Celeb Online

10 บัญญัติป้องกันไข้หวัดอูฐ(เมิร์ส-คอฟ)/นพ.กฤษดา ศิรามพุช

โดย นพ.กฤษดา ศิรามพุช

เมื่อพูดถึงเชื้อโรคทางเดินหายใจชื่อ “โคโรน่าไวรัส” หลายท่านอาจไม่เห็นภาพ แต่ถ้าพูดว่ามันคือ เชื้อโรคเดียวกับ “ซาร์” ที่เป็นเชื้อมรณะ หรือถ้าบอกว่ามันคือ เชื้อที่ระบาดในตะวันออกกลางช่วงไม่กี่ปีมานี้เอง

ยังพอนึกออกบ้าง

ซึ่งชื่อทางวิชาการที่ถูกเรียกกันของเชื้อที่พบในเกาหลีใต้จนเป็นที่ฮือฮากันตอนนี้ก็คือ “เมิร์ส-คอฟ (MERS-CoV) ซึ่งเป็นคำย่อของโคโรน่าไวรัสพบใหม่ที่ว่า โดยเชื้อนี้ติดมาไกลจากแถบตะวันออกกลางแถวคาบสมุทรอาระเบีย ซึ่งผู้ที่เดินทางไปแถบนั้นมาต้องระวังให้ดีครับ

เชื้อเมิร์ส-คอฟพบในค้างคาว กับอีกสิ่งมีชีวิตหนึ่งที่พบแอนติบอดี้ในเลือดคือ “อูฐ” จึงมีการให้ระวังการติดเชื้อผ่านทางน้ำมูกน้ำลายของสัตว์มีหนอกที่ว่า ซึ่งท่านที่มีกิจกรรม meet and greet กับอูฐโดยเฉพาะต้องสัมผัสอูฐ,ขี่อูฐ, เล่นอูฐ, เซลฟี่อูฐ ฯลฯ รวมถึงบริโภคนมอูฐดิบด้วยย่อมมีสิทธิ์ติดเชื้อนี้มา เนื่องด้วยเรื่องนี้มีอูฐเป็นปฐมและผลิตผลอันได้แก่ น้ำลายอูฐเป็นมัธยม

จึงขอเรียกโรคนี้ให้สะดวกลิ้นแบบไทยๆ ว่า “ไข้หวัดอูฐ”

เมิร์ส-คอฟ = ไข้หวัดอูฐ ไม่น่าตกใจแต่ให้ระวัง

กลุ่มบุคคลที่ต้องดูแลตัวเองจากไข้หวัดอูฐคือ ผู้ที่ต้องเดินทางไปตะวันออกกลาง, นักธุรกิจ, นักท่องเที่ยว รวมถึงพี่น้องชาวมุสลิมที่จะไปแสวงบุญ ควรต้องทราบเรื่องราวของไข้หวัดอูฐนี้ไว้เพื่อประโยชน์ในการป้องกัน

มีสิ่งสำคัญที่ไข้หวัดอูฐต่างจากไข้หวัดธรรมดาทั่วไปอยู่ 2-3 ประการดังนี้

หลอกให้ตายใจ ในตอนแรกอาการแยกยากจากไข้หวัดธรรมดา อาจพาให้เราป่วยจนสายไปได้

ทำร้ายปอด ไข้หวัดอูฐทำให้มีอาการปอดติดเชื้อ, ไตวาย, เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ และระบบหายใจล้มเหลวได้

จอดสนิท มีสิทธิ์ถึงตายได้ ในข้อมูลที่ผ่านมาพบมีผู้ติดเชื้อเสียชีวิตราว 30%

เมื่อทราบความไม่ธรรมดาของมันแล้วครานี้ก็มาถึงการป้องกัน เพราะมันยังไม่อาจป้องกันได้ด้วยวัคซีนใดๆ ดังนั้น WHO จึงเน้นวิธีเฝ้าระวัง และป้องกันตัวเองเป็นหลัก

ดังจะขอสรุปมาฝากไว้เป็นธรรมนูญป้องกันภัยที่กำลังดัง

>>10 ทางออกให้ไกลไข้หวัดอูฐ

1) ระวังอูฐ ท่านที่เดินทางไปตะวันออกกลางแล้วมีเหตุให้สัมผัสอูฐทั้งขี่อูฐ, ถ่ายรูปกับอูฐ หรือไปเยี่ยมชมอูฐ

ขอให้ระวังของแถมจากอูฐทั้งน้ำมูก, น้ำลาย และน้ำนมที่เป็นผลผลิตจากอูฐที่มีสิทธิ์ปนเปื้อนเชื้อมาติดเราได้ จำได้ว่าเคยเห็นในแถบตะวันออกกลางมีช็อคโกแลตนมอูฐจำหน่ายด้วยครับ

2) จับตาโรงพยาบาล การป้องกันที่ดีอีกเรื่องคือ เฝ้าระวังผู้ป่วยตั้งแต่ที่โรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ต้องแม่นยำในอาการของโรคนี้

โดยเฉพาะ “น้ำมูก” กับ “เจ็บคอ” เพราะคล้ายกับหวัดธรรมดา และเริ่มแรกทีเดียวไม่จำเป็นต้องมีไข้

3) ถามอาการและประวัติ สิ่งที่ควรถามคือความเสี่ยงโดยประวัติ “การเดินทาง” สำคัญมาก

หากเคยเดินทางไปในประเทศที่เสี่ยงเชื้อโดยเฉพาะแถบตะวันออกกลาง และประเทศที่มีรายงานการติดเชื้อ และมีอาการคล้ายเป็นไข้หวัดหลังจากนั้น ก็จะได้ระมัดระวังและแยกผู้มีประวัติไว้ก่อน

