Celeb Online

อาหารที่กินกันบ่อยๆ อาจทำให้คุณเดี้ยงได้ง่ายๆ

By Lady Manager

สถาบันวิทยาศาสตร์ The Center for Science in the Public Interest แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ได้จัดอันดับอาหารที่ประชาชนนิยมรับประทาน ว่าอาหารใดบ้างที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อปนเปื้อน และทำให้เกิดความเจ็บป่วยได้ง่าย

โอกาสนี้ เราจึงคัดมาเฉพาะอาหารที่บ้านเราก็ฮิตกิน โดยหารู้ไม่ว่ามักมีสารปนเปื้อนซึ่งก่อให้เกิดภัยต่อสุขภาพได้

ไข่ดิบ

อาหารยอดฮิตอย่าง “ไข่” ถูกระบุว่า มีส่วนเชื่อมโยงกับการเกิดโรคระบาดว่า 352 ครั้ง ตั้งแต่ปีคศ.1990 โดยส่วนใหญ่พบว่า ไข่ดิบมักปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียซัลโมเนลลา (Salmonella) ที่ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ ร่วมกับท้องเสีย

แต่เชื้อแบคทีเรียซัลโมเนลลาที่แฝงอยู่ในไข่ดิบ ก็สามารถทำลายได้ด้วยความร้อน ดังนั้นการต้มหรือปรุงให้สุก รวมถึงหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไข่ดิบ จึงเป็นกุญแจสำคัญ ที่จะทำให้คุณห่างไกลจากเชื้อโรคดังกล่าว

“ในทุกๆ 3-4 พันคน จะมี 1 คนที่ป่วยด้วยเชื้อซัลโมเนลลาจากการรับประทานไข่ดิบ” ศาสตราจารย์ Craig Hedberg แห่งมหาวิทยาลัย University of Minnesota School of Public Health ระบุ

ปลาทูน่า

หากปลาทูน่าสดถูกเก็บเอาไว้ในที่ซึ่งมีอุณหภูมิสูงกว่า 60 องศาเซลเซียส เนื้อปลาจะเกิดสารพิษสคอมโบรท็อกซิน (Scombrotoxin) หรือฮิสตามีน (antihistamine) ที่เป็นสารพิษซึ่งก่อให้เกิดอาการแพ้ในลักษณะต่างๆ เช่น ผื่นคัน, คลื่นไส้, อาเจียน, และท้องเสีย

ทั้งนี้มีการระบุว่าปลาทูน่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเกิดโรคระบาด อันเกิดจากสารสคอมโบรท็อกซินมาตั้งแต่ปีคศ.1990

“สคอมโบรท็อกซินเป็นสารพิษที่ทนความร้อนได้ อาหารที่มีสารพิษดังกล่าวอยู่จะดูได้ค่อนข้างยาก เพราะกลิ่นและรสชาติอาหารจะไม่แปลกไปจากปกติ และแม้ว่าตัวเชื้อแบคทีเรียที่สร้างสารพิษสคอมโบรท็อกซินจะถูกทำลายได้ด้วยความร้อน แต่สารพิษที่เกิดขึ้นในอาหารแล้วจะยังคงอยู่ ดังนั้นต่อให้ปรุงทูน่าจนสุก ก็ไม่สามารถทำลายสารพิษสคอมโบรท็อกซินนี้ได้” Sarah Klein คณะทำงานด้านอาหารปลอดภัยของสถาบัน The Center for Science in the Public Interest ให้ข้อมูล

หอยนางรม

ก่อนจะนำมาเสิร์ฟเป็นอาหารอันโอชะของคุณ เจ้าหอยนางรมต้องอยู่ในมหาสมุทร ซึ่งคุณก็ไม่อาจรู้ได้เลยว่า กว่าหอยนางรมตัวนั้นจะมาถึงปากคุณ มันเกิดการปนเปื้อนในทะเลหรือระหว่างขนส่ง..มามากน้อยเพียงใด

