โดย นพ.กฤษดา ศิรามพุช
เราเห็นคนเยอรมันชอบดื่มเบียร์ ชาวไอริชชีวิตเฮฮาชอบกินมันฝรั่งจิบกินเนส ส่วนพี่ไทยเราสบายๆใจดี—มีความสุขร่วมกับเขาได้ทุกชาติ ซึ่งธรรมดาของที่ดูคุ้นเคยถึงขั้นประจำชาติเช่นนี้ใช่ว่าคนที่บริโภคหรือใช้มันอยู่บ่อยจะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญไปด้วยนะครับ ก็เหมือนกับปลาที่ว่ายอยู่ในน้ำก็ใช่จะกลายเป็นเจ้าสมุทรได้สักหน่อย
เชี่ยวชาญกินกับใช้น่ะใช่
แต่ใช่ว่าจะต้องใช้ถูกเสมอไปแม้จะเป็นของประจำที่ใช้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่เว้นแม้ของสำคัญใกล้ตัวอย่างยาหรือว่าของใช้กับผิวอย่าง “ครีมกันแดด” ที่หลายท่านใช้อยู่ประจำไม่มีขาด
ก็อาจพลาดบางจุดได้—เป็นเรื่องแสนจะธรรมดา
ไม่ใช่เรื่องผิดพลาดแต่อย่างใดครับ เพราะคนเราใช่จะต้องทราบหมดทุกอย่างที่เราคุ้น ไม่เช่นนั้นก็ต้องรู้ว่าขนคิ้วมีข้างละกี่เส้นหรือดาวบนฟ้าที่เห็นอยู่ทุกคืนมีทั้งหมดกี่ดวง
ไม่มีใครล่วงรู้ได้ทุกสิ่งหรอกครับ
ดังนั้นทางออกง่ายๆ คือ เรียนรู้ไปเรื่อย ซึ่งเป็นคุณสมบัติของมนุษย์ที่ฉลาด ซึ่งต่อไปจะสามารถปรับตัวแล้วใช้โอกาสนั้นในการพลิกชีวิตตัวเองได้ เช่นเดียวกับ การใช้ผลิตภัณฑ์กันแดด ให้ถูกที่จะช่วยถนอมทั้งผิวให้ไกลรอยย่นและช่วยให้ไม่เสี่ยงกับมะเร็งผิวหนังจากแสงแดด
>>แต่ก่อนอื่นต้องเลี่ยงการใช้แบบผิดๆ ต่อไปนี้ครับ
1) รอออกข้างนอกก่อนถึงทา ขออย่าคิดว่าครีมกันแดดเหมือนร่มกันฝนที่กางปุ๊บกันปั๊บ เพราะมันต้องอาศัยเวลาในการ “ดูดซึม” และเข้าไปป้องกันผิวของเราจากแสงยูวีก่อน
ซึ่งเรื่องนี้ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์การแพทย์เมาท์ไซนายแนะว่าให้วางมัดจำผิวไว้ก่อน โดยการทาล่วงหน้าสัก 30 นาทีครับ
2) ทาหลังใส่ชุดแล้ว ท่านผู้อ่านลองจินตนาการถึงคนที่ใส่ชุดเต็มยศแล้วค่อยๆ หยอดครีมกันแดดบรรจงทาลงตรงส่วนนอกร่มผ้าอย่างทุลักทุเล เพราะกลัวเสื้อเปื้อนหรือทูพีซว่ายน้ำเลอะสิครับ แค่คิดยังยุ่งในหัวแล้วเวลาทาจริงจะ “บอด” ในบางจุดไป เช่น กลางหลัง หรือหลังต้นขา
ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ให้ทางออกง่ายๆ ว่าทาก่อนแต่งตัวในชุดวันเกิด ก็จะช่วยแก้ปัญหาได้—เอ้อ แล้วก็แต่งตัวต่อนะครับ
3) ลืมทาริมฝีปาก อยากบอกว่าปากของเราทุกคนไม่ว่าจะมีความประทับใจว่าอย่างไร แต่ริมฝีปากถือเป็นส่วนบางๆ แสนอ่อนไหวของร่างกายเช่นเดียวกับผิวส่วนอื่นครับ
การเลือกใช้วิธีป้องกันริมฝีปากนุ่มๆของท่านที่รักอาจต้องมีวิธีพิเศษหน่อยคือไม่ได้ใช้ครีมกันแดดเหมือนกับที่ตัว แต่ขอให้ลอง “ลิปบาล์มกันแดด” ที่มีเอสพีเอฟด้วย จะช่วยปกป้องปากงามๆได้
ขอให้ใช้บ่อยหลังล้างปาก, ล้างหน้า และหลังมื้ออาหารนะครับ
4) ระวังจุดบอด ตามร่างกายเราที่ห่อหุ้มด้วยผิวหนังที่เป็นอวัยวะใหญ่โต ยิ่งมีซอกเล็กมุมน้อยที่อาจ “หลุด” ไปขณะทาครีมกันแดด ซึ่งจุดบอกเหล่านี้ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าสำคัญครับ ดังจะขอนำจุดที่มักฝนตกไม่ทั่วฟ้ามาฝากไว้เช่นนิ้วเท้า, ฝ่าเท้า, ใต้วงแขน และหลังคอส่วนท้ายทอย, เปลือกตา และหลังหูครับ
จุดเหล่านี้มีสิทธิ์แล้งครีมกันแดดได้ซึ่งเป็นส่วนที่ไวต่อแสงยูวีได้มากเช่นกัน ดังท่านจะเห็นใครหลายคนหูแดงจนดูแล้วแสบแทนครับ
5) ล้างออกโดยไม่รู้ตัว ยังไงน่ะหรือครับ? ก็หมายถึงครีมกันแดดที่เราอุตส่าห์ตั้งใจทาตัวหน้ากระจกในชุดเกิดวันแรกแล้วบรรจงทาไม่ขาดจุดบอดที่บอกไป แต่พอถึงเวลาจริงแล้วกลับไม่ได้ป้องกันคุ้มค่าเท่าที่ควร ก็เพราะกิจกรรมที่ล้างมันออกอย่างไม่ได้ตั้งใจครับ โดยเฉพาะการว่ายน้ำ, อาบน้ำและ “เหงื่อ” ครับ
ขออย่าคิดว่าเหงื่อคือ ของธรรมชาติ ที่ครีมสามารถทนได้—ผิดถนัดครับ ขอให้เลือกครีมกันแดดแบบทนน้ำหน่อยจะดีกว่านะครับ
6) ใช้ครีมทาตัวมาทาหน้า ขออย่าคิดว่าเป็นเพียงกลยุทธ์จุดขายที่ต้องการเพิ่มยอดด้วยกิมมิกให้มีครีมอีกสปีชีส์หนึ่งขึ้นมา เพราะครีมทาหน้าต้องแยกชนิดจากทาตัวจริงๆ ครับ เพราะผิวหน้าต่างจากผิวตัวมากด้วยใบหน้ามีความไวต่อแสงและสารเคมีต่างๆ
ดังนั้นของที่จะใช้สัมผัสกับผิวหน้าจึงต้องเป็นชนิดเฉพาะที่พิเศษไม่ใช่ “ทาตัวก็ได้หน้าก็ดี” ซึ่งท่านสามารถเลือกครีมกันแดดทาหน้าชนิดที่ไม่กระตุ้นสิวและระคายเคืองน้อยก็ได้ครับ
7) ทากันแดดเฉพาะเวลาออกแดด วันไหนฟ้าครึ้มเมฆหม่นเป็นไม่ทากัน ถ้าอย่างนี้ก็จะเข้าทางแสงยูวีเลยครับ เพราะรังสีร้ายลึกนี้มีจัดจ้านแม้ในวันฟ้าหลัว ซึ่งสิ่งที่น่ากลัวคือ แม้อยู่ในออฟฟิศก็ยังได้รับยูวีจากแสงต่างๆรอบตัวได้ครับ
ดังนั้นวันที่เมฆหมอกออกมาบังแดด ก็ให้รู้ว่ายูวีนั้นทะลุทะลวงผ่านตรงลงมายังผิวได้เหมือนกัน มันยังคงทำหน้าที่ทำร้ายเซลล์ผิวน้อยๆ ของท่านอย่างซื่อตรง โดยเฉพาะผิวที่ไร้ครีมกันแดดครับ
8) ทาน้อยเกินไป ปริมาณครีมกันแดดที่เราใส่ลงบนผิวก็เป็นจุดอ่อนข้อหนึ่ง ที่ทำให้หลายคนพลาด โดยขอฝากเทคนิคดั้งเดิมไว้จำทำง่ายๆ คือ ทุกครั้งให้กะปริมาณครีมให้เท่ากับแก้วช็อต 1 ใบคือ ราว 45 ซีซี.
