Celeb Online

ประวัติศาสตร์ “ทายาทการเมือง” ในเอเชีย ล้วนสืบทอดอำนาจจากตระกูลเดิม


การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำของ แพรทองธาร ชินวัตร นับเป็นอีกครั้งที่ย้ำเตือนให้รู้ว่า การสืบทอดอำนาจในตระกูลทางการเมือง เป็นสิ่งที่พบเห็นมาตลอด ไม่เพียงแต่ในประเทศที่ยากจนหรือเผด็จการ แต่ยังครอบคลุมถึงประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นประชาธิปไตย ทั้งครอบครัวซูฮาร์โตของอินโดนีเซีย ตระกูลมาร์กอสของฟิลิปปินส์ ถ้ามองในระดับทวีปเอเชีย จะพบเห็นอีกหลายประเทศที่สืบทอดอำนาจด้วยเส้นสายของ DNA


เริ่มจาก “เกาหลีเหนือ” “คิมอิลซุง” ผู้ก่อตั้งเกาหลีเหนือ ในฐานะผู้นำกองโจรต่อต้านอำนาจอาณานิคมของญี่ปุ่นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้จะอยู่ภายใต้อิทธิพลของโซเวียตรัสเซียในขณะนั้น แต่คิมไม่ใช่คอมมิวนิสต์ และเขาก็ไม่มีความคิดเกี่ยวกับลัทธิมาร์กซิสม์เลย “อุดมการณ์จูเช” ของเขาซึ่งเป็นชุดความคิดที่ฟังดูเป็นปรัชญาที่ว่างเปล่า ช่วยให้เขาปลดปล่อยตัวเองจากแรงกดดันให้ยึดมั่นในแนวทางออร์โธดอกซ์ของโซเวียต ตั้งแต่ปี 1980 คิมแต่งตั้ง “คิมจองอิล” ลูกชายขึ้นสืบทอดตำแหน่ง จนมาถึง “คิมจองอุน” ลูกชายคนเล็กของคิมจองอิล ที่ได้เป็นผู้นำเกาหลีเหนืออย่างเร่งรีบ หลังจากที่คิมจองอิลเป็นหลอดเลือดสมองตีบในปี 2008 และดูเหมือนว่ารุ่นที่สี่กำลังจ่อคิวรอ


ส่วน “อินเดีย” ตระกูล “เนห์รู-คานธี” เริ่มมีบทบาทตั้งแต่อินเดียประกาศเอกราช “โมติลาล เนห์รู” (1861-1931) เป็นประธานาธิบดี 2 สมัยของพรรครัฐสภาแห่งชาติ และ “ชวาหระลาล เนห์รู” (1889-1964) ลูกชายของเขาได้เป็นนายกฯ คนแรกของอินเดีย ต่อมา “อินธิรา คานธี” (1917-1984) ซึ่งเป็นลูกสาวได้เป็นผู้นำรัฐบาลต่อจากพ่อ ในปี 1966-1977 เธอเสียชีวิตจากการถูกลอบสังหาร “ราจีฟ คานธี” ลูกชายคนโตได้สืบทอดตำแหน่งนายกฯ ในปี 1984-1989 และเสียชีวิตจากการถูกลอบสังหารเช่นกัน ส่วน “ซันเจย์” ลูกชายคนเล็กมีอิทธิพลทางการเมืองในช่วงทศวรรษ 1970 แต่ก็ประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตกในปี 1980 “ราหุล คานธี” ลูกชายของราจีฟและโซเนีย คานธี มีบทบาทในรุ่นที่ห้าเช่นกัน เขาได้เป็นรองประธานสภาแห่งชาติ แต่บทบาททางการเมืองของตระกูล “เนห์รู-คานธี” ก็สิ้นสุดลงที่รุ่นนี้ หลังพ่ายแพ้การเลือกตั้งในปี 2014 ให้กับพรรคภารติยะชนตะ (BJP)


สำหรับ “ไต้หวัน” นั้น “เจียงจิงกัว” ลูกชายของ “เจียงไคเชก” ซึ่งหลบหนีจากจีนแผ่นดินใหญ่ และได้เริ่มปฏิบัติการ ‘White Terror’ บนเกาะไต้หวันอย่างโหดเหี้ยมของพรรคก๊กมินตั๋ง หลังขึ้นสู่อำนาจในไทเปเมื่อปี 1950 เขาให้เจียงจิงกัว-ลูกชายไปดูแลหน่วยตำรวจลับ ก่อนจะแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อเจียงไคเชกเสียชีวิตในปี 1975 ลูกชายก็สืบทอดอำนาจเผด็จการ ต่อมาได้เปิดเสรีและผ่อนคลายการเซ็นเซอร์ ในปี 1987 หกเดือนก่อนที่เจียงจิงกัวจะเสียชีวิต เขาได้ยกเลิกกฎอัยการศึกที่บังคับใช้มาเกือบ 39 ปี ทุกวันนี้ไต้หวันเป็นประชาธิปไตยที่มีชีวิตชีวาอย่างเหลือเชื่อ


“สิงคโปร์” ก่อนหน้านี้เคยอยู่ภายใต้การนำของ “ลีกวนยู” ถึง 31 ปี ตั้งแต่ปี 1959 ก่อนจะโอนถ่ายอำนาจให้กับ “ลี เซียนลุง” ลูกชายของเขา และครองตำแหน่งผู้นำต่ออีก 14 ปี

“ญี่ปุ่น” ซึ่งมีนายกฯ 8 คนนับตั้งแต่ช่วงเปลี่ยนสหัสวรรษ โดย 5 คนมาจากตระกูลทางการเมือง สามคนเป็นลูกหรือหลานชายของนายกฯ คนก่อนๆ รวมถึง “ชินโซ อาเบะ” ก็อยู่ในรุ่นที่สี่ ซึ่งปู่และลุงของเขาเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทั้งคู่