Celeb Online

"เรเชล – ชาร์ลอตต์ โฮ" สานต่องานศิลป์ธุรกิจครอบครัว


ศิลปะงานคราฟต์ชั้นสูง ทั้งของแต่งบ้าน เหรียญตรา กล่องของขวัญ ฯลฯ พะยี่ห้อ รอยัล อินซินเนีย ที่มีการจัดทำแบบตามสั่งเฉพาะบุคคล ถวายราชวงศ์ต่างๆ รวมทั้งบุคคลชั้นสูงในเอเชียและยุโรป ตอนนี้เป็นการบริหารงานของทายาทรุ่นที่ 2 อย่าง เรเชล – ชาร์ลอตต์ โฮ


เช่นเดียวกับทายาทธุรกิจรายอื่นๆ สองพี่น้องโฮ เติบโตขึ้นมาด้วยการซึมซัมการทำธุรกิจศิลปะงานคราฟต์ของบิดา อีวาน โฮ ผู้ก่อตั้ง รอยัล อินซินเนีย ที่มักจะนำตัวอย่างชิ้นงานศิลปะหรือเหรียญตราต่างๆ จากทั่วโลกกลับมาอวดลูกๆ ที่บ้านเสมอ

“ฉันจำได้ว่า มีชิ้นหนึ่งเป็นของขวัญที่สุลต่านองค์หนึ่งในเอเชีย ทรงสั่งทำเพื่อเป็นของขวัญให้พระชายาในปี 2005 พ่อออกแบบแล้วก็เล่าให้เราฟัง เป็นเครื่องเงินรูปดอกลิลลี่ ที่เราได้เห็นตั้งแต่ภาพสเก็ตช์ จนกระทั่งออกมาเป็นชิ้นงานเลย”

เรเชล โฮ พี่สาวคนโต ที่ตอนนี้นั่งในตำแหน่งผู้อำนวยการของรอยัล อินซินเนีย เล่าด้วยว่า นอกจากจะเรียนรู้เรื่องงานศิลปะแล้ว ยังได้รู้ว่า ท่านสุลต่านทรงโปรดดอกลิลลี่มากๆ “แล้วก็การออกแบบงานคราฟต์เครื่องเงินรูปดอกลิลลี่ยังไง ให้ล้อกับแสงไฟในวังของสุลต่าน เพื่อที่จะให้ไปตั้งแล้วดูมีชีวิตชีวาราวกับดอกไม้จริง ไม่ใช่แค่เอาไปตั้งๆ ให้สวย”


แม้ว่าเมื่อย้อนเวลาไป สองพี่น้องยังคงเด็กมาก แต่พ่อก็ไม่เคยย่อท้อที่จะป้อนข้อมูลงานศิลปะที่เป็นมรดกทางธุรกิจของครอบครัว “ท่านยังรับฟังความคิดเห็นแบบเด็กๆ ของพวกเราด้วยนะ ไม่ว่าเราจะพูดอะไร ท่านไม่เคยขัดเลย” เรเชลเสริม

นับเป็นเรื่องเหมาะเจาะ ที่สองพี่น้องต่างก็มีความสนใจกันคนละอย่าง สำหรับน้องคนเล็ก ชาร์ลอตต์ นั้นมาทางสายศิลปิน “ฉันเข้าไปช่วยทำงานในโรงงานตั้งแต่ยังเด็กมากๆ คิดว่า คงไม่ไปทำงานที่อื่นแล้วหละในชีวิตนี้” เธอจึงเลือกศึกษาทางด้านศิลปะที่วิทยาลัยศิลปะลาซาลจนจบปริญญาตรีด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยตอนนี้เข้ามารับช่วงงานออกแบบที่รอยัล อินซินเนีย ทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ของบริษัท

“การทำงานออกแบบเครื่องเงิน หรืองานลงยาเหรียญตราต่างๆ ต้องอาศัยฝีมือของผู้ชำนาญการ ซึ่งเป็นสิ่งที่ฉันต้องเรียนรู้อีกมาก” ชาร์ลอตต์เล่าว่า นอกจากเทคนิคที่สืบทอดกันมาในครอบครัวแล้ว เธอได้ยินว่า ยังสามารถทำได้อีกหลายแบบ จึงเดินทางออกไปค้นคว้าศึกษาจากผู้เชี่ยวชาญทั้งในยุโรปและสหรัฐ เพื่อที่จะพัฒนาต่อยอดความรู้ให้ดีและหลากหลายขึ้นไปอีก

