Celeb Online

เมื่อชายผู้บริจาค ‘สเปิร์ม’ คิดอยากตามหาลูกๆ


ช่วงทศวรรษ 1980 “คริสโทฟ ซีกวาร์ต” เคยเป็นผู้บริจาคเชื้ออสุจินิรนามคนสำคัญของคลินิกสูตินรีแพทย์ในเมืองซูริก เริ่มจากการเป็นนักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือก เพื่อช่วยเหลือคู่สมรสที่มีปัญหาเรื่องการมีบุตร สเปิร์มของซีกวาร์ตจัดอยู่ในกลุ่มคุณภาพสูง เนื่องจากเขาไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่เสพยาเมา สเปิร์มของเขาจึงสมบูรณ์แบบ

เมื่อมีครั้งแรกก็ย่อมมีครั้งต่อไป ซีกวาร์ตเริ่มแลกเปลี่ยนน้ำอสุจิอุ่นๆ ของเขากับค่าธรรมเนียม 60 ฟรังก์สวิส (ราว 2,150 บาท) สัปดาห์ละครั้ง สูงสุดสองครั้ง เขาไม่ได้จดบันทึกเรื่องเหล่านี้ไว้ แต่ถ้าลองคำนวณคร่าวๆ การหลั่งอสุจิของเขาแต่ละครั้งออกมาประมาณหนึ่งช้อนชา ซีกวาร์ตก็น่าจะบริจาคสเปิร์มของเขาไปเป็นลิตร คลินิกต้องใช้สเปิร์มจำนวนมาก เพราะต้องมีการผสมเทียมหลายครั้งหรือหลายสิบครั้งกว่าผู้หญิงคนหนึ่งจะตั้งครรภ์ได้ และเมื่อพิจารณาจากจำนวนเงินที่ซีกวาร์ตได้รับจากการบริจาคในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แน่นอนว่าเขาน่าจะให้กำเนิดเด็กมากกว่าแค่สามคน


คริสโทฟ ซีกวาร์ต นักศึกษาด้านกฎหมายในขณะนั้น รู้ตัวเองดีว่าเป็นเกย์ และคิดว่าไม่สามารถมีครอบครัวได้ “การบริจาคเมล็ดพันธุ์ของผมให้กับคู่สามี-ภรรยาที่อยากมีลูก ทำให้ความปรารถนาที่จะเป็นพ่อของผมเป็นจริงไปด้วย” แต่ในเวลานั้นเขายังไม่มีความคิดที่จะต้องการทำความรู้จักกับลูกๆ ของเขา นอกจากนั้นเงินที่เขาได้รับจากการบริจาคสเปิร์ม ระหว่างปี 1982-1986 ประมาณ 480 ฟรังก์สวิสต่อเดือน (ราว 17,000 บาท) เขายังใช้เป็นค่าเช่าที่พักในเมืองระหว่างเรียนอยู่ได้ด้วย

ซีกวาร์ต ปัจจุบันวัย 65 ใช้ชีวิตอยู่อย่างสงบในบินนินเกน (รัฐบาเซล-ลันด์ชัฟต์) เขาไม่รู้ว่ามีผู้หญิงกี่คนที่ตั้งครรภ์จากเมล็ดพันธุ์ของเขา หรือมีเด็กกี่คนที่เกิดมา เขาไม่เคยเจอหน้าลูก ไม่รู้ว่าพวกเขาจะทำหน้าบูดบึ้งหรือหัวเราะ หรือแบ่งปันเรื่องราวในวัยเด็กให้เขาฟังหรือไม่ ถ้าได้เจอกัน พวกเขาจะตัวสูงใหญ่เหมือนเขาทุกคนหรือไม่ ซีกวาร์ตเคยมีความคิดเหล่านี้แวบเข้ามาในสมอง เมื่อฤดูใบไม้ร่วงปี 2019 ตอนที่เขานั่งรถรางผ่านคลินิกแห่งนั้นในซูริก ซึ่งรูปทรงอาคารเปลี่ยนแปลงไปหลังจากได้รับการบูรณะใหม่ และไม่เหลือร่องรอยของคลินิกนั้นแล้ว หลังจากนั้นเขาก็ค่อยๆ ล้มเลิกความคิด

