แฟ้มลับระบุเรื่องประธานาธิบดีจากตระกูลราชปักษา สะสมงานศิลปะล้ำค่า และมีเงินฝากส่วนตัวนอกอาณาจักรศรีลังกาจำนวนมาก เรียกว่า ครอบครัวนี้มีแต่รวยขึ้นๆๆๆ โดยอดีตประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา ได้จ้างบริษัทลับในการซุกซ่อนสมบัติความร่ำรวยของเขาและครอบครัวไว้ทั่วโลก
ในต้นปี 2018 คนงานในโกดังแห่งหนึ่งกลางกรุงลอนดอน กำลังบรรจุภาพสีน้ำมันของพระลักษมี เทพแห่งความอุดมสมบูรณ์ของฮินดู ขึ้นสู่รถแวนเพื่อที่จะส่งไปยังสวิตเซอร์แลนด์
ภาพสีน้ำมันดังกล่าวมาจากศตวรรษที่ 19 ผลงานของศิลปินชื่อดังชาวอินเดีย ราชา ระวี วาร์มา เป็นภาพพระแม่ลักษมี 4 กร ในเครื่องทรงส่าหรีสีแดง สวมเครื่องประดับทองคำ ประทับยืนบนดอกบัว นี่เป็นหนึ่งในงานศิลปะ 31 ชิ้น ที่รวมๆ แล้วมูลค่าราว 1 ล้านดอลลาร์ จากโกดังเก็บของที่มีขนาดใหญ่กว่าสนามฟุตบอล 20 สนาม ได้ถูกส่งลงเรือไปไปขึ้นที่ท่าเจนีวา ฟรีพอร์ต สวิตเซอร์แลนด์ โดยบีบีซีเรียกว่า งานศิลปะที่ไม่มีใครได้เห็น
มีบันทึกว่า ภาพพระแม่ลักษมี และงานศิลป์ชิ้นอื่นๆ ที่ถูกส่งลงเรือไปด้วยกัน มีการจัดการส่งโดยบริษัทลอยๆ ที่ไม่มีสำนักงาน ชื่อว่า แปซิฟิก คอมโมดีไทส์ แต่ก็มีเอกสารรั่วมาจากเอเชียซิตี ทรัสต์ บริษัทให้บริการทางการเงินในสิงคโปร์ว่า บริษัทลอยๆ ดังกล่าวได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากฝ่ายการเมืองศรีลังกา อย่าง ทีรุกุมาร์ นาเดซาน ผู้เป็นเจ้าของชิ้นงานศิลปะ 31 ชิ้น โดยภริยาของเขาก็คือ นิรุพามา ราชปักษา อดีต สส. ศรีลังกา และเป็นหนึ่งในทายาทตระกูลราชปักษา ที่ปกครองศรีลังกามาหลายทศวรรษ
เอกสารลับที่ได้มาจากการทำข่างเชิงสืบสวนสอบสวนของนักข่าวนานาชาติ แสดงให้เห็นว่า ระหว่างที่ประเทศศรีลังกาถูