Celeb Online

ประมูลระดับโลกยังอู้ฟู่หลายพันล้าน หลังเศรษฐีใช้ช่องทางออนไลน์


ขณะที่หลากหลายธุรกิจถูกโจมตีด้วยโรค Covid-19 ทว่า สถาบันการประมูล ที่ปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว ด้วยการปรับเปลี่ยนไปสู่การจัดประมูลแบบไลฟ์ออกชันออนไลน์ โดยเฉพาะ สถาบันประมูลระดับไฮเอนด์ 2 ยักษ์ใหญ่ ที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ ในปี 2020 ที่ผ่านมา

สำหรับสถาบันโซเธอบีส์ สร้างรายได้จากการประมูลไปถึง 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แซงหน้าคู่แข่งคนสำคัญอย่าง สถาบันคริสตีส์ ที่มีรายได้ 4,400 ล้านดอลลาร์ไปได้ฉลุย


แม้ว่ารายได้ที่เข้ามาจะไม่ได้ขี้เหร่ แต่ก็ลดลงไปก็ราวๆ 25% เห็นจะได้ กิลโยม เซอรุตติ ผู้บริหารสถาบันคริสตีส์ บอกว่า ปี 2020 นั้นช่าง “น่าตกใจและปั่นป่วนจริงๆ ก่อนหน้านั้นเราเคยมีรายได้จากการประมูลสูงถึง 5,300 ล้านดอลลาร์ในปี 2018”

ขณะที่คู่แข่งอย่างโซเธอบีส์นั้น สามารถพัฒนาระบบการประมูลออนไลน์ของเขาได้ล้ำสมัย จนเพิ่มจำนวนผู้เข้าร่วมในแพลตฟอร์มใหม่ได้ถึง 30% ทำให้รายได้รวมลดลงไปไม่มากนัก “พอมีการล็อกดาวน์เราก็รีบปรับเปลี่ยนธุรกิจของเราทันที ทำให้เราเปิดประมูลแบบไลฟ์ออกชั่นพร้อมกันทั่วโลกได้มากกว่า 400 ครั้ง”


เซบาสเตียน ฟาเฮย์ กรรมการผู้จัดการโซเธอบีส์ เล่าอีกว่า โปรแกรมการประมูลสด ต้องปรับเปลี่ยนสู่รูปแบบการประมูลออนไลน์ในชั่วข้ามคืน “ต้องยกเครดิตทั้งหมดให้ทีมงาน ที่ร่วมแรงร่วมใจกันเป็นอย่างดี ผมว่า เป็นการก้าวกระโดดที่สำคัญครั้งหนึ่งของเรา”


การไลฟ์ออกชันออนไลน์แบบสาธารณะครั้งแรกของโซเธอบีส์ ประสบความสำเร็จอย่างสวยงาม โดยมีชิ้นงานศิลปะ Triptych Inspired by the Oresteia of Aeschylus (1981) ของ ฟรานซิส เบคอน เป็นไฮไลต์ ซึ่งสร้างรายได้ในการประมูลแบบออนไลน์ถึง 84.5 ล้านดอลลาร์


ด้านคริสตีส์เองก็เติบโตในแพลตฟอร์มไฮเทคด้วยเช่นกัน เมื่อพูดถึงในด้านของการเพิ่มฐานลูกค้า นับว่า เพิ่มขึ้นมาถึง 262% จากปีก่อน เพียงแต่ว่า ก่อนหน้านี้ในปี 2018 สถาบันฯ เคยได้รับเงินจากการประมูลภาพเขียนที่ราคาแพงที่สุดในโลก อย่าง Salvator Mundi ของเลโอนาร์โด ดา วินชี ที่ 450 ล้านดอลลาร์มาแล้ว บวกกับประติมากรรมกระต่าย Rabbit (1986) ของเจฟฟ์ คูนส์ อีก 91 ล้านดอลลาร์ ทำให้เมื่อมองภาพรวมทางด้านรายได้ของปีที่ผ่านมาตกลงไปเยอะ


ภาพเขียนที่ประมูลได้ราคาสูงสุดของคริสตีส์ ในปี 2020 คือ Nude with Joyous Painting (1994) ของ รอย ลิกเตนสไตน์ ที่ 46.24 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเมื่อเทียบกับสถาบันคู่แข่งแล้ว แพ้ไปกว่าครึ่งเลยทีเดียว

ทั้ง 2 สถาบันประมูลยังมีกรประมูลแบบเอ็กซ์คลูสีฟ ที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำอีก อย่าง ประติมากรรม Grande Femme I (1960) ของอัลแบร์โต จาโคเมตติ ที่สถาบันโซเธอบีส์จัดประมูลที่ราคาเริ่มต้นถึง 90 ล้านดอลลาร์

การประมูลแบบปิดที่คริสตีส์ก็เพิ่มขึ้น 57% จากปีก่อน โดยพวกเขาขายภาพวาด 3 ชิ้นได้ในราคารวมกันมากกว่า 100 ล้านดอลลาร์ เอริน แมคแอนดรูว์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารของคริสตีส์ อินเตอร์เนชีนนัล บอกว่า เป็นเรื่องเหนือความคาดหมายมากๆ


“ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจเอาแน่เอานอนไม่ได้ แต่ผู้คนยังให้ความสนใจการประมูลออนไลน์ โดยเฉพาะไพรเวทเซลส์ที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก

“ดิฉันคิดว่าในอนาคต หลังจากยุค Covid-19 แวดวงการประมูลคงจะอาศัยการผสมผสาน ทั้งการประมูลสดและออนไลน์ ที่ทำให้โลกทั้งใบสามารถเข้าร่วมได้ในเวลาเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นตลาดฮ่องกง ลอนดอน หรือนิวยอร์ก”

กิลโยม เซอรุตติ เสริมว่า ลูกค้าคนสำคัญของสถาบันประมูลตอนนี้อยู่ที่ทวีปเอเชีย “จากสถิติปี 2020 ที่ผ่านมา เรามีลูกค้าที่ประมูลมาจากเอเชียมากกว่าในสหรัฐ ซึ่งก่อนหน้านี้ บรรดานักสะสมชาวเอเชีย ก็เป็นลูกค้ารายใหญ่ของสถาบันประมูลในยุโรปมาติดต่อกันถึง 5 ปีแล้ว”

เควิน เชียง ผู้บริหารโซเธอบีส์ เอเชีย ก็อ้างว่า ยอดรายได้จากการประมูลของเอเชียสูงขึ้นมาก “หากพวกเขาเข้าร่วมการประมูล 10 ครั้ง จะปิดการขายได้ถึง 9 ครั้ง ปีที่ผ่านมา โซเธอบีส์ เอเชีย มีรายได้จากการประมูล 932 ล้านดอลลาร์ มากกว่าปีก่อนๆ มากว่า 2 เท่าตัว

“ที่น่าสนใจคือ พวกเขาเป็นนักสะสมรุ่นใหม่ ซึ่งจะนิยมสรรหาผลงานของศิลปินเก่งๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่ และเป็นคนในรุ่นมิลเลนเนียลเหมือนๆ กัน”