แม้จะเป็นทายาทธุรกิจงานคราฟต์ชั้นสูง แต่ชาร์ลอตต์บอกว่า ผ่านการถูกปฏิเสธมาจนชาชิน แต่เธอก็ไม่ย่อท้อที่จะขอเรียนรู้ต่อไป “ฉันเข้าใจว่า อาจารย์บางคนก็หวงวิชา หรือเขาอาจจะเห็นว่าเราเป็นเด็กที่ไม่น่าเชื่อถือ จะไปทำให้เขาเสื่อมเสียหรือเปล่า แต่จริงๆ แล้ว ฉันแค่อยากสานต่องานศิลปะให้ดีแค่นั้นเอง”


ชาร์ลอตต์อาศัยมุมมองแบบคนรุ่นใหม่ ขยายไลน์สินค้าของแบรนด์รอยัล อินซินเนีย ให้หลากหลายมากยิ่งขึ้น จากเหรียญตราต่างๆ ก็เริ่มมีกรอบรูป กล่องใส่อัญมณี นาฬิกาตั้งโต๊ะ สุดหรูหรา ฯลฯ

ทางด้าน เรเชล ที่หันไปเอาดีทางด้านการบริหารธุรกิจ เล่าว่า เดิมที ด้วยความที่ไม่มี ‘สกิล’ ทางด้านศิลปะ เธอเลยไม่คิดว่าจะรับช่วงงานใดๆ ที่รอยัล อินซินเนีย แต่เป็นเพราะว่า หลังจากศึกษาจบด้านการบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยบริหารธุกิจสิงคโปร์แล้ว หางานทำที่อื่นไม่ได้ พ่อก็เลยแนะนำให้มาทำงานบริหารที่บริษัทฯ ไปก่อน

“ตอนแรกพ่อบอกว่าให้มารับผิดชอบโปรเจ็กต์ 6 เดือน ที่ไปร่วมกับศิลปินจากต่างประเทศทำคอลเลกชั่นพิเศษ ทำไปทำมาก็กลายเป็น 6 ปีแล้วค่ะ” เรเชลเล่า “เวลาใครถามว่า ฉันมาสานต่อธุรกิจของที่บ้านได้ยังไง ฉันก็จะตอบว่า เป็นเพราะฉันขี้เกียจ ถูกพ่อบังคับ และติดสิบบน (หัวเราะ)”


ตอนนี้เรเชลได้นำพารอยัล อินซินเนีย ให้กลายเป็นบริษัทข้ามชาติไปแล้ว เธอมีลูกค้าระดับวีวีไอพีทั่วโลก ที่ฮือฮาล่าสุดคือ ชุดของหมั้นสำหรับเจ้าหญิงอะมีนาห์ แห่งรัฐยะโฮร์ ในปี 2017

นอกจากงานคราฟต์ชั้นสูงที่จัดทำแบบตามสั่งแล้ว เรเชล ยังทำงานใกล้ชิดกับพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ในสิงคโปร์และมาเลเซียอีกด้วย จึงทำให้ได้งานบูรณะศิลปะโบราณที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์เข้ามาเป็นอีกผลงานของรอยัล อินซินเนีย

ขณะที่คนรุ่นพ่อมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์ชิ้นงานศิลปะเพียงอย่างเดียว มาถึงคนรุ่นใหม่อย่างสองพี่น้องต้องผลักดันศิลปะสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล “เราทำวิดีโอเบื้องหลังชิ้นงานแต่ละชิ้นของรอยัล อินซินเนีย ตั้งแต่การออกแบบ เทคนิคการฝังอัญมณี การเคลือบสี ลงยา ฯลฯ” ชาร์ลอตต์ เล่าว่า หลังจากทำมา 3 ปี ยิ่งขยายฐานลูกค้าได้มากขึ้น


ปัจจุบัน นอกจากรอยัล อินซินเนียจะทำงานตามสั่งเฉพาะบุคคลแล้ว ยังมีหน้าร้านขายชิ้นงานอัญมณีที่สนามบินชางฮีและห้างทาคาชิมายะ พวกเขายังร่วมงานกับลาเดอรัค ช็อกโกแลต ที่ ฌอน โฮ น้องชายของพวกเขานำเข้ามาจากสวิตเซอร์แลนด์ ทำกล่องช็อกโกแลตสุดพิเศษสำหรับเป็นของขวัญอีกด้วย

“ฉันว่า มันเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ดีมากๆ เพราะคนชอบซื้อช็อกโกแลตเป็นของขวัญ ซึ่งการทำกล่องช็อกโกแลตน่าจะได้ขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ได้อีก” เรเชลกล่าว