By Lady Manager
ผู้หญิงทุกคนย่อมรู้จัก ตาปลา เป็นอย่างดี ยิ่งสาวคนไหนที่โปรดปรานการใส่รองเท้าส้นสูงด้วยแล้ว ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “อุ้ยย ชั้นก็เป็นก้อนเเข็งๆ ตรงใต้เท้าเนี้ย” บางคนสะสมตาปลาเสียจนทั้งใหญ่ แข็ง และเจ็บ ..ถึงขั้นเดินไม่ไหว ต้องหาหมอรักษาเลยก็มี!
ยิ่งเวลาเดินแล้วเท้าบดกดทับบริเวณตาปลาจะเจ็บจี๊ดระบมขึ้นมาเชียว แต่จะให้ทิ้งส้นสูงลงกรุแล้วคว้าผ้าใบมาใส่แทนก็กระไรอยู่ ยังไง้ยังไงก็ไม่เข้าชุดกับกระโปรงสั้น ชุดเดรสพริ้วไหว หากสาวคนไหนพกพาความเตี้ยมาเต็มกระบุงด้วยแล้ว รองเท้าส้นสูงอาจเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่พวกเธอขาดไม่ได้
ดังนั้นขอสอบถามหาสาเหตุ วิธีแก้ไข ดูแลเท้าอย่างไรให้ไร้ตาปลาดีกว่ากับ แพทย์หญิงธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังและเวชศาสตร์ชะลอวัย โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท
“ตาปลา” โผล่ผุดสู่เท้าเพราะ?
ตาปลา เป็นก้อนของหนังขี้ไคลซึ่งเกิดจากการเสียดสีของผิวหนังเรื้อรัง พบบ่อยบริเวณฝ่าเท้าซึ่งรับน้ำหนักตัวจึงเกิดอาการเจ็บเวลาเดิน เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ใส่รองเท้าแคบเกินไป นิ้วเท้าผิดรูป การยืนนาน คนอ้วนทำให้น้ำหนักเกิดการกดทับ การเดินที่ผิดท่า การผ่าตัด นิ้วหัวแม่เท้าผิดรูป ตะเข็บรองเท้า เป็นต้น
“ตาปลา ไม่ใช่หูด ดังนั้นไม่เหมือนกันนะ คนจะชอบจับสลับกันระหว่างหูดกับตาปลา คนไข้บางคนบอกว่าตัวเองมาหาคุณหมอเพราะตาปลา แต่จริงๆ เป็นหูด ต้องแยกโรคก่อน หูดเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ดังนั้นจึงไม่เหมือนกันเลย อันหนึ่งคือ การติดเชื้อ ส่วนอีกอันเกิดจากการลงน้ำหนักเท้าไม่ถูก
ลักษณะยังไม่เหมือนกันด้วย ถ้าเราดูดีๆ ลักษณะตาปลาหนังจะเรียบๆ มีแกนตรงกลางเเข็งๆ เเน่นๆ ส่วนหูดจะมีความขรุขระอยู่ในตัวของมัน และจะมีเส้นเลือดเล็กๆ มาเลี้ยงเยอะ ถ้าเราไปตัดเนื้อบริเวณนั้นเลือดอาจจะออกได้
ตาปลา เกิดจากการที่เท้าลงน้ำหนักในตำแหน่งที่ปกติเราต้องลงกระจายทั่วฝ่าเท้า แต่เนื่องด้วยรูปเท้า หรือการใส่รองเท้าบางชนิด เช่น การใส่รองเท้าส้นสูงมากๆ จึงทำให้น้ำหนักลงเฉพาะทางด้านหน้าเยอะไป และลงเฉพาะบางจุดมากไป ทำให้ตรงจุดนั้นเกิดการหนาตัวขึ้นของผิวหนัง และพอหนาตัวขึ้นตำแหน่งเดียวมากเข้า ก็จะเกิดอาการเจ็บตามมา
อย่างไรก็จาม ต้องดูด้วยว่ารูปเท้าคนไข้ผิดปกติหรือเปล่า ถ้ารูปเท้าปกติก็ต้องดูว่าปกติใส่รองเท้าแบบไหนใส่รองเท้าที่ทำให้น้ำหนักกระจายไม่ทั่วเท้า กระจายผิดตำแหน่งต้องรีบแก้ที่สาเหตุก่อน” คุณหมอธิดากานต์ กล่าว
รูปร่างหน้าตาของตาปลา
