Celeb Online

“อดอาหารแล้วหน้าเด็ก” จริงหรือเท็จ?/นพ.กฤษดา ศิรามพุช

โดย นพ.กฤษดา ศิรามพุช

ความหิวส่งผลกระตุ้นต่างกันออกไปในแต่ละคน ยามล่วงเลยเวลากินไปนานพาให้หลายท่านอารมณ์เสียหงุดหงิดพาลตาขวางเห็นช้างเท่าหมู บางท่านรู้สึกหน้ามืดใจหวิวหรือแสบท้อง ซึ่งดูแล้วส่วนใหญ่เป็นผลไม่พึงปรารถนาเสียทั้งสิ้น

แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป

ขอให้คิดง่ายๆ ว่ากลไกที่ธรรมชาติสร้างให้เราย่อมไม่ให้แต่ของแย่มาแน่ๆ อย่างน้อยความหิวก็ช่วยกระตุ้นสัญชาตญาณ “เอาชีวิตรอด” ซึ่งตรงจุดนี้ไม่ได้กระตุ้นเพียงแค่ให้เดินไปสั่งผัดกะเพราหน้าปากซอย

แต่ปลุกแรงไปจนถึงระดับดีเอ็นเอ

มีอิทธิพลถึงการแสดงออกของยีน (gene expression) ที่เกี่ยวข้องในระดับเซลล์ และสิ่งที่เล็กลงไปกว่าเซลล์ภายในอีกครับ เพราะในร่างกายคนเรามียีนนานาชนิด ซึ่งหนึ่งในกลุ่มยีนนั้นก็คือ “ยีนอายุยืน(Longevity gene)” ที่ถ้ารู้วิธีปลุกมันดีๆ ก็จะช่วยให้อายุขัยยืนยาวขึ้น

แต่การ “อดบำบัด(Calorie Restriction)” ที่ว่าไม่ใช่ตั้งหน้าอดเอาจนหน้าแห้งนะครับ สำหรับการอดแบบกินมื้อเดียวราวกับพระท่าน “ฉันเอกา” ดังที่แชร์กันมาในโซเชียลนี้ก็อาจไม่เหมาะกับหลายคน ด้วยการอดประเภทที่มีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์รับรองนั้น มีขั้นตอนอยู่ครับ

โดยเมื่อดูไปท่านจะเห็นว่าสูตรการอดอาหารในโลกนี้มีอยู่มาก นอกจากที่เห็นในโซเชียลแล้ว ที่ดังๆ ก็มีการ “อดวันเว้นวัน(Alternate-day fasting,ADF)” หรือกินๆ หยุดๆ (Intermittent fasting) ที่มนุษย์โลกหลายคนใช้ แต่ไม่ว่าจะเป็นวิธีใดก็ตามในทางอายุรวัฒน์แล้วจะต้องนำข้อมูลในทุกด้านมาเล่าทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งในครั้งนี้ขอนำรายละเอียดจากผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ดมาเล่าให้ฟังก่อน

เพื่อเป็นข้อมูลรอบด้านให้ท่านตัดสินใจครับ

ข้อดีที่ช่วยได้

1) ช่วยร่างกายไม่เสื่อมเร็ว ข้อนี้เป็นไปตามกฏของความเสื่อมแห่งร่างกายข้อหนึ่งที่ว่าของเสียสะสมทำให้แก่เร็ว (Waste accumulation theory) ซึ่งของเสียนั้น

ส่วนหนึ่งก็มาจากกระบวนการเผาผลาญสารอาหารในแต่ละเซลล์ของเรานั่นเอง เหมือนกับเครื่องยนต์ที่ต้องกินน้ำมันเครื่องแล้วให้ไอเสียออกมา

ร่างกายที่ได้รับสารอาหารก็ย่อมมี “ขยะ(Oxidative stress)” ออกมาจนทำให้ตัวเราเสื่อมได้

