By Lady Manager
หลังได้ฝึกโยคะในที่ทำงานไปเมื่อสัปดาห์ก่อนแล้ว ผ่อนคลายหายเมื่อยกันบ้างหรือเปล่าคะ? หากทำแล้วอาการปวดเมื่อยดีขึ้น และเริ่มติดใจ การฝึกโยคะ ล่ะก็ เราขอชวนคุณมาจัดเต็มกันอีกขั้น กับท่าฝึกโยคะที่แม้จะยากขึ้นมาอีกนิด แต่รับรองว่าประโยชน์ล้นเหลือ !
“ท่าโยคะบางท่าทำให้เราขับถ่ายได้ง่ายขึ้นค่ะ เรื่องนี้เห็นผลจริงๆ เพราะเมื่อทำแล้ว ลำไส้ของเราจะบิด เหมือนเป็นการไปช่วยบีบลำไส้ ให้ขับของเสียออกมาหลังจากเล่นโยคะได้ เวลาสอนท่าเหล่านี้อยู่ เคยมีนักเรียนที่เล่นๆ อยู่ ขอตัวไปเข้าห้องน้ำก็มี”
คุณปุ๊ก-ภารุณี มุติวัฒนาสวัสดิ์ ครูสอนโยคะแห่ง Fitness World (โชคชัย 4) ผู้มีงานประจำเป็นถึง Brand Manager ของเสื้อผ้าแฟชั่นแบรนด์ดัง AIIZ Career อธิบาย
เพราะเธอยืนยันว่า การฝึกโยคะ (บางท่า) ช่วยเรื่องการขับถ่ายได้ดีนี่เอง จึงเป็นที่มาของโยคะเพื่อสุขภาพ ตอน2 ของเรา กับท่าโยคะที่ยังผลให้ระบบขับถ่ายของเสียในร่างกายของคุณทำงานได้ดีขึ้น
…แล้วจะช้าอยู่ใย มาลองฝึกกันเล้ย!!
ท่าแรก : Child’s Pose
ประเดิมท่าแรก ครูปุ๊กนำเสนอท่าที่ไม่ยากเย็น แต่ได้ประโยชน์แบบเน้นๆ ทั้งได้ยืดกล้ามเนื้อ สะโพก ต้นขา ข้อเท้า, ลดอาการอ่อนเพลีย-เครียด, บรรเทาอาการปวดหลังและคอ แถมช่วยเรื่องระบบย่อยอาหาร และระบบสืบพันธุ์ได้อีกด้วย
“ประโยชน์ของท่านี้นอกจากจะช่วยเรื่องระบบย่อยอาหาร ระบบสืบพันธุ์แล้ว ยังช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดของกล้ามเนื้อหลัง แก้ปวดเมื่อยหลังได้ด้วย ซึ่งท่านี้ถือว่าเป็นท่า Relaxing Pose หรือท่าสำหรับผ่อนคลาย ทุกครั้งที่ฝึกโยคะแล้วเกิดอาการเมื่อยล้า ผู้ฝึกสามารถพักในท่านี้ได้ทุกครั้ง”
วิธีฝึก
1. นั่งบนส้นเท้า โดยให้สะโพกวางลงบนส้นเท้าทั้งสองข้าง ปลายเท้าแยกออก แต่ส้นเท้าชิดกัน
2. เอนตัวไปข้างหน้า ก้มหน้าลงแนบพื้น เหยียดแขนทั้งสองข้างออกไปวางราบกับพื้น ทำค้างไว้สัก 30 วินาที
ท่าสอง : Ardha Matsyendrasana (Half Lord of the Fishes Posture)
โยคะท่า Ardha Matsyendrasana หรือท่าบิดตัวพับขานี้ นอกจากจะช่วยคลายกล้ามเนื้อคอ, ไหล่, หลัง และสะโพก ทำให้ลดอการปวดหลังได้แล้ว ครูปุ๊กของเราบอกอีกว่า ท่านี้ส่งผลดีต่อระบบขับถ่าย สาวคนไหนมีอาการท้องผูก อาหารไม่ย่อยหมั่นฝึกท่านี้ด่วน!
วิธีฝึก
1. นั่งบนพื้นเหยียดเท้าให้ตรง จากนั้นนำเท้าขวาสอดไว้ใต้ขาซ้าย ให้ส้นเท้าขวาอยู่ใกล้กับสะโพกซ้าย และเข่าขวาแนบพื้นไว้
2. ตั้งเข่าซ้ายให้ตรง ส่วนเท้าซ้ายวางแนบไปกับพื้นเต็มทั้งฝ่าเท้า
3. หายใจออก บิดตัวไปทางซ้าย มือซ้ายวางบนพื้น (ด้านหลังของตัว) โดยพยายามให้มือวางอยู่ในตำแหน่งกลางกระดูกสันหลัง ส่วนมือขวาจับหัวเข่าขวาเอาไว้
4. หันศีรษะไปได้ทั้งสองทิศทาง คือ อาจหันขวาค้างท่าไว้ แล้วหายใจเข้า-ออกให้ได้สัก 5 ครั้ง
ท่าสาม : Parivrtta Trikonasana
ท่านี้นอกจากจะช่วยยืดกล้ามเนื้อช่วงสะโพก ขา และหลัง ทำให้กล้ามเนื้อขาแข็งแรง ลดอาการปวดหลังได้แล้ว ยังช่วยกระตุ้นการขับถ่ายได้อีกแน่ะ!
