Celeb Online

DEmark Show 2011 อวดเครื่องประดับไทยไอเดียบรรเจิด


ฝีมือของนักออกแบบไทย ไม่เป็นรองชาติไหนจริงๆ เมื่อ สำนักส่งเสริมมูลค่าเพิ่มเพื่อการส่งออก กรมส่งเสริมการส่งออก โชว์ความสำเร็จกับจำนวนผลงานการออกแบบผลิตภัณฑ์ไทยกว่า 300 ชิ้นงาน ที่บรรดาผู้ประกอบการและนักออกแบบผลิตภัณฑ์ไทยส่งมาเข้าร่วม โครงการรางวัลสินค้าไทยที่มีการออกแบบดีประจำปี 2554 หรือ Design Excellent Award 2011 (DEmark 2011) พร้อมนำผลงานที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการมาเผยโฉมผ่านนิทรรศการ “DEmark Show 2011” เมื่อเร็วๆนี้ ที่ คริสตัล ดีไซน์ เซ็นเตอร์ ก่อนจะทราบผลงานใครจะเข้าตากรรมการ คว้ารางวัล Demark ในปีนี้ไปครองได้ในเดือนสิงหาคมนี้

นันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ เล็งเห็นถึงความสำคัญ ในการยกระดับและพัฒนาศักยภาพด้านงานออกแบบที่มีคุณภาพ มาตรฐานของสินค้าไทย ให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศจึงได้มอบหมายให้สำนักส่งเสริมมูลค่าเพิ่มเพื่อการส่งออก ดำเนินโครงการรางวัลสินค้าไทยที่มีการออกแบบดีประจำปี 2554 หรือ Design Excellent Award 2011 (DEmark 2011) ขึ้น ตามแนวคิดที่ว่า สินค้าที่มีการออกแบบดีสามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม และเป็นที่ต้องการของตลาด

“กรมส่งเสริมการส่งออก มุ่งหวังที่จะสร้างเครื่องหมาย DEmark ให้เป็นที่รู้จักและยอมรับอย่างแพร่หลาย เพื่อยกระดับและสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าไทยให้เทียบเท่าสินค้าที่มีการออกแบบดีจากนานาชาติ พร้อมกระตุ้นผู้ประกอบการไทยให้พัฒนาด้านการออกแบบสินค้า และส่งผลงานเข้าร่วมโครงการ เพื่อรับรางวัลสินค้าที่มีการออกแบบดี โดยกรมส่งเสริมการส่งออกได้รับความร่วมมือจากองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญีปุ่น (JETRO) และสมาคมส่งเสริมการออกแบบแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan Institute Design Promotion) (JDP)”

ในงานยังมีการสัมมนาที่พูดถึงเทรนด์การออกแบบผลิตภัณฑ์ในปีหน้า โดยหนึ่งในคณะกรรมการ จิรชัย ตั้งกิจงามวงศ์ ผู้จัดการการตลาด บริษัท อุตสาหกรรมดีสวัสดิ์ จำกัด เจ้าของแบรนด์ DEESAWAT แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ที่มีมานานกว่า 39 ปี ที่เน้นใช้วัสดุจากไม้ในการออกแบบ กล่าวว่า สำหรับเทรนด์เฟอร์นิเจอร์ของปีหน้านั้น  ถ้าเปรียบเทียบกับ 2-3 ปีที่ผ่านมา เทรนด์เฟอร์นิเจอร์มีการเอาวัสดุอื่นๆเข้ามาชดเชยงานไม้ เช่น สแตนเลสตีล หวายเทียม ฯลฯ จึงทำให้ช่วงหนึ่งงานไม้ตกไป ส่วนตัวมองว่า งานไม้กำลังจะกลับมา แต่จะกลับมาในรูปแบบที่ไม่เหมือนเดิม ดูน่าสนใจมากขึ้น เพราะว่างานไม้สมัยก่อนมีข้อจำกัด เช่น ขนาด รูปทรง การจัดวาง ทำให้มีการพัฒนาให้การออกแบบเฟอร์นิเจอร์ไม้มีรูปลักษณ์ที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้น

“ต้องมองอย่างหนึ่งว่า งานไม้เมื่อเปรียบเทียบกับวัสดุอย่างอื่น ยังมีความคงทน และมีความใกล้ชิดกับธรรมชาติมากกว่า สามารถย่อยสลายได้ง่ายกว่า การผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้หนึ่งชิ้นยังมีผลกระทบต่อธรรมชาติน้อยกว่าวัสดุอื่น เช่น พวกเหล็ก สแตนเลส”


