Celeb Online

ประชันโฉมเลขาฯ ผู้นำโลก แต่ละคนไม่ธรรมดาจริงๆ


หน้าที่หลักๆ ของเลขาผู้นำประเทศ คือ การรับมือกับสื่อ รวมทั้งการวงกลยุทธิ์ในการให้ข่าวที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐบาล ซึ่งหลายแห่งก็เรียกว่าเป็น โฆษกรัฐบาล แต่พวกเขาไม่ได้มีหน้าที่ออกมาพูดให้ข่าว หรือเผชิญหน้ากับสื่อต่างๆ เท่านั้น หากยังต้องเป็นคนคุมภาพรวมของสื่อรัฐ เช่น ข่าวประชาสัมพันธ์ แถลงการณ์ต่างๆ เว็บไซต์ทางการ รวมทั้งโซเชียลมีเดียของรัฐอีกด้วย

นอกจากบุคลิกหน้าตาดี ที่เป็นคุณสมบัติช่วยให้คนที่พบเห็นพอใจได้ส่วนหนึ่งแล้ว เลขาของผู้นำประเทศยังต้องมีความสามารถด้านการสื่อสารที่เป็นเลิศ เรามาดูโฉมหน้าของเลขาของบรรดาผู้นำโลกกัน


>>เคย์ลีห์ แมคเอนานี – สหรัฐ

โดนัลด์ ทรัมป์ แต่งตั้งสาวสวยผมบลอนด์ เคย์ลีห์ แมคเอนานี ขึ้นมาแทนที่ สเตฟานี่ กริแชม โฆษกคนเก่าที่เพิ่งทำงานได้เพียง 9 เดือนเท่านั้น โดย เคย์ลีห์ เป็นเลขาของทำเนียบขาวรายที่ 4 แล้ว ในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของโดนัลด์ ทรัมป์

เคย์ลีห์ แมคเอนานี ที่เพิ่งมีข่าวว่าติดเชื้อ COVID-19 และเป็นคนนำเอาเชื้อดังกล่าวมาแพร่สู่ท่านประธานาธิบดีสหรัฐด้วย นับว่ายังเด็กมาก เธอเคยเป็นเด็กฝึกงานในทำเนียบขาว ขณะที่ จอร์จ ดับเบิลยู บุช ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี


เคย์ลีห์ ศึกษาจบด้านกฎหมายจากจอร์จทาวน์ ฮาร์วาร์ด และออกซ์ฟอร์ด เธอเคยเป็นผู้สื่อข่าวพิเศษให้กับซีเอ็นเอ็น ในปี 2016 ก่อนจะเริ่มจับงานทางการเมือง ด้วยการเป็นพิธีกรรายการไลฟ์สดให้เฟซบุ๊กของทรัมป์ และเป็นโฆษกให้ฝ่ายจัดหาทุนของพรรครีพับลีกัน

เคย์ลีห์ เข้ามาช่วยโดนัลด์ ทรัมป์หาเสียงในแคมเปญชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งล่าสุด โดยมีส่วนในการช่วยแก้ข่าวให้ทรัมป์พ้นผิดในการถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งเมื่อเร็วๆ นี้ เช่นเดียวกับการมีบทบาทบนเวทีสื่อในการแก้ปัญหาภาพลักษณ์ของรัฐบาล เกี่ยวกับการระบาดของไวรัสโคโรน่า ซึ่งทำให้เธอกลายเป็นดาวเด่นขึ้นมา


>>อัลเลกรา สตราตตัน – สหราชอาณาจักร

จากผู้อำนวยการด้านงานสื่อสารของรัฐมนตรีคลัง หริศรี สุนาก อดีตผู้ประกาศข่าวสาวจากช่องไอทีวีของอังกฤษ อัลเลกรา สตราตตัน ได้เลื่อนขั้นมาทำงานในดาวนิ่งสตรีท เป็นโฆษกคนใหม่ของรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน

อัลเลกรา มีประสบการณ์ด้านสื่อมาอย่างโชกโชน เธอเคยเป็นโปรดิวเซอร์ให้ช่องบีบีซี เป็นผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่หนังสือพิมพ์เดอะ ไทม์ส รวมทั้งเป็นคอลัมนิสต์ให้ ดิ อินดีเพนเดนต์ และเดอะ นิว สเตทแมน นอกจากนี้ ยังทำพอดแคสต์ โพลิติกส์ วีคลี่ ของหนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียน ร่วมกับ ทอม คลาร์ก

