Celeb Online

ความสำเร็จของชาว ‘สีม่วง’ ในโอลิมปิคเกมส์


ในที่สุด โอลิมปิคฤดูร้อน 2020 ก็กำลังจะได้ฤกษ์จัดการแข่งขันกันเสียที ระหว่าง 24 กรกฎาคม – 9 สิงหาคมนี้ ณ กรุงโตเกียวของประเทศญี่ปุ่น หลังจากที่ต้องเจอโรคเลื่อนจากการระบาดของโรค Covid-19 โดยจะเป็นโอลิมปิคในรูปแบบใหม่ที่คอกีฬาไม่เคยสัมผัสมาก่อน


แม้ว่าจะมีข้อจำกัดหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะในเรื่องมาตรการเข้มที่จะจัดการกับโรคระบาด แต่สิ่งที่เปิดกว้างเสมอในแวดวงนักกีฬา คือ การยอมรับเรื่องความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นทางเพศ ชาติพันธุ์ หรือสีผิว ซึ่งในอดีตที่ผ่านมามีนักกีฬา LGBTQ ที่ประสบความสำเร็จบนเวทีโอลิมปิคมากมาย


รอเบิร์ต โดเวอร์

(นักขี่ม้าสหรัฐ / 4 เหรียญทองแดง)

รอเบิร์ต โดเวอร์เป็นตัวแทนเข้าแข่งขันในกีฬาโอลิมปิค ระหว่างปี 1984 – 2004 โดยเขาออกมาประกาศตัวเรื่องเพศสภาพของตัวเองเมื่อปี 1988 ซึ่งในช่วงเวลาหลายทศวรรษที่เป็นตัวแทนทีมชาติ เขาคว้าเหรียญทองแดงให้กับทีมขี่ม้าข้ามเครื่องกีดขวางสหรัฐ 4 เหียญด้วยกัน


แมตทิว มิตชัม

(นักกระโดดน้ำออสเตรเลีย / 1 เหรียญทอง)

ท่วงท่ากายกรรมอันยอดเยี่ยม ทำให้ แมตทิว มิตชัม คว้าเหรียญทองโอลิมปิคกระโดดน้ำที่ระดับ 10 เมตร มาได้สำเร็จ ซึ่งทำให้เขากลายเป็นเกย์ที่เปิดเผยคนแรกที่คว้าเหรียญทองโอลิมปิค รวมทั้งยังเป็นนักกระโดดน้ำชายคนแรกของออสเตรเลีย ที่คว้าเหรียญทองในการแข่งโดดน้ำโอลิมปิค นับตั้งแต่ปี 1924


ทอม ดาลีย์

(นักกระโดดน้ำอังกฤษ / 2 เหรียญทองแดง)

เข้าร่วมแขางขันในโอลิมปิคครั้งแรก เมื่อปี 2012 เขาก็คว้าเหรียญทองแดงติดไม้ติดมือกลับบ้านเลย ฮีโร่เหรียญทองแดงเปิดตัวในอีกปีต่อมาในช่องยูทูบของตัวเอง ว่าได้แต่งงานอยู่กินกับแฟนหนุ่มนักเขียนบทหนังชาวอเมริกัน ดัสติน แลนซ์ แบล็ก ซึ่งทั้งคู่เป็นหนึงในคู่รักเกย์ชื่อดังของโลกไปแล้ว


เอียน ธอร์ป

(นักว่ายน้ำออสเตรเลีย / 5 เหรียญทอง, 3 เหรียญเงิน, 1 เหรียญทองแดง)

ประสบความสำเร็จอย่างสวยงามในลู่สระว่ายน้ำ จนได้ฉายา “ธอร์ปิโด” มาครอง นอกจากจะเป็นนักว่ายน้ำที่ประสบความสำเร็จที่สุดของออสเตรเลียแล้ว ในกีฬาโอลิมปิคที่ซิดนีย์ เมื่อปี 2000 นั้นก็นับว่า เอียน ธอร์ป สามารถคว้าเหรียญรางวัลไปได้มากที่สุด คือ 3 เหรียญทอง กับอีก 2 เหรียญเงิน

นอกจากนี้ เอียน ยังเป็นนักกีฬาชายอายุน้อยที่สุด ที่เข้ามาเป็นตัวแทนทีมชาติในการแข่งขันระดับนานาชาติ เขายังเป็นเจ้าของ 13 สถิติโลก ได้เหรียญทองในการแข่งขันวายน้ำระดับโลก 11 เหรียญ อีกด้วย


นาตาลี คุก

(นักวอลเลย์บอลชายหาดออสเตรเลีย / 1 เหรียญทอง, 1 เหรียญทองแดง)

นักวอลเลย์บอลชายหาดออสเตรเลีย เป็นตัวแทนทีมชาติครั้งแรกที่แอตแลนตาเกมส์ ปี 1996 ซึ่งทำให้เธอคว้าเหรียญทองแดงแรกมาครอง นาตาลี คุก ยังเป็นนักวอลเลย์บอลชายหาดสตรีคนแรกของออสเตรเลีย ที่ได้เข้าร่วมแข่งขันในกีฬาโอลิมปิคถึง 5 สมัยด้วยกัน


คาสเตอร์ เซเมนยา

(นักวิ่งแอฟริกาใต้ / 2 เหรียญทอง)

นักวิ่งเหรียญทองโอลิมปิค 800 เมตร 2 สมัยซ้อน โดย คาสเตอร์ เซเมนยา สามารถคว้าเหรียญทองเป็นเจ้าลมกรดทั้งในโอลิมปิคที่กรุงลอนดอน ปี 2012 รวมทั้งในสมัยต่อมา ที่ริโอ เดจา เนโร ในปี 2016 แต่สำหรับการแข่งขันโอลิปิคในกรุงโตเกียวที่กำลังจะเกิดขึ้น เธอถูกแบนสำหรับการเข้าร่วมแข่งในฐานะนักกีฬาหญิง เนื่องจากมีระดับฮอร์โมนเทสโตสเตอโรนในตัวสูงเกินไป