เสียงกึกก้องโห่ร้องด้วยความยินดีดังขึ้นเรื่อยๆ เมื่อดัชเชสแห่งแคมบริดจ์ (Duchess of Cambridge) ก้าวลงจากรถปรากฎกายในชุดเจ้าสาวอันสวยวิจิตร
ในพิธีเสกสมรสที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกในรอบ 30 ปีนี้ ของเจ้าชายวิลเลียม (Prince William) และเคท มิดเดิลตัน (Kate Middleton) ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ (Westminster) กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ สิ่งหนึ่งที่ทุกคนทั่วโลกต่างจับจ้องคือ ชุดเจ้าสาว
บรรณาธิการแฟชั่นแห่ฟันธง! ตรงกันว่า ชุดเจ้าสาวของเคท ช่างสวยงามราวกับชุดของเจ้าหญิงเกรซ เคลลี แห่งโมนาโก (Grace, Princess of Monaco) เสียยิ่งกระไร เรียกกันว่าขุดภาพเทียบกันให้เห็นจะจะ! ทุกตารางนิ้วของเนื้อผ้า ทุกท่วงท่า และทุกอิริยาบถ
และสิ่งที่คล้ายมากไปกว่านั้น นอกจากชุดเจ้าสาว และใบหน้าอันสวยงามเลอโฉมไร้ที่ติแล้ว ทั้งคู่ยังเป็นหญิงสาวสามัญชนเช่นเดียวกันอีกซะด้วย!
ทันทีที่ชุดของเคทปรากฏโฉมสู่สายตาของบรรดาผู้ที่เฝ้าดูการถ่ายทอดสดทั่วโลก หลายต่อหลายคนตระหนักว่า นี่คือการก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของพิธีเสกสมรส ที่ชุดเจ้าสาวจากที่จะต้องหรูหราอลังการฟูฟ่องเหมือนชุดของเจ้าหญิงไดอานา (Diana, Princess of Wales) แต่กลับเข้าสู่โหมดแห่งความเรียบง่าย สง่างาม และดูทันสมัยในแบบฉบับเจ้าหญิงเคท ผู้ไม่ตามแฟชั่นใคร แต่แฟชั่นต้องหยุดนิ่งพร้อมก้าวตามเธอ
ชุดเจ้าสาวของเคทเป็นผ้าไหมซาติน (Silk Satin) สีงาช้าง ที่ไม่ว่าจะลุกเดิน เยื้องย่าง นั่งอย่างไรจะไม่มีวันยับย่น ยู่ยี่ เสียภาพเจ้าหญิงเด็ดขาด เพราะด้วยความที่เป็นไหมซาตินชั้นดีสุดยอด โดยห้องเสื้ออเล็กซานเดอร์ แม็คควีน (Alexander McQueen) ออกแบบโดยซาราห์ เบอร์ตัน (Sarah Burton)
ชุดของเคทประดับประดาด้วยดอกไม้เล็กๆ จำนวนมาก ที่ตัดด้วยมืออย่างบรรจงจากผ้าลูกไม้ และนำไปปักเย็บอย่างวิจิตรบรรจงบนผืนผ้าไหมสีงาช้างด้วยฝีมือของช่างจากรอยัล สกูล ออฟ นีดเดิลเวิร์ก (Royal School of Needlework) ที่ต้องคอยล้างมือทุกๆ 30 นาทีเพื่อให้ลูกไม้ และไหมสะอาดบริสุทธิ์ และต้องเปลี่ยนเข็มทุกๆ 3 ชั่วโมงเพื่อให้คมอยู่ตลอดด้วย
เชื่อกันว่า เคทเลือกเบอร์ตัน หลังจากประทับใจชุดเจ้าสาวผ้าไหมมูลค่า 1 หมื่นปอนด์ที่ซาราห์ บายส์ (Sara Buys) เพื่อนของเคทสวมในวันเข้าพิธีสมรสกับทอม พาร์คเกอร์ โบลส์ (Tom Parker Bowle) บุตรชายของคามิลล่า พาร์คเกอร์ โบลส์ ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ (Camilia, Duchess of Cornwall) เมื่อปี 2548
ว่ากันว่า ชุดเจ้าสาวที่ดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ สวมใส่ในพิธีเสกสมรสนั้น สนนราคาอยู่ที่ประมาณ 1.5 ล้านบาท