อัลเลกรา ออกจากไอทีวีมาร่วมงานกับ หริศรี เมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมา ก่อนที่นายกบอริส จะเปรยว่า ต้องการผู้ช่วยในสไตล์เดียวกับทำเนียบขาวมี โดยก่อนหน้านี้ หน้าที่โฆษกรัฐบาล เป็นของผู้ช่วยของบอริส อย่างโดมินิก คัมมิ่ง และลี เคน ผู้อำนวยการกรมประชาสัมพันธ์

การดึง อัลเลกรา เข้ามาท่ามกลางวิกฤตของ COVID-19 นับว่าเป็นก้าวใหม่ของบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิ่ง


>>กาเบรียล อัตตัล – ฝรั่งเศส

โฆษกรัฐบาลฝรั่งเศส หรือ Porte-parole du Gouvernement – Secretaire d’Etat aupres du Premier Ministre เป็นหนุ่มหล่อนามว่า กาเบรียล อัตตัล

กาเบรียล ฝักใฝ่การเมืองตั้งแต่ยังเรียนมัธยม โดยเขาได้เข้าร่วมการเดินขบวนประท้วงรัฐบาลฌัก ชีรัก ในปี 2006 เพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน

ด้วยความมุ่งมั่น ทำให้กาเบรียลเลือกเรียนทางด้านรัฐศาสตร์ เมื่อเข้าไปในปีแรก เขาก็ทำแคมเปญช่วยเหลือ อิงกริด เบอตองคอร์ต นักการเมืองลูกครึ่งฝรั่งเศส-โคลอมเบีย ที่ถูกลักพาตัวโดยผู้ก่อการร้าย ขณะที่กำลังลงเลือกตั้งประธานาธิบดีโคลอมเบีย


กาเบรียล จบปริญญาโทด้านการเมืองการปกครอง จากมหาวิทยาลัยปารีส์ (ซอร์กบอนน์) วิทยาเขต ปองเตอง-อาสซาส หลังจากนั้นเขาก็เดินหน้าสู่เป้าหมายทางการเมืองด้วยการลงสมัครรับเลือกตั้ง และเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐสภาฝรั่งเศสครั้งแรกในปี 2017

กาเบรียล กลายเป็นนักการเมืองอายุน้อยและโดดเด่นที่สุด ด้วยวัย 29 ในปี 2018 เขาได้รับตำแหน่งโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาของเยาวชน และเพิ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นโฆษกคนใหม่ของรัฐบาลเอมมานูเอล มาครง เมื่อเดือนกรกฎาคม 2020 ต่อจาก ซีเบต เอ็นเดียเย โฆษกคนเก่ามีปัญหาด้านการสื่อสาร


>>ริคการ์โด ฟรักกาโร – อิตาลี

จากรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สู่ผู้ช่วยด้านการสื่อสาร หรือ Segretario del Consiglio dei Ministri ของนายกจิวเซปเป คอนเต้ นับว่าเป็นตำแหน่งที่มาไกลของ ริคการ์โด ฟรักกาโร อดีตพนักงานบริษัทด้านพลังงาน ที่จบการศึกษาทางด้านสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยเทรนโต ทางตอนเหนือของอิตาลี

อาจจะเป็นเพราะว่า ริคการ์โด ทำงานในตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกของนายกรัฐมนตรีของจิวเซปเป คอนเต้ มาตั้งแต่ต้น จึงได้รับความไว้วางใจให้เข้ามาทำหน้าที่นี่แทน จันการ์โล จอร์เกตติ ที่ทำงานร่วมกับนายกรัฐมนตรีมานาน แต่กลับมีข่าวฉาวเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น จนต้องยุติบทบาทของตัวเองไป


>>สเตฟเฟ่น ไซเบิร์ต – เยอรมนี

เยอรมนีเป็นอีกประเทศที่มีโฆษกรัฐบาลเป็นผู้ชาย สเตฟเฟ่น ไซเบิร์ต อดีตผู้สื่อข่าวรายการฮอยเตอ เจอร์นัล ทางช่องเซทเดเอฟ

สเตฟเฟ่น จบการศึกษาทางด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยลอนดอน เขาเริ่มทำงานที่สถานีโทรทัศน์เซทเดเอฟ ที่แคว้นบาวาเรีย ในฐานะผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 1989


ระหว่างนั้น เขาก็ได้ทำงานเป็นพิธีกรรายการอีเวนต์ เช่นงานแจกรางวัลสำคัญๆ ต่างๆ รวมทั้งทอล์กโชว์หลายเวที ทำให้สเตฟเฟ่น มีโอกาสได้สัมภาษณ์คนดังๆ รวมทั้งผู้นำประเทศมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เอฟ. ดับเบิลยู. เดอ เคลิร์ก อดีตประธานาธิบดีของแอฟริกาใต้ มิคาอิล กอร์บาชอฟ อดีตประธานาธิบดีรัสเซีย หรือดาไลลามะ องค์ที่ 14 ฯลฯ

