า เช้าขึ้นมา ชายคนนั้นก็หายตัวไปพร้อมกับโทรศัพท์มือถือของเรา” ซึ่งพอแจ้งไปอย่างนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจก็บอกว่า ช่วยไม่ได้เพราะเป็นความผิดของเราเองที่ไปชักชวนผู้ชายคนนั้นมาหลับนอนในห้องพัก แล้วก็ไม่ดำเนินการอะไรให้กับเราเลย

หลายคนที่กำลังอ่านบทความของดิฉันในขณะนี้ ก็อาจมีความคิดเห็นคล้ายกับเจ้าหน้าที่ตำรวจคนดังกล่าว แต่ดิฉันอยากให้ลองคิดดูว่า ถึงแม้ น้องเขาจะเป็นหญิงข้ามเพศหรือกระเทยที่ใครหลายคนเรียกขาน แต่น้องเขาก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ต้องการความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ การที่เขาพาผู้ชายแปลกหน้ามาหลับนอนในห้องพักก็เป็นการตกลงที่จะมีความสัมพันธ์ทางเพศด้วยกันเท่านั้น ไม่ได้หมายรวมถึงการยินยอมให้ชายคนดังกล่าวมาหยิบฉวยทรัพย์สินของเขาไป เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น การขโมยทรัพย์สินอันมีค่า เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องมาเข้าแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยการรับแจ้งความและดำเนินการจับกุมผู้กระทำความผิดมาลงโทษ

หากคิดว่า เขาเป็นกระเทย สมควรแล้วที่ทำตัวเสี่ยงภัยเช่นนั้น ดิฉันอยากจะขอยกตัวอย่างกรณีผู้หญิงที่ถูกจับ เนื่องจากชักชวนผู้ชายมาหลับนอนด้วยแล้วขโมยทรัพย์สินของผู้ชาย ทำไม? เจ้าหน้าที่ตำรวจยังดำเนินการจับกุมผู้กระทำความผิด ทั้งๆ ที่ผู้ชายที่ถูกขโมยทรัพย์สินเองก็ทำตัวเสี่ยงภัยไปมีความสัมพันธ์ทางเพศกับหญิงแปลกหน้าที่รู้จักกันในสถานที่ท่องเที่ยวยามราตรีเช่นกัน

ซึ่งตามร่างพระราชบัญญัตินี้ ผู้ใดได้รับความเสียหายหรือผู้แทนกลุ่มบุคคลที่ได้รับความเสียหายหรือน่าจะได้รับความเสียหายจากการกระทำในลักษณะที่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศมีสิทธิยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการ วลพ. เพื่อพิจารณาวินิจฉัยว่า มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศหรือไม่ และหากมีการวินิจฉัยแล้ว่า ผู้ใดเป็นผู้กระทำความรุนแรงเนื่องจากเพศหรือเพศภาวะ หรือเป็นผู้กระทำการอันเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมในด้านการทำงาน ด้านเศรษฐกิจ ด้านการศึกษาหรือฝึกอบรม ด้านสื่อสารมวลชน ด้านการเมือง ด้านสุขภาพและอนามัยการเจริญพันธุ์ ด้านครอบครัว ด้านเกษตรกรรมรวมถึงการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใด จะต้องได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนและมีโทษปรับไม่เกิน 120,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ คณะกรรมการ วลพ. มีอำนาจออกคำสั่งให้หน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชน บุคคลที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ด้วยวิธีที่เหมาะสม หรือให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการ เพื่อระงับและป้องกันมิให้เกิดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศได้อีกด้วย

ดังนั้นดิฉันจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ร่างกฎหมายที่กำลังเข้าสู่การพิจารณาในสภาฉบับนี้ จะได้รับการประกาศใช้เป็นกฎหมายอย่างที่ไม่ถูกแก้ไขเนื้อหาใจความสำคัญทั้งหมดที่ต้องดำรงอยู่เพื่อให้สามารถขจัดปัญหาการเลือกปฏิบัติทางเพศได้อย่างแท้จริง ขอให้พวกเราช่วยกันเฝ้าติดตามเรื่องนี้ร่วมกันนะคะ.

>> อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่  http://www.celeb-online.net