แต่ยุคนี้ที่ซันสกรีนเป็น “สเปรย์” ทำให้เราประมาณได้ยากขึ้น ไม่เป็นไรครับ—ท่านที่รัก มีทางออกง่ายๆ เอาไว้คือ ถือขวดสเปรย์ห่างผิวไม่เกิน 6 นิ้ว แล้วตั้งหน้าสเปรย์มันไปให้ทั่วไม่ต้องหยุดในทุกจุด แล้วจากนั้นใช้ 2 มือของเรานี่ละครับสลับละเลงไปให้ทั่ว เรียกว่าทั้งพ่นทั้งทาอย่างนี้ถ้าไม่ครบทุกจุดก็ให้รู้ไปเลยทีเดียว
9) รู้สึกชิลถ้าอยู่ในรถหรือในอาคาร ข้อนี้ท่านที่รักคงทราบดีว่าไม่แน่เสมอไป เพราะการขับรถที่กระจกไม่ได้กันยูวีดีนักเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งของผิวเลยครับ
แต่ในขณะเดียวกันรถบางคันที่กันดี๊ดีก็อาจกันเฉพาะ “ยูวีบี” คือไม่ให้ท่านเบิร์นผิวไหม้ แต่ในขณะนั้นรังสีอีกชนิดคือ “ยูวีเอ” ก็เล็ดลอดเข้ามาทะลวงผิวไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นเหตุให้เสี่ยงริ้วรอยแก่ก่อนวัยและมะเร็งผิวหนังครับ
ดังนั้นทางที่ดีก็คือ ทาครีมกันแดดให้เรียบร้อย แล้วค่อยนั่งเป็นนางเอกสวยๆ ริมหน้าต่างรถครับ
10) ไม่ได้เลือกใช้ครีมสูตรครอบคลุม พูดง่ายๆ คือ เลือกซันสกรีนที่บล็อกแค่รังสียูวีในแถบใดแถบหนึ่งเท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้ก็คล้ายกับเรื่องกระจกรถที่เล่าคือ ถ้าครีมนั้นกันแดดเฉพาะยูวีบีก็แสดงว่าท่านยังมีความเสี่ยงจากยูวีเอที่เป็นรังสีจากแดดได้อีก เพราะเวลาแสงอาทิตย์กระทบผิวกายเราเขาส่งลงมาพร้อมทุกแถบยูวีครับ
การทาไม่ครบแล้วขาดกันไปโดยเฉพาะยูวีเอนั้น จะทำให้ท่านไม่สามารถป้องกันผิวแก่ก่อนวัยได้
ขอให้เคล็ดง่ายๆ คือ เลือกกันแดดชนิดที่มีคำว่า “บรอด สเป็กตรัม(Broad spectrum)” หรือกันยูวีได้ในวงกว้างครับ
ทั้งนี้ยังมีความเสี่ยงที่เราป้องกันได้จากการใช้ซันสกรีนอย่างเข้าใจผิดอีกมาก ซึ่งเรื่องความจำเป็นกับของใช้ง่ายๆ ที่สัมผัสกับผิวเรานี้ขาดไม่ได้ทีเดียวครับ เพราะในหลายครั้งที่เกิดความเสียหายกับผิวบางๆ ของเราขึ้นมาแล้วมันแก้กันลำบากมากในภายหลังครับ ไม่ใช่แค่เรื่องของมะเร็งผิวอย่างเดียวหากแต่เป็นเรื่องของความดูสดใสมีสุขภาพดีไม่มีริ้วรอยก่อนวัย
ของใกล้ๆ ตัวนี่ช่วยเซฟได้มากนะครับ
* ช่วยคลิก Like ด้วยนะคะ เพื่อเป็นแฟนเพจ Lady Manager รับข่าวสารแซ่บๆ ของผู้หญิงในแวดวงสุขภาพความงาม แฟชั่น และความสัมพันธ์ (**)
>> อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่ http://www.celeb-online.net