นอกจากนี้ เคทยังสวมผ้าคลุมหน้าไหมสีงาช้าง ที่ปักริมผ้าเป็นลายดอกไม้จากมือ ยาวจรดเอว พร้อมมงกุฏคาร์เทียร์ (Cartier Tiara) ที่ได้รับพระราชทานยืมมาจากสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 ทว่ามงกุฏนี้พระเจ้าจอร์จที่หกแห่งสหราชอาณาจักร (George VI of the United Kingdom)ได้ทรงมอบให้กับสมเด็จพระราชินีอลิซาเบธ พระชายา หรือที่คนอังกฤษเรียกว่าควีนมัม (Queen Elizabeth, The Queen Mother) ซึ่งเป็นพระราชมารดาของควีนอลิซาเบธที่2 ควีนมัมทรงมอบต่อเป็นของขวัญวันประสูติให้กับควีนอลิซาเบธที่2 เมื่อครั้งที่พระองค์เฉลิมพระชนมพรรษา 18 ปี
ส่วนตุ้มหูเพชรของเธอทำขึ้นโดยโรบินสัน เพลแฮม (Robinson Pelham) เป็นรูปทรงใบโอ๊คอ้างอิงตามตราสัญลักษณ์ประจำตระกูลของครอบครัวมิดเดิลตัน ซึ่งมีทั้งรูปลูกโอ๊ค และใบโอ๊ค โดยเป็นของขวัญวันแต่งงานที่พ่อแม่ของเธอมอบให้
สำหรับรองเท้า เธอก็สวมรองเท้าที่ตัดเย็บโดยทีมของอเล็กซานเดอร์ แมคควีน ซึ่งเป็นผ้าซาติน และลูกไม้สีงาช้าง
ในมือของเธอถือช่อดอกไม้ ซึ่งประกอบไปด้วยลิลลี่ออฟเดอะวัลเลย์ (Lily of the valley) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการกลับมาของความสุข ดอกสวีทวิลเลียม ( Sweet William) หมายถึง ความกล้าหาญ ดอกไฮยาซินธ์ (Hyacinth) หมายถึง ความมั่นคงแห่งรัก ดอกไอวี (Ivy) หมายถึง ความซื่อสัตย์และการแต่งงาน และดอกมีร์เทิล (Myrtle) หมายถึง ความรัก และการแต่งงาน
ทั้งนี้ แถลงการณ์ของสำนักพระราชวัง ระบุว่า นางสาวมิดเดิลตันต้องการให้ชุดเจ้าสาวของเธอเป็นการผสมผสานระหว่างความทันสมัย จารีตประเพณี และวิสัยทัศน์ด้านศิลปะ ซึ่งเป็นคุณลักษณะเฉพาะในงานของห้องเสื้อ อเล็กซานเดอร์ แม็คควีน โดยเคทได้ร่วมงานอย่างใกล้ชิดกับซาราห์ เบอร์ตันในการออกแบบชุดเจ้าสาว
เมื่ออ่านมาถึงบรรทัดนี้ หลายท่านคงอดใจไม่ได้ที่จะอยากรู้เรื่องราว ชีวิตที่เป็นประดุจดั่ง “เทพนิยาย” -ของหญิงสาวชาวอเมริกันผู้เลื่องลือ และเป็นที่รักมากที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 20 กับชุดเจ้าสาว และเจ้าสาวที่สวยที่สุดในโลก!
เจ้าหญิงเกรซ เคลลี แห่งโมนาโก (Grace, Princess of Monaco) พระนามเดิมว่า เกรซ แพทริเซีย เคลลี (Grace Patricia Kelly) นักแสดงภาพยนตร์ชาวอเมริกันดาราสาวสวย กับท่วงท่าบุคลิกเยือกเย็นเรียบร้อย วางตัวดี พูดจาดี มีผู้เปรียบเทียบว่าเธอมีลักษณะดุจนํ้าแข็งซึ่งซ่อนเปลวไฟ
ต่อมาเกรซได้เข้าสู่วงการโทรทัศน์และประสบความสำเร็จซึ่งนำไปสู่วงการจอเงินเป็นครั้งแรก เมื่ออายุ 22 ปี แม้ชีวิตการเป็นนักแสดงภาพยนตร์ของเกรซ จะมีช่วงเวลาเพียง 5 ปี และแสดงไปเพียง 11 เรื่อง ความสวยและเสน่ห์ของเกรซได้ประทับลงไปในความทรงจำของคนอเมริกันและนักชมภาพยนตร์ในยุคนั้นอย่างไม่มีวันลืมเลือน
ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2498 เกรซ เคลลีได้รับการขอร้องให้เป็นตัวแทนของสหรัฐฯ ในเทศกาลภาพยนตร์ ขณะที่อยู่ที่นั่น เธอได้รับเชิญไปร่วมงานถ่ายภาพในวังโมนาโกกับเจ้าชายเรนีเยร์ เจ้าผู้ครองประเทศโมนาโก (Rainier III, Prince of Monaco) หลังจากต้องเลื่อนหลายครั้งจากความไม่สะดวกหลายอย่าง ในที่สุดเกรซก็ได้ไปถึงโมนาโก ที่ซึ่งทำให้เกรซได้พบกับเจ้าชาย