กระทั่งวันหนึ่งเขาได้รับจดหมาย บนหน้าซองมีโลโก้สีเขียว-ฟ้าโดดเด่นของหน่วยงาน ‘เด็กอุปถัมภ์และบุตรบุญธรรมสวิตเซอร์แลนด์’ (PACH) ซีกวาร์ตรีบเปิดซองอ่านข้อความในจดหมาย “คุณจะประหลาดใจที่ได้รับการติดต่อจากสำนักงานของเรา” ถึงตอนนั้นเขาเริ่มเข้าใจว่าเขากำลังจะพบกับเรื่องอะไร ความรู้สึกใหม่ที่อบอุ่นเริ่มแผ่ซ่านไปทั่วร่างเขา จากนั้นเขาก็โทรศัพท์หาชายคนรัก บอกว่าลูกคนหนึ่งหาตัวเขาเจอแล้ว!


“มัตเทียส เบอนี” คือลูกคนนั้น เป็นนักสังคมสงเคราะห์วัย 36 ปี ติดต่อผ่านหน่วยงาน PACH เพื่อตามหาพ่อโดยสายเลือด ไม่นานหลังจากนั้น PACH ได้ส่งเอกสารข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์ของเขา ไม่ว่าจะเป็น ภาพถ่าย จดหมายติดต่อ รวมทั้งผลทดสอบทางพันธุกรรม ข้อมูลชิ้นแรกและสำคัญที่สุดนั้น มัตเทียส เบอนี ได้รับจากแม่ของเขา มันเป็นแบบฟอร์มข้อตกลงที่พ่อกับแม่ของเขาเซ็นยอมรับสเปิร์มจากผู้บริจาค ด้านบนซ้ายมีชื่อแพทย์ “เพเทอร์ ดิเอโก ฮากมันน์” พร้อมที่อยู่ในซูริก หลังจากนั้นเป็นขั้นตอนการทำงานของ PACH ในการตามหาแพทย์เจ้าของเคสจนเจอ และตามหาเอกสารหลักฐานจากหมายเลขที่ปรากฏบนแบบฟอร์ม จนได้ข้อมูลผู้บริจาคสเปิร์ม : 6b ส่วนสูง 186 เซนติเมตร นัยน์ตาสีฟ้า ผิวขาว ผมสีบลอนด์ ไม่มีตำหนิที่อวัยวะส่วนไหนเป็นพิเศษ พร้อมกันนั้นยังมีข้อมูลปีเกิด สาขาวิชาที่เรียน และอาชีพ มัตเทียสและ PACH ใช้เวลาไม่นานก็พบชื่อ คริสโทฟ ซีกวาร์ต และที่อยู่ในบินนิงเกน

ก่อนที่พ่อกับลูกจะพบเจอกัน ทั้งสองพูดคุยกันผ่านอีเมล ซีกวาร์ตเล่าเรื่องราวของเขาให้มัตเทียสฟังอย่างละเอียด ตั้งแต่ชีวิตในขณะเป็นนักศึกษาในซูริก จนถึงเรื่องการคบหาชายคนรัก อีกทั้งยังแบ่งปันความทรงจำในวัยเด็กของเขาให้ลูกชายฟังด้วย ต้นเดือนตุลาคมปีที่แล้ว พวกเขานัดเจอกันครั้งแรกที่สถานีรถไฟเมืองบาเซล

ฟังดูเหมือนเรื่องราวจะจบแบบแฮปปี้ เอนดิง แต่ในความคิดของมัตเทียส เบอนีไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น จากการคำนวณเขาคิดว่าอย่างน้อยพี่น้องสายเลือดพ่อเดียวกันกับเขา จะต้องมีอย่างมากที่สุดแปดคน ตามหลักเกณฑ์ทางจริยธรรมสำหรับเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ของสวิตเซอร์แลนด์ ในช่วงทศวรรษ 1980 เรื่องนี้ปลุกเร้า คริสโทฟ ซีกวาร์ต ให้รู้สึกอยากพบเจอลูกๆ ของเขาทุกคนขึ้นมาเหมือนกัน

ตอนนี้ทั้งสองเริ่มมีอะไรมากกว่ายีนร่วมกัน นั่นคือ ภารกิจในการตามหาสมาชิกที่เหลือในครอบครัวของพวกเขา