2) ช่วยใช้ไขมันในตัว ข้อนี้เป็นเรื่องเข้าใจง่าย ขอให้นึกถึงเวลาอดอาหาร เราจะรู้สึกหิว แต่ก็ยังมี “แรง” นั่นเป็นเพราะหลังอดกินไปเพียง 8 ชั่วโมงร่างกายจะดึงเอาน้ำตาลที่เก็บอยู่ในตับกับกล้ามเนื้อมาใช้ เหมือนกับเราถอนเงินเก็บมาใช้ให้ชนเดือนครับ

แล้วจากนั้น ถ้ายังไม่มีอาหารตกถึงท้อง มันก็จะเขยิบไปใช้เงินก้อนใหญ่ขึ้นในคลังก็คือ “ไขมัน” จึงช่วยให้ระดับไขมันลดลงได้ด้วย

3) ช่วยล้างพิษ ผู้เชี่ยวชาญท่านว่าเพราะส่วนหนึ่งของสารพิษเก็บอยู่ในไขมันที่พอกพูนตัวเรา ดังนั้นเมื่อร่างกายพยายาม “ถอน” ไขมันมาใช้ก็เท่ากับสลายเอาสารพิษนั้นออกมาด้วย

นอกจากนั้นยังช่วยลดเคมีแก่และเสี่ยงเบาหวานอีกตัวหนึ่งคือ “อินสุลิน” ลงได้ แต่ตรงนี้ขออนุญาตเสริมไว้ว่าต้องระวังว่าถ้ามากเกินไป จะทำให้เกิดอาการจากสารพิษที่หลุดออกมาได้ด้วย

ดังนั้นการอดจึงต้องทำแต่พอดีไม่เช่นนั้นจะโทรมและดู “แก่” แทนได้

4) สร้างสารสุข ในบางกรณีการอดอาหารร่วมกับการออกกำลังกาย อาจทำให้ร่างกายหลั่ง “เอนดอร์ฟิน (B-endorphin)” คือสารสุขออกมาได้

ดังจะสังเกตได้จากผู้ที่บำเพ็ญเพียรในหลายศาสนาที่จำกัดการบริโภคจนเหลือเพียงน้อย แต่ร่างกายก็ยังแข็งแรงดี ที่สำคัญคือ ยังดูสดชื่นทั้งในสีหน้า, แววตา และการใช้ชีวิตครับ

นอกจากนั้นเคมีหนุ่มสาวที่สำคัญคือ “โกรทฮอร์โมน (Growth hormones)” ก็ยังเพิ่มระดับขึ้นด้วย

5) ช่วยภูมิคุ้มกัน เรื่องนี้มีการศึกษาตีพิมพ์ในวารสาร Cell Stem Cell พบปรากฏการณ์น่าอัศจรรย์ในทางชีววิทยาว่า

ร่างกายที่อดอาหารไประยะหนึ่งแล้วทำเช่นนี้เป็นระยะเช่นทุก 6 เดือน จะมีการปรับตัวในแง่ภูมิคุ้มกันโดยการนำเอาเซลล์สร้างภูมิต่างๆ ทั้งที่ชำรุด หรือเป็นเซลล์แก่ไป “รีไซเคิล” แล้วผลิตเซลล์ใหม่สดที่แข็งแรงออกมาเหมือนกับกดปุ่มรีเซ็ตร่างกายยังไงยังงั้น

6) ช่วยมะเร็ง นอกจากสร้างภูมิแล้ว ทีมผู้เชี่ยวชาญยังพบว่าการอดอาหารก่อนหน้าให้ยา “เคมีบำบัด” เป็นเวลา 3 วัน ยังช่วยปกป้องการถูกทำลายของเซลล์ภูมิคุ้มกันจากยาเคมีบำบัดที่มีฤทธิ์แรงได้ด้วย