ลักษณะหนังหนาและตาปลา ยังพบได้บริเวณซอกนิ้วนางและนิ้วก้อย ซึ่งมีการเสียดสีของหนังซึ่งทับกันระหว่างซอกนิ้วกับกระดูกนิ้ว นอกจากนี้ยังพบบริเวณฝ่าเท้าระหว่างโคนหัวแม่เท้ากับนิ้วชี้ และฝ่าเท้าบริเวณโคนนิ้วกลางและนิ้วนาง จากการสวมใส่รองเท้าหัวแหลมบีบนิ้วทั้ง 2 ข้างเข้าหากัน หนังฝ่าเท้าจะห่อเข้าหากันเกิดการเสียดสีเรื้อรังเมื่อเดินเป็นก้อนแข็งยาวตามร่องฝ่าเท้า และอาจมีตาปลาตรงกลางก้อนแข็ง ด้านบนของหลังเท้าบริเวณนิ้วนางก็พบตาปลาบ่อย เนื่องจากการสวมรองเท้าหัวแบน ผิวหนังบริเวณดังกล่าวเสียดสีกับรองเท้าซึ่งหุ้มหลังเท้า ส่วนผิวหนังหนาด้านข้างฝ่าเท้าบริเวณหัวแม่เท้าและนิ้วก้อย มักเกิดจากการสวมรองเท้าหลวมเกินไป
คุณหมอบอกว่า “ถ้าตรงตัวตาปลาเองไม่ได้ใหญ่อะไรมาก เราก็พยายามตัดหนัง ส่วนเกินออก จากนั้นทายาที่ช่วยให้บริเวณนั้นนุ่มขึ้น ช่วยในการผลัดเซลล์ผิว และแก้ในเรื่องรองเท้าจะช่วยได้ แต่ถ้าใหญ่มากบางครั้งก็ต้องตัดออกไป
ทว่าถ้ารักษาหายแล้วแต่คนไข้ยังกลับไปใส่รองเท้าแบบเดิมอีกก็ไม่มีวันหาย หรือถ้าเกิดจากกระดูกเท้าผิดรูปจริงๆ อาจจะต้องใช้รองเท้าพิเศษช่วย ตัดเป็นพิเศษสำหรับเท้าเขาโดยเฉพาะ ดังนั้นถ้าเกิดจากสาเหตุเท้าผิดรูป ต้องส่งไปคุณหมอด้านเท้าโดยเฉพาะ เขาก็จะสามารถตัดตัวรองเท้าที่สามารถช่วยปรับการกระจายน้ำหนักไหม่ให้ได้”
การรักษา
“ถ้าเป็นตาปลาขนาดเล็กคุณหมอมักให้ใช้ยาทา เป็นยากลุ่มที่ทำให้ผิวนุ่มช่วยผลัดเซลล์ผิว ส่วนวิธีการป้องกันอย่าพยายามใส่รองเท้าส้นสูงมาก ให้ใส่รองเท้าส้นเตี้ย หรือผ้าใบและควรใส่ถุงเท้าด้วย โดยเฉพาะวันไหนก็ตามที่เรารู้ตัวว่าต้องเดินหรือยืนนานๆ ถ้าเราใส่ส้นสูงกลับมาก็อาจจะกลายเป็นตาปลาด้วย
แต่ถ้าเป็นตาปลาขนาดใหญ่บางคนก็ใช้เลเซอร์ตัดออก ดังนั้นการผ่าตัดจึงมีทั้งด้วยมีดธรรมดาและเลเซอร์ แล้วแต่คุณหมอจะเลือกใช้วิธีไหน แต่หลักการเหมือนกัน เเค่อันหนึ่งใช้เลเซอร์ตัด และอันหนึ่งใช้มีดตัดเท่านั้นเอง” คุณหมอบอกวิธีรักษาตาปลา
ของฝากปิดท้าย
->สูตรอายุรเวทแก้ตาปลา
– กระเทียมสด ให้ฝานกระเทียมสดเป็นชิ้นหนาๆ แล้วนำมาถูบริเวณที่เป็น และแปะส่วนที่เหลือตรงตาปลา พันผ้าพันแผลทับ แล้วปล่อยไว้ข้ามคืน จึงค่อยแกะทิ้ง ทำซ้ำทุกคืน นานประมาณ 1-2 สัปดาห์ น้ำกระเทียมสดจะช่วยรักษาอาการที่เป็นอยู่ให้หายเร็วขึ้น หรือลองฝานมะนาวสดหรือสับปะรดหั่นเป็นชิ้นบางๆ มาแปะแทน ก็ช่วยรักษาอาการเหล่านี้ได้เช่นกัน
– น้ำมันสน ให้นำผ้าสำลีเนื้อนุ่มหรือผ้าขาวบางชุบน้ำมันสน แล้วแปะไว้บริเวณที่เป็น ช่วงก่อนนอน ทิ้งไว้ข้ามคืน ทำประมาณ 4-5 คืนติดต่อกัน วิธีนี้สามารถรักษาตาปลาได้อย่างด
– น้ำมันมะพร้าว 1 ถ้วยตวง น้ำมันการบูร 2 ช้อนโต๊ะ และน้ำมันสน 1 ช้อนโต๊ะ หากน้ำมันมะพร้าวเป็นไขให้นำมาอุ่นจนละลายก่อน แล้วจึงนำไปผสมกับน้ำมันอีก 2 ชนิดตามสูตร กวนให้เข้ากัน แล้วเทใส่ขวดแก้วเก็บไว้ ใช้ทาลงบนตาปลาวันละ 2 ครั้ง ทำเป็นประจำทุกวันเมื่อเริ่มเกิดอาการ
>> อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่ http://www.celeb-online.net