วิธีฝึก
1. ยืนตรงเท้าชิด ให้ส้นเท้าและฝ่าเท้าตรงกัน เหยียดเข่าให้ตึง เกร็งกล้ามเนื้อต้นขาให้เข่ากระชับ เกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้อง ยืดอก หลังเหยียดตรงคอตั้งตรง ตามองตรงไปข้างหน้า วางแขนแนบลำตัว หายใจเข้า-ออกช้าๆ
2. แยกเท้าออก ยกแขนขึ้น และกางแขนออก จนขนานกับไหล่ คว่ำฝ่ามือลง
3. ก้มตัวลง พร้อมบิดเอวมาทางขวา วางมือซ้ายที่ด้านนอกของตาตุ่มขวา ถ้าวางไม่ได้อาจจะวางด้านในของตาตุ่มขวาก็ได้
4. เหยียดแขนขวาชี้ขึ้น ให้แนวแขนซ้ายและแขนขวาอยู่ในแนวเดียวกัน ตามองไปที่มือทางขวา ค้างท่านี้ไว้ 30 วินาที คลายท่าโดยการกลับไปยืนในท่าเริ่มต้น แล้วจึงเริ่มทำอีกข้าง (ทำสลับกันทั้งสองข้าง)
ท่าจบ : Savasana Corpose Pose
“ท่านี้เรียกอีกอย่างว่า ‘ท่าศพ’ เหมาะสำหรับการผ่อนคลาย และใช้เป็นท่าพัก ระหว่างการฝึกโยคะในแต่ละท่า เพื่อที่จะได้มีพลังในการฝึกท่าต่อไป รวมทั้งหลังฝึกทุกครั้งควรอยู่ในท่าศพก่อนเสร็จสิ้น โดยท่านี้จะทำให้เกิดการผ่อนคลายไปทั้งตัว รวมทั้งทำให้จิตใจสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน ช่วยลดอาการตึงเครียดของจิตใจ ฝึกบ่อยๆ จะช่วยลดอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัว นอนไม่หลับ ทั้งยังลดความดันโลหิตได้ด้วย” ครูปุ๊ก-ภารุณี อธิบายถึงประโยชน์ของท่านี้ และไม่ลืมที่จะอธิบายวิธีฝึกท่าศพมาให้ด้วยค่ะ
วิธีฝึก
1. เริ่มต้นให้นั่งบนพื้นชันเข่า ใช้มือสองข้างยันพื้นด้านหลัง ค่อยๆ เอนตัวลงนอนหงาย อาจจะหาหมอนขนาดพอเหมาะหนุนศีรษะก็ได้
2. เหยียดแขนกางออกเล็กน้อย ให้มืออยู่ระดับเดียวกับเอว ห่างจากสะโพกเล็กน้อย ส่วนขากางออกเล็กน้อย
3. หายใจเข้า-ออกยาวๆ ลึกๆ พร้อมกำหนดลมหายใจเข้า-ออกเพื่อไม่ให้จิตฟุ้งซ่าน
4. เกร็งกล้ามเนื้อแต่ละส่วนของร่างกาย โดยเริ่มที่อวัยวะส่วนล่าง คือ นิ้วเท้า เกร็งไว้ 5-6 วินาที แล้วผ่อนคลาย จากนั้นเปลี่ยนมาเกร็งกล้ามเนื้อขา, เข่า, ต้นขา, สะโพก, หน้าท้อง, ทรวงอก, แขน, มือ, นิ้วมือ ไล่ขึ้นสูงเรื่อยๆ จนถึงหัวไหล่ คอ และใบหน้า
กูรูแนะ => ผู้ฝึกโยคะหน้าใหม่
– ไม่ควรฝึกโยคะ ขณะที่หิวหรืออิ่มเกินไป และควรแต่งกายด้วยเสื้อผ้าหลวมๆ หรือยืดหยุ่นได้ รวมถึงไม่สวมเครื่องประดับ แว่นตา นาฬิการ ฯลฯ ขณะฝึก
– พยายามสละเวลาให้กับการฝึกโยคะ อย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมง ที่สำคัญ การฝึกแต่ละท่า ให้ทำเท่าที่ร่างกายตัวเองสามารถทำได้ อย่าไปเปรียบเทียบว่าต้องทำให้ได้อย่างคนอื่น ใจเย็นๆ ค่อยฝึกฝน อย่ารีบเร่ง หรือหักโหมจนเกินไป
– หากเกิดอาการเจ็บปวดในระหว่างฝึกให้หยุดฝึกทันที
ขอบคุณ ! THE YOGA PLACE ทองหล่อ โทร.02-7147851 เอื้อเฟื้อสถานที่ถ่ายทำ
>> อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่ http://www.celeb-online.net