4) หวัดให้ห่าง เนื่องจากอาการหวัดอูฐช่วงแรกกับหวัดทั่วไปไม่ต่างกัน แต่จะติดกันได้ถ้าอยู่ “ใกล้ชิด” กันมากเช่นนั่งคุยใกล้กัน,ทำกิจกรรมในกลุ่มเดียวกัน

ดังนั้นถ้าไม่แน่ใจ ขอให้เลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดที่เสี่ยงกับการได้รับสารคัดหลั่งจากการไอ, จาม, และสั่งน้ำมูก

5) ล้างมือบ่อย ยังคงใช้ได้เสมอเพราะมือคือ แหล่งพาเชื้อโรคที่มีประสิทธิภาพสูง

การล้างมือจนเป็นนิสัยจึงมีส่วนช่วยได้มาก นอกจากนั้นการ “ทักทาย” ก็สำคัญ ให้เลี่ยงทักทายแบบสัมผัสเช่นจับมือหรือกอดจูบถ้าไม่แน่ใจ

6) ไม่ปล่อยตัว กลุ่มคนพิเศษที่ต้องเฝ้าดูแลไม่ปล่อยตัวเองให้เสี่ยงได้แก่ ผู้สูงวัย, เด็กเล็ก, คุณแม่ตั้งครรภ์
และมีโรคประจำตัว อย่าง เบาหวาน,โรคปอด, หัวใจ,ไต, ตับ, มะเร็ง, ภูมิไม่ดี, และผู้ที่กินยากดภูมิคุ้มกัน

7) เสริมภูมิให้ดี การจะสู้กับโรคที่ยังไม่มียารักษาทางหนึ่งที่ดีคือ “ทำตัวให้แข็งแรง”

ซึ่งทางหนึ่งของการเสริมภูมิกายให้เป็นภูมิแกร่งง่ายๆ คือ พักผ่อนให้พอ, นอนไม่ดึก, และถ้ามีโรคประจำตัวก็ขอให้คุมไว้ให้สงบดี

8) หนีแหล่งคนเยอะ ที่ใดมีมนุษย์ชุมนุมอยู่มากก็ย่อมมีสิทธิ์ที่เชื้อโรคจะมาชุมนุมกันอย่างพร้อมเพรียงเช่นกัน

ยิ่งกับโรคที่ติดง่ายผ่านความ “ใกล้ชิด” เช่น ไข้หวัดอูฐ การที่ต้องอยู่กับมวลมหามนุษย์ จึงเป็นความเสี่ยงหนึ่ง จึงควรเลี่ยงกิจกรรมในสถานที่คนเยอะโดยเฉพาะในประเทศที่มีไข้หวัดอูฐอยู่

9) เลี่ยงสัมผัส การถูกเนื้อต้องตัวกันในบริเวณที่เสี่ยงได้รับสารคัดหลั่งจากคนป่วยเช่นฝ่ามือ, แก้มและตามตัวอาจติดโรคได้

โดยเฉพาะหลังจากการไอ, จามที่พาเชื้อผ่านน้ำมูก, น้ำลายเข้ามาประปรายตามตัวโดยที่มองไม่เห็น ซึ่งการทักทายก็เป็นทางหนึ่งที่ติดได้ โดยเฉพาะการจับมือหรือสวมกอดผิดกับการไหว้ ซึ่งไม่ต้องสัมผัส

10) สังเกตหวัดไม่ธรรมดา ขออย่าลืมว่าหวัดอูฐไม่ได้น่าสะพรึงอย่างที่คิด เพียงแต่เราต้องรู้ให้ทันมันเท่านั้น

โดยให้สังเกตจากอาการหวัดที่ดูไม่ธรรมดาอาทิ มีไอ และหอบเหนื่อย ปวดเมื่อยตัว ช่วงหลังๆ ดูไม่สบาย “หนัก” กว่าหวัดทั่วไป ซึ่งถ้าสงสัยเชื้อเมิร์ส-คอฟไข้หวัดอูฐนี้ก็สามารถตรวจได้ครับ

สุดท้ายนี้ถ้าอ่านดีๆ จะเห็นว่าไม่ได้น่าตกใจจนเกินไปนะครับสำหรับโรคนี้ เพียงแค่ว่าต้องไม่ประมาท ควรเฝ้าระวังไว้ทุกด่านที่จะเจอผู้ป่วยอย่างเต็มความสามารถ โดยเฉพาะสถานพยาบาลที่จะต้องให้บุคคลากรมีความรู้พร้อมในเรื่องไข้หวัดอูฐนี้จะได้ช่วยกันคัดกรองได้ ให้คอยติดตามข่าวสารจากทางการอยู่เรื่อยๆ รวมถึงทางนี้ก็จะคอยนำมาเล่าให้ฟังอย่างง่ายๆ อยู่ตลอดไม่ต้องกังวลไปครับ

ขอให้สร้างภูมิคุ้มใจเราไว้ด้วยนะครับ
* ช่วยคลิก Like ด้วยนะคะ เพื่อเป็นแฟนเพจ Lady Manager รับข่าวสารแซ่บๆ ของผู้หญิงในแวดวงสุขภาพความงาม แฟชั่น และความสัมพันธ์ (**)

 

>>
อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่ 
 http://www.celeb-online.net