หลังจากกลับสหรัฐฯ และเริ่มแสดงภาพยนตร์เรื่องใหม่เรื่อง “The Swan” ซึ่งบังเอิญสวมบทบาทเป็นเจ้าหญิง ไม่นานจากนั้น เกรซ เคลลีเริ่มมีการติดต่อสัมพันธ์กับเจ้าชายเรนีเยร์เป็นการส่วนตัว
และแล้ว…ตำนานชุดเจ้าสาวบันลือโลกบทนี้ก็เริ่มขับขานเริ่มเมื่อ 19 เมษายน 1956 ที่โบสถ์เซนต์ นิโคลาส (St. Nicholas) ในโมนาโก
ชุดเจ้าสาวของ เกรซ เคลลี่ สร้างสรรค์จากลูกไม้ และผ้าแพรไหมยาว 410 เมตร ออกแบบโดยเฮเลน โรส (Helen Rose) หัวหน้าแผนกออกแบบเสื้อผ้าของ MGM พร้อมถือดอกลิลลี่ (Lily) ขณะเดินเข้าไปในโบสถ์ ซึ่งตกแต่งด้วยดอกไฮเดรนเยียร์(Hydrangea) และดอกไลแลค(Lilac)
การเตรียมพระราชพิธีมงคลสมรสเต็มไปด้วยความพิถีพิถัน มีการทาสีพระราชวัง ตบแต่งใหม่ทั้งหมด รวมทั้งพิธีการเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกสู่โมนาโก ในวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2499 โดยเกรซ เคลลีได้ลงเรือที่ท่าในนครนิวยอร์กพร้อมกับเพื่อนเจ้าสาวและครอบครัวออกจากท่าสู่ริเวียรา (Riviera) โดยมีทัพนักข่าวมากกว่า 400 ชีวิต ขอร่วมเดินทางไปด้วย แต่กลับถูกปฏิเสธเกือบทั้งหมด
ทั้งนี้ ใช้เวลาในการเดินทางมุ่งสู่แดนสวรรค์ 8 วัน โดยถึงที่หมายพร้อมมีคลื่นมหาชนเฝ้ารอยลโฉม และต้อนรับเรือนหมื่นโดยทั้งหมดยืนเรียงรายโห่ร้องต้อนรับเจ้าหญิงในอนาคตตามถนนอย่างครื้นเครง ชื่นมื่น
พระราชพิธีสมรสได้รับการถ่ายทอดไปทั่วยุโรป ในงานพระราชพิธีมีแขกผู้มีเกียรติและชนชั้นสูงได้รับเชิญจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก 600 คน และคาดว่า มีผู้ชมการถ่ายทอดทางโทรทัศน์รวม 30 ล้านคน
เมื่อเสร็จสิ้นพิธีเสกสมรสเจ้าชายเรนีเยร์และเจ้าหญิงเกรซพระชายาได้ลงเรือยอชต์ดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ท่องทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเป็นเวลา 7 วันในคืนวันนั้นเอง
ทั้งสองพระองค์ได้พระราชธิดาพระองค์แรก เจ้าหญิงแคโรลีน (Princess Caroline) หลังพระราชพิธีสมรส 9 เดือนกับ 4 วัน มีการยิงสลุต 21 นัดและประกาศเป็นวันหยุดราชการ หยุดการพนัน แจกแชมเปญฟรี และในปีเศษต่อมามีการยิงสลุต 101 นัดเพื่อต้อนรับโอรส คือ เจ้าชายอัลแบร์ (Albert II, Prince of Monaco)
และแล้ว…..ชุดเจ้าสาวของเจ้าหญิงสามัญชนของทั้งคู่จะคงอยู่ในใจเรา และวงการแฟชั่น ตราบนานเท่านาน….
*ยลโฉม ROYAL WEDDING DRESS ในอดีต*
บนจากซ้าย -> ชุดเจ้าสาวสมเด็จพระราชินีอลิซาเบธ2 แห่งสหราชอาณาจักร งดงามตราตรึงดั่งต้องมนต์, ชุดเจ้าสาวของเจ้าหญิงมาซาโกะ แห่งญี่ปุ่น (Princess Masako of Japan) สวยไม่พร่องตามแบบฉบับประเพณีญี่ปุ่น
ล่างจากซ้าย -> ชุดเจ้าสาวของเจ้าหญิงไดอาน่า (Princess Diana of Wales) อลังการเฉิดฉายฟู่ฟ่าสมคำร่ำลือ, ชุดเจ้าสาวของเจ้าหญิงวิกตอเรีย แห่งสวีเดน (Princess Victoria of Sweden) เรียบ หรู ดูดี เนี้ยบ ไร้ที่ติ ส่วนชุดสุดท้าย ชุดเจ้าสาวของเจ้าหญิงมาเรีย แห่งเดนมาร์ก (Princess Marie of Denmark) สวยสง่า งดงาม ร่วมสมัย
รวบรวมเรียบเรียงโดย Lady Manager
>> อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่ http://www.celeb-online.net