Celeb Online

3 ดีไซเนอร์ดัง ผนวกดีไซน์กับเส้นใยพื้นบ้าน รังสรรค์ชิ้นงานสุดเก๋


สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมมือกับ ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จัดงาน “โครงการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์เชิงวัฒนธรรม (การออกแบบเครื่องแต่งกายผ้าไทย) กิจกรรมการออกแบบสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ชุมชนสู่สากล และ ค่ายวัฒนธรรม (Weaving Dialog)” เชิญ 3 ดีไซเนอร์มาร่วมรังสรรค์ผลงานจากศิลปะหัตถกรรมไทย ณ ชั้น ๑๖ ของอาคารศรีจุลทรัพย์ ถนนพระราม ๑

3 ดีไซเนอร์ที่นำผลงานมาร่วมจัดแสดงในครั้งนี้ ได้แก่ พลัฏฐ์ พลาฎิ – แบรนด์ Realistic Situation, ธีระ ฉันทสวัสดิ์ – แบรนด์ T-ra และ วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข แบรนด์ WISHARAWISH พร้อมกันนี้ทั้ง 3 คน ยังได้ลง 22 พื้นที่ในหลายจังหวัด เพื่อสืบสานผ้าทอ ผ้าพื้นเมือง และงานหัตถกรรมเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้กับชาวบ้าน และนำมารังสรรค์ 3 คอลเลกชันเสื้อผ้าอันแสนประทับใจ


พลัฏฐ์ พลาฎิ กล่าวถึงคอลเลกชัน “REALISM by Realistic Situation” ว่าได้นำเสน่ห์ของคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านมาปรับใช้ได้ในชีวิตจริง ภายในแนวความคิดรีลอาลิซึ่ม นำผ้าพื้นเมืองมาเป็นวัตถุดิบหลัก ผสมผสานกับเทคนิคทางหัตถกรรมที่ยากจะได้เห็นในปัจจุบัน เน้นทรงเสื้อผ้าแบบ จีโอเมตริก อย่างเช่น ลายจุด ลายเส้น ลายทาง สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม ซึ่งได้รับการปรับปรุงมาจากลายพื้นฐานสำคัญ (Motif) ที่เกิดจากการทอผ้าไหมท้องถิ่นด้วยมือ พร้อมกับการสอดแทรกวัสดุใหม่ๆ เข้าไปในผืนผ้า อาทิ หนังงูหรือผ้าเม็ดพริกไทย ทอสลับกับผ้าไหม เป็นต้น (Androgyny)” หรือสไตล์การแต่งตัวของผู้หญิงที่งดงามและเท่ สะท้อนถึงความทัดเทียมกับเพศชายนั่นเอง


ด้าน ธีระ ฉันทสวัสดิ์ เผย “REVIVIAL by T-ra” เล่าว่า ได้นำผ้าไหมพิมพ์ลายดอกไม้สีสันสดใส และแรงบันดาลใจที่ได้มาจากเครื่องแต่งกายของชาวเขาที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย และนำเรื่องราว ศิลปะและวัฒนธรรมการใช้ชีวิต ความเป็นอยู่ และเรื่องราวของผืนผ้าของชาวเขาต่างๆ มาผสมผสานกันใหม่ โดยใช้เทคนิคการรูดระบายบนโครงเสื้อตัวหลวม ผสมผสานกับผ้าไหมลายดอก รวมกับแรงบันดาลใจจาก “นก” ชนิดต่างๆ ผนวกกับโทนสีสดและเอิร์ธโทน


ปิดท้ายที่ วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข กับคอลเลกชัน “ROOTS by WISHARAWISH” นำความเชื่อของชาวบ้านมาผ่านผลงานแฟชั่นที่ผสมผสานการใช้วัสดุอันเป็นรากเหง้าภูมิปัญญาไทยเช่นผ้าไหมมัดหมี่และผ้าทอย้อมสีธรรมชาติ บนโครงเสื้อเข้ารูปเน้นเรือนร่างและชายกระโปรงพองบาน เทคนิคการซ้อนทับด้วยวัสดุโปร่งใส เส้นสายลวงตา และการตัดริมผ้าโดยไม่เย็บเก็บถูกนำมาใช้ในการสร้างสรรค์โครงเสื้ออันน่าสนใจ ในโทนสีถ่านเข้ม เทา ชมพูอ่อน สีม่วง รวมไปจนถึงสีเขียวและสีฟ้า เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของพื้นที่ทับซ้อนระหว่างความผิดและความถูกต้อง และระหว่างอดีตกับปัจจุบัน