อดีตประธานาธิบดีหญิง พัคกึน-ฮเย สร้างประวัติศาสตร์เป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของเกาหลีใต้ รวมทั้ง ยังได้สร้างประวัติศาสตร์ในการเป็นประธานาธิบดีคนแรกของเกาหลีใต้ ที่ถูกรัฐสภาลงมติถอดถอนอีกด้วย อันเนื่องมาจากความผิดเรื่องการรับสินบน การใช้อำนาจโดยไม่ชอบ การรับเงินจากสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ละเมิดกฎหมายเลือกตั้ง และอีกหลายความผิด
คดีของเธอกลายเป็นเรื่องอื้อฉาวในแวดวงการเมืองเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา โดยมีการถ่ายทอดผลการตัดสินไปทั่วประเทศ เนื่องเพราะเป็นคดีที่สร้างความวุ่นวายในประเทศ สร้างความไม่พอใจให้กับทุกชนชั้นนำทางการเมือง และเศรษฐกิจของเกาหลีใต้อย่างมาก
ทว่า ในวันที่ศาลตัดสินให้ พัคกึน-ฮเย ต้องโทษจำคุก 24 ปี พร้อมยึดทรัพย์สินอีก 2 หมื่นกว่าล้านวอนให้ตกเป็นของรัฐนั้น เธอไม่ยอมมารับฟังในชั้นศาล แถมกล่าวหาว่าศาลไม่มีความยุติธรรม ภายหลังศาลมีการเพิ่มโทษให้อีก 5 ปี 12 เดือน รวมแล้วเป็น 32 ปี
ล่าสุด ศาลกรุงโซลได้ลดโทษให้อดีตประธานาธิบดีหญิงลง 10 ปี เหลือ 22 ปี ซึ่งเธอได้ติดคุกไปแล้ว 2 ปี ทำให้เหลือเวลาที่จะอยู่ในคุกรับโทษเรื่องการทุจริตต่อไปอีก 20 ปี เรียกว่า อาจจะมีสิทธิ์ได้ออกจากคุกแบบไร้วิญญาณกันเลยทีเดียว
มีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ตำแหน่งประธานาธิบดีของเกาหลีใต้นั้นเหมือนเผือกร้อน เป็นตำแหน่งที่ต้องสาป แม้จะอยู่ภายใต้ความกดดันและระบบการการตรวจสอบที่แน่นปึกกว่าที่ใดในโลกแล้ว ก็ยังจะมีช่องทางให้ทุจริตคอรัปชั่นกันได้
มีอดีตประธานาธิบดีถึง 11 ราย (4 ยังมีชีวิตอยู่) ทีเดียว ที่ต้องจบเส้นทางทางการเมืองแบบไม่สวยงาม เพราะข้อหาทุจริตคอรัปชั่น
หรือว่า ทำเนียบสีฟ้า ของประธานาธิบดีเกาหลีใต้จะต้องสาป อาจจะมีมนต์ดำที่ใครแพร่พิษเอาไว้ยั่วยวนผู้มีอำนาจสูงสุดของประเทศนี้หรือไม่?
เริ่มตั้งแต่ประธานาธิบดีคนแรกของเกาหลีใต้กันเลย ซิงมันรี ที่อยู่ในตำแหน่งช่วงปี 1948-1960 เขาจบจากสหรัฐและได้รับการสนับสนุนจากเมืองมะกันในการขึ้นเป็นผู้นำประเทศ และนำพาเกาหลีใต้ได้เอกราชจากญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ซิงมันรี มีอำนาจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะหลังจากสงครามเกาหลี (1950-53) ที่เขาได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 4 เมื่อโดยจับได้ว่าทุจริตเลือกตั้ง ประชาชนออกมาประท้วงขับไล่เขาออกจากตำแหน่ง เขาก็ลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ที่ฮาวาย และไม่ได้กลับบ้านเกิดอีกเลย
นายพลพัคจุง-ฮี บิดาของ อดีตประธานาธิบดีหญิง พัคกึน-ฮเย ได้การยอมรับในฐานะผู้ฉุดเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญแบบก้าวกระโดด ในทศวรรษที่ 1960-70 อีกด้านมืดของเขาคือจับคนฝั่งที่ขัดแย้งเข้าคุกเป็นว่าเล่น จนได้ฉายาจอมเผด็จการมาครอง เขาเสียชีวิตจากการถูกลอบสังหารในปี 1979
ชุนดู-ฮวาน เป็นทหารอีกรายที่ขึ้นมานั่งตำแหน่งประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ โดยเข้ามาด้วยการทำรัฐประหาร และครองอำนาจถึง 8 ปี ก่อน ประชาชนจะออกมาเรียกร้องให้ชุนจัดการเลือกตั้ง เขาหนีไปบวช แต่ก็ถูกสังคมกดดันให้นำตัวมารับความผิดฐานคอร์รัปชั่นและละเมิดสิทธิมนุษยชน
นายทหารคู่หูของนายพลชุน อย่าง โรห์แต-วู ชนะเลือกตั้งเข้ามาเป็นประธานาธิบดีในปี 1987 แต่ในที่สุด ก็ถูกจับพร้อมกับ ชุนดู-ฮวาน ในปี 1995 ข้อหารับสินบนจากนักธุรกิจขณะดำรงตำแหน่ง รวมทั้งการใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมปี 1979 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคนในเมืองกวางจู
คิมยอง-ซัม ได้รับเลือกตั้งมาด้วยนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่น ก่อนที่ความนิยมจะร่วงลงอย่างรวดเร็ว เมื่อเจอวิกฤตเศรษฐกิจของเอเชียในทศวรรษ 1990 ทำให้ต้องรับเงินจากบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ในเกาหลี เพื่อนำไปใช้หนี้ไอเอ็มเอฟ ในที่สุดก็ต้องลงจากอำนาจด้วยเรื่องฉาวของการคอร์รัปชั่น และบุตรชายที่ช่วยทำงานการเมืองก็พลอยติดตารางไปด้วย
ผู้นำฝ่ายค้านหลายสมัย และนักเคลื่อนไหวเรื่องประธิปไตย คิมแด-จุง ทำภารกิจสำคัญเมื่อขึ้นเป็นประธานาธิบดี ก็คือ การเจรจาสันติภาพกับ คิมจองอิล ผู้นำเกาหลีเหนือขณะนั้น จนได้รับรางวัลโนเบล แต่ในที่สุดชีวิตการเมืองก็จบลงด้วยอีหรอบคอร์รัปชั่นเช่นกัน และต้องรับโทษพร้อมกับลูกชายอีก 3 คน
หลังลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีได้ 1 ปี โรห์มู-ฮยุน ก็กระโดดหน้าผาฆ่าตัวตาย ท่ามกลางข้อกล่าวหาว่าครอบครัวของเขารับสินบนจากนักธุรกิจ โดยพี่ชายของเขาถูกตัดสินว่า ผิดฐานอาศัยชื่อเขาไปหาผลประโยชน์ ขณะที่ตัวโรห์เองก็ถูกสอบสวนเรื่องทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง
ชาวเกาหลีใต้คาดหวังให้ ลี มยุง-บัค อดีตซีอีโอของฮุนได เข้ามาช่วพยุงเศรษฐกิจที่กำลังย่ำแย่ แต่ในที่สุดเขาก็จบเส้นทางการเมืองด้วยข้อหาคอร์รัปชั่น รับสินบน โกงภาษี และเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง