>>ข้อดีของการออกกำลังกายมีมากมาย ไม่ว่าจะร่างกายแข็งแรง คลายเครียด สุขภาพดี อ่อนเยาว์ ป้องกันการเจ็บป่วย ฯลฯ แต่จะออกกำลังกายอย่างไรจึงจะเรียกว่าออกกำลังกายอย่างฉลาดไม่ใช่ออกกำลังกายอย่างหนักจนส่งผลร้ายต่อร่างกาย
คุณทนงศักดิ์ วงษาโสม Fitness Training and Development Manager จากฟิตเนส เฟิรส์ท ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกกำลังกายบอกเล่าถึงอีกมุมหนึ่งของคนที่ชอบออกกำลังกายหนักๆ ว่าส่งผลเสียต่อร่างกายอย่างไร แนะนำวิธีสังเกตเพื่อให้รู้ได้ว่าเรากำลังก้าวไปสู่จุดที่เรียกว่าออกกำลังหนักเกินไปหรือยัง พร้อมทั้งแนะนำวิธีการออกกำลังอย่างฉลาดให้นำไปปฏิบัติกันอีกด้วย
Train too hard
การออกกำลังกายหนักเกินไปเกิดจากการออกกำลังกายไปสักพักแล้วรู้สึกติด อยากทำให้เห็นผลชัดขึ้น อยากลดสัดส่วนให้ได้เร็วขึ้น อยากมีกล้ามเนื้อตามที่หวัง อยากออกกำลังให้ได้เป้าหมายสูงสุดตามที่ตั้งไว้ จึงหาเวลาออกกำลังให้ได้มากขึ้นหรือบ่อยขึ้น โดยอาจจะใช้ระยะเวลายาวนานเกินไป ไม่มีวันหยุดพัก หรือ ออกกำลังอย่างเข้มข้นและหนักเกินไป
พฤติกรรมดังกล่าวทำให้ระบบประสาทส่วนกลางของร่างกายที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อทำงานหนักจนไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ร่างกายใช้กำลังเกินขีดจำกัดอย่างต่อเนื่องเกินกว่าที่ร่างกายจะสามารถฟื้นฟูกลับคืนมา ส่งผลเสียให้เกิดอาการเหนื่อยล้า กล้ามเนื้อตึงเครียด ประสิทธิภาพในการทำกิจกรรมต่างๆ ถดถอย ความดันสูง ส่งผลเสียไปถึงการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงาน เรียกได้ว่ายิ่งออกกำลังกลับยิ่งแย่
7 อาการที่แสดงถึงการออกกำลังกายหนักเกินไป
1. รู้สึกอ่อนเพลียแทนที่จะสดชื่นกระปรี้กระเปร่าหลังออกกำลังกาย
2. ออกกำลังแล้วไม่เห็นผลเหมือนช่วงแรก
3. มีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ข้อต่อ หรือกระดูก เรื้อรังไม่หายเสียที
4. เครียด หดหู่ ซึมเศร้าผิดปกติ
5. นอนไม่หลับ หรือ รู้สึกว่านอนเท่าไรก็ไม่พอ
6. ไม่มีเรี่ยวแรง หรือ รู้สึกหมดแรงง่ายกว่าเมื่อก่อน
7. ป่วยง่าย ป่วยบ่อย หรือป่วยแล้วหายยาก
หากพบว่ามีอาการเหล่านี้ควรพักผ่อนและงดออกกำลังสักพัก เมื่อร่างกายฟื้นฟูดีขึ้น คลายความเครียดแล้ว ค่อยกลับมาออกกำลังอีกครั้ง
Train smart
การออกกำลังอย่างฉลาดนั้นจะช่วยป้องกันไม่ให้ร่างกายทรุดโทรมหรือกล้ามเนื้อบาดเจ็บเรื้อรังจากการออกกำลังหนัก ซึ่งเมื่อรู้หลักแล้วจะพบว่าสามารถทำได้ง่ายและออกแบบได้ด้วยตัวเองดังนี้
5 วิถีชาญฉลาดของคนรักออกกำลัง
1. จัดตารางให้สมดุล เพราะชีวิตมีหลายด้าน หลายบทบาท และองค์ประกอบในการมีสุขภาพที่ดีไม่ได้อยู่ที่การออกกำลังเพียงอย่างเดียว การแบ่งเวลาสำหรับการทำงาน การออกกำลังกาย และทำกิจกรรมกับครอบครัวเพื่อนฝูงในสัดส่วนที่ลงตัว จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยจัดระเบียบให้ชีวิตไม่ยุ่งเหยิงและยังส่งผลดีต่อร่างกายและจิตใจไปพร้อมๆ กัน
2. กำหนดวันพัก ยิ่งออกกำลังหนักเท่าไรร่างกายก็ต้องการพักมากเท่านั้น เพราะเมื่อกล้ามเนื้อถูกกระตุ้นให้ใช้งานหนักแล้วย่อมต้องการระยะเวลาในการฟื้นฟู การพักผ่อนจะช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูได้เร็วขึ้น ลดความตึงเครียดของกล้ามเนื้อและระบบการทำงานของร่างกายจากการออกกำลัง ป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวดเมื่อยหรือบาดเจ็บเรื้อรังจากการออกกำลังกายหนักเกินไป
3. คั่นด้วยกิจกรรมเบาๆ ถ้าเบื่อที่จะนอนอยู่บ้านเฉยๆ ก็สามารถเลือกการออกกำลังเบาๆ เช่น การว่ายน้ำ หรือ เล่นโยคะ ที่เชื่อมโยงการเคลื่อนไหวของร่างกายเข้ากับหายใจ ซึ่งช่วยให้ร่างกายยืดหยุ่น ผ่อนคลาย และจิตใจสงบ ขณะที่ร่างกายต้องการฟื้นฟูโดยไม่เป็นการใช้กล้ามเนื้อหนักจนเกินไปก็ได้
4. พักผ่อนเพียงพอ การนอนเป็นวิธีง่ายๆ ที่หลายคนมองข้าม ผู้ที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะพบว่าการนอนมีส่วนสำคัญในการฟื้นฟูร่างกาย และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำกิจกรรมให้ดียิ่งขึ้น
5. กินอาหารที่มีประโยชน์ อาหารมีส่วนสำคัญอย่างมากในระบบการทำงานของร่างกาย นอกจากช่วยให้มีพลังงานเพียงพอสำหรับการออกกำลังแล้ว สารอาหารที่มีประโยชน์ยังมีส่วนช่วยซ่อมแซม เสริมสร้าง และฟื้นฟูร่างกายไม่ให้ทรุดโทรม ดังนั้นการออกกำลังกายอย่างฉลาดจึงต้องรู้จักเลือกที่จะกินอย่างฉลาดด้วย
เมื่อรู้แบบนี้แล้ว มาเลือกออกกำลังกายอย่างฉลาดแทนที่จะออกกำลังกายหนักเกินไปกันดีกว่า