สเตฟเฟ่น ย้ายจากบ้านเกิดในมิวนิคเข้ามาอยู่ในกรุงเบอร์ลินในปี 2011 โดยเริ่มเข้ามามีบทบาททางการเมือง โดยการเป็นสมาชิกในคณะกรรมการ เบร็กซิต เพื่อรับมือกับการที่สหราชอาณาจักร จะออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป โดยเขาได้รับการแต่งตั้งเป็นโฆษกของคณะกรรมการชุดนี้ ก่อนที่จะได้รับการเลื่อนขั้นเป็นโฆษกของรัฐบาลในที่สุด


>>หัวชุนยิง – จีน

หัวชุนยิง โฆษกรัฐบาลจีน เกิดในครอบครัวสายเลือดนักการเมือง โดยบิดาของเธอเป็นอดีตผู้ว่าการเมืองหวยอัน มณฑลเจียงซู ขณะที่มารดาก็เป็นรองผู้ว่าการเขตการปกครองท้องถิ่น

หัวชุนยิง จบการศึกษาด้านอักษรศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยนานกิง พอเรียนจบปุ๊บ เธอก็ได้งานในกิจการยุโรปตะวันตกของรัฐบาล โดยอยู่ในองค์กรดังกล่าวถึง 20 ปี ก่อนจะได้เป็นโฆษกรัฐบาล ในระหว่างนั้น ก็ได้ถูกส่งตัวไปเป็นทูตที่สิงคโปร์ 4 ปี รวมทั้งได้เป็นผู้ช่วยโฆษก และเป็นโฆษกกระทรวงต่างประเทศ

แม้ว่า หัวชุนยิง จะถูกสอบสวนเรื่องการกักตุนเงินดอลลาร์จำนวนมากเอาไว้ที่บ้าน และต้องยุติหน้าที่ในกระทรวงต่างประเทศเอาไว้ชั่วคราว แต่เธอก็กลับมาทำงานได้โดยไม่ต้องโทษใดๆ แถมกลายเป็นสตรีคนที่ 2 ของจีน ที่ได้นั่งตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารของกระทรวงฯ ในปีถัดมา

ไม่รู้เป็นเพราะผลงานการตอบโต้รัฐบาลสหรัฐ ที่กดดันให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองของจีน ปูชีเชียง ที่บอกว่า “ให้อเมริกาสนใจปัญหาในประเทศตัวเอง เลิกทำตัวเป็นตำรวจโลกเสียที” หรือเปล่า ที่ทำให้ หัวชุนยิง เข้ามานั่งเป็นโฆษกรัฐบาลในตอนนี้


>>คัตสึโนบุ คาโต้ – ญี่ปุ่น

โฆษกรัฐบาลใหม่ของนายก โยชิฮิเดะ ซูกะ คือคนหน้าเดิมจากสมัยรัฐบาลชินโสะ อาเบะ อย่าง คัตสึโนบุ คาโต้

ใครจะเหมาะสมในการรับช่วงจากอดีตโฆษกเลื่อนฐานะไปเป็นนายกรัฐมนตรี มากกว่ารัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขผู้มีบุคลิกโดดเด่น และเต็มไปด้วยวาทศิลป์ในการพูดต่อหน้าสาธารณะคนนี้

ไม่ใช้ครั้งแรกที่ คัตสึโนบุ เข้ามาทำงานภายใต้อาณัติของ โยชิฮิเดะ ซูกะ ก่อนหน้านี้ เขาเคยทำงานเป็นผู้ช่วยโฆษกรัฐบาลมาก่อน ระหว่างปี 2012 – 2015 ซึ่งเป็นช่วง 3 ปีแรกที่ชินโสะ อาเบะ ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี

หลังจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโตเกียว คัตสึโนบุ คาโต้ ก็เข้าทำงานในกระทรวงการคลังตั้งแต่ปี 1979 หลังอกหักจากการแพ้การเลือกตั้งมาหลายครั้ง ในที่สุดเขาก็ได้เข้ามารับใช้ชาติในสมัยของรัฐบาลชินโสะ อาเบะ ในปี 2012 จากผู้ช่วยโฆษกรัฐบาล ขยับไปเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีประจำสำนักนายก และกลับมาเป็นโฆษกรัฐบาลเบอร์หนึ่ง

มีข่าวเมาท์ว่า สมัยเป็น รมว. สาธารณสุข เขาเข้าวัดไปสวดมนต์ทุกสัปดาห์ เพื่อสวดปัดเป่าเชื้อโรคร้ายให้หายไปจากญี่ปุ่น