ด้าน ชาญเกียรติ มหันตคุณ เจ้าของแบรนด์ Proud Line แบรนด์เครื่องประดับที่ได้แรงบันดาลใจมาจากงานถมแบบศิลปะไทยโบราณ หนึ่งในผลงานที่ผ่านมาคัดเลือก กล่าวว่า ปัจจุบันเครื่องประดับส่วนใหญ่ถูกออกแบบมาเพื่อบ่งบอกความเป็นตัวของตัวเองกันมาก แต่ต่อไปเราจะได้เห็นเครื่องประดับถูกออกแบบมาในรูปทรงรูปลักษณ์ที่แปลกมากขึ้น ส่วนตัวเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้นี้จะเกิดการกลับมาของเครื่องประดับที่สามารถสวมใส่ได้จริง คือ จะไม่ได้เน้นที่ความแปลกอย่างเดียว แต่ทำให้ใส่ขึ้นมาแล้วสามารถเสริมบุคลิกให้กับผู้สวมใส่ได้ไม่ใช่เป็นเพียงแค่เครื่องประดับอย่างเดียว

“นักออกแบบต้องรู้จักสรรหาแรงบันดาลใจ พยายามเก็บเกี่ยวประสบการณ์ มองทุกอย่างรอบตัว มองสิ่งที่พบปะผู้คนที่พบเจอ สถานการณ์ธรรมชาติรอบตัวทุกอย่างสามารถเป็นแรงบันดาลใจได้หมดครับ และในฐานะนักออกแบบ ทุกคนมีหน้าที่ต่อสังคม รับผิดชอบต่อสังคม ไม่ใช่ลอกเลียนแบบ และสำหรับใครที่อยากจะสร้างแบรนด์ของตัวเองก่อนอื่นคุณต้องมีแนวทางที่ค่อนข้างชัดเจน ต้องหาตัวตนของตัวเองให้เจอว่า เราต้องการอะไรแล้วโปรดักส์ของเราจะทำออกมาเป็นยังไง ก่อนจะต่อยอดนำไปประยุกต์ใช้เป็นภาพรวมของโปรดักส์แบรนด์ต่อไป”

ส่วนอีกหนึ่งเจ้าของผลงานที่ผ่านการคัดเลือก ทศพล วชิราดิศัย เจ้าของแบรนด์ Todesire แบรนด์เครื่องประดับที่เน้นการทำมือ ด้วยวัสดุเงิน กล่าวว่า สไตล์การออกแบบของตนจะไม่ได้อิงกับตัวเทรนด์หรือแฟชั่น เน้นการสร้างงานที่จะให้ลูกค้าได้งานในลักษณะของตัวบุคคล ด้วยวัสดุที่เรียบง่ายแต่สามารถนำมาสร้างเปลี่ยนรูปทรงและโครงสร้างให้ซับซ้อนขึ้นได้ โดยหลีกเลี่ยงระบบอุตสาหกรรมให้มากที่สุด เช่น ชิ้นงานต่างหู เกิดจากเส้นลวดเงินยาวๆเพียงเส้นเดียวแล้วเราค่อยๆเชื่อมต่อเป็นโครงสร้างจน จุดเริ่มต้นกับจุดที่เราจบมาเจอกัน จะเป็นลักษณะอินฟีนิตี้ที่เกิดขึ้นในชิ้นงาน ให้เกิดรายละเอียดบนชิ้นงานซึ่งจะทำให้ คุณค่าและมีราคาขึ้นมา

โครงการประกวดสินค้าไทยที่มีการออกแบบดีประจำปี 2554 หรือ Design Excellent Award 2011 (DEmark 2011) จัดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ.2551 เพื่อเป็นการยกย่องนักออกแบบ และผู้ประกอบการที่มีการออกแบบดีของคนไทย โดยในปีนี้ผู้สนใจส่งผลงานเข้าร่วมคัดเลือกมากถึงกว่า 300 ชิ้นงาน ในส่วนสินค้าที่เข้าร่วมคัดเลือกในโครงการ จะแบ่งออกเป็น 5 ประเภทของกลุ่มสินค้า ได้แก่ กลุ่มเฟอร์นิเจอร์ (Furniture Household Items) กลุ่มไลฟ์สไตล์ (Gift & Decorative Items) กลุ่มแฟชั่น (Fashion / Jewelry/Textite) กลุ่มอุตสาหกรรม (Home Appliances/Equipment and Facilities for Office) กลุ่มบรรจุภัณฑ์ (Food packaging/Health & Beauty Products Packaging)


 
>> อัปเดตข่าวในแวดวงสังคม กอสซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่  http://www.celeb-online.net