สรุปด้วยภาษาง่ายๆ คือ การอดอาหารอย่างเหมาะสม ช่วยให้ร่างกายได้ล้างไพ่ฟื้นฟูตัวเองใหม่กำจัดเซลล์เก่าและแก่ออกไป แล้วเปิดทางให้เซลล์ที่สดใหม่กว่าเข้ามาแทนครับ

>>ข้อควรระวัง ความเสี่ยงจากการอดอาหาร

1) ขาดน้ำ จากการสำรวจโดย NHS ของประเทศอังกฤษพบว่าคนที่อดอาหารบ่อยนั้น จะมีปัญหา “ขาดน้ำ(Dehydration)” ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่

ใช่แค่ปากแห้งหิวน้ำอย่างเดียว

เพราะร่างกายที่ขาดน้ำ อาจเจ็บป่วยได้สารพัดตั้งแต่ปวดหัว, นอนไม่หลับ, หงุดหงิด ไปจนถึงช็อคหมดสติ

2) ซ้ำเติมกรดไหลย้อน การศึกษาชี้ว่าคนที่อดอาหารอาจเพิ่มความเสี่ยงอาการแสบร้อน(Heartburn) จากกรดไหลย้อนได้

หรือพูดง่ายๆ ว่าน้ำย่อยที่ออกมามาก ขณะที่เกิดอาการหิวแล้วไม่ได้กินหรือได้กลิ่นอาหารแสนโอชะลอยมา อาจพาให้สมองสั่งการผลิตน้ำย่อยมากจน “ล้น” แล้วเกิดแสบท้องขึ้นมาได้

3) น้ำหนักลดเพราะน้ำหาย หลายคนเชื่อว่าการอดอาหารเป็นระยะ จะช่วยลดอ้วนได้เร็วดี แต่ที่จริงวิธีนี้ไม่ใช่ทางลัดดังที่เราคิดกัน

เพราะผู้เชี่ยวชาญท่านบอกว่าน้ำหนักช่วงแรกที่ลดจนน่าประทับใจนั้น คือ “น้ำ” ที่แห้งหายไปจากตัวเรา ซึ่งศูนย์ลดน้ำหนักที่มหาวิทยาลัยพิทสเบิร์กได้ชี้ว่า น้ำหนักที่หายไปเร็วก็กลับมาเร็วเช่นกันครับ

4) เพิ่มเสี่ยงกินดุ การอดอาหารตะพึดตะพืออาจพาให้กลับมากินอุตลุดได้ ซึ่งในเรื่องนี้ผู้เชี่ยวชาญโภชนาการชี้ว่า การอดเป็นระยะ (Intermittent fasting) อาจมีผลต่อจิตใจ

โดยเฉพาะในคนที่มีปัญหาทางจิตเวชเรื่องกินผิดปกติ (Eating disorder) อยู่แล้ว อาจ “ซ้ำ” ให้เกิดอาการหนักขึ้นจนแย่มากกว่าดีได้

: 4 กฎเหล็กเช็คตัวเอง ว่าอยู่ในกลุ่มต้องห้าม(อด)

1. เด็กกว่า 18 ปี เป็นเด็กและวัยรุ่นที่ร่างกายต้องเติบโตมีพัฒนาการ

2. คุณแม่ตั้งครรภ์ Mother to be ทั้งหลายไม่ควรอดอาหาร เพราะมีผลกับลูกน้อยในท้อง

3. ป่วยเบาหวาน โดยเฉพาะเบาหวานชนิดที่ 1 (ต้องพึ่งอินสุลิน)

4. หลังผ่าตัด ขอเสริมผู้ที่เพิ่งฟื้นจากอาการป่วยต่างๆ ขอให้เว้นไว้ก่อน
* ช่วยคลิก Like ด้วยนะคะ เพื่อเป็นแฟนเพจ Lady Manager รับข่าวสารแซ่บๆ ของผู้หญิงในแวดวงสุขภาพความงาม แฟชั่น และความสัมพันธ์ (**)

 
>> อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่  http://www.celeb-online.net