การรับประทานหอยนางรมดิบ หรือหอยนางรมที่ปรุงไม่สุกเต็มที่ มีความเสี่ยงที่คุณอาจได้รับเชื้อโนโรไวรัส (Norovirus) ซึ่งเป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อในกระเพาะอาหาร จนมีอาการท้องร่วง อาเจียนและปวดท้องอย่างรุนแรง รวมถึงยังอาจได้รับเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มวิบริโอ (Vibriosis) ที่สามารถทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสียได้อีกด้วย

ไอศกรีม

ไอศกรีมหวานเย็นเจี๊ยบชื่นใจ ของโปรดของหลายต่อหลายคน ถูกสถาบันวิทยาศาสตร์ The Center for Science in the Public Interest ระบุว่า เป็นตัวการก่อให้เกิดการระบาดของโรคถีง 75 ครั้ง (ตั้งแต่ปีคศ.1990) โดยมีการพบว่า ไอศกรีมมีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียอย่าง ซัลโมเนลลา และ สแตฟฟิโลค็อกคัส (Staphylococcus)

การระบาดของโรคติดเชื้อครั้งใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นในปีคศ.1994 เมื่อวัตถุดิบที่ใช้ผลิตไอศกรีมถูกขนส่งมากับรถบรรทุกที่ปนเปื้อนเชื้อซัลโมเนลลา และเมื่อวัตถุดิบดังกล่าวนำไปผลิตเป็นไอศกรีม เชื้อโรคจึงแพร่ระบาดไปยังผู้บริโภคไอศกรีมในที่สุด

ศาสตราจารย์ Craig Hedberg อธิบายว่า การปนเปื้อนในไอศกรีม เกิดจากการนำวัตถุดิบที่ไม่สะอาดมาผลิต และการทำไอศกรีมทานเองด้วยการใช้วัตถุดิบที่ไม่ปลอดภัย เช่น ไข่ดิบ ก็มีความเสี่ยง

“คนที่ทำไอศกรีมทานเองที่บ้าน โดยใช้ไข่ดิบ ถือเป็นเรื่องที่ต้องระวัง เพราะนั่นอาจทำให้เกิดการปนเปื้อนขึ้นได้”

มะเขือเทศ

แม้ว่าในปีคศ.2008 ในช่วงที่โรคระบาดจากผักได้แพร่กระจายไปหลายประเทศ จนทำให้มีผู้ป่วยนับพันนั้น “มะเขือเทศ” จะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง (ครั้งนั้นมีการค้นพบว่า ผู้คนติดเชื้อมาจาก “พริก”)

ทว่าหน้าร้อนแบบนี้ ก็ถือเป็นช่วงสำคัญ ที่โรคระบาดจากผักจะกลับมาเยือน

“ผักกาดหอมและมะเขือเทศมีโอกาสเกิดการปนเปื้อนได้สูง แต่คุณก็สามารถป้องกันเชื้อโรคที่ติดมาจากผัก ไม่ให้แพร่พันธุ์ หรือมาทำร้ายคุณได้” ศาสตราจารย์ Craig Hedberg กล่าว พร้อมให้คำแนะนำการป้องกันเชื้อโรคจากผักมาว่า

# ควรล้างมือเป็นเวลา 20 วินาที ด้วยน้ำอุ่นและสบู่ ทั้งก่อนและหลังหยิบจับผักผลไม้สด

# พยายามล้างผักให้สะอาดก่อนรับประทาน รวมถึงหากเป็นไปได้ก็ควรที่จะปอกเปลือกผักผลไม้ก่อนรับประทาน

# ควรแยกเก็บผักผลไม้ดิบ ไม่ให้ปนกับอาหารชนิดอื่นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคจากพืชผักแพร่กระจายไปสู่อาหารชนิดอื่น

เรียบเรียงจากเฮลธ์ดอทคอม
 

>> อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่  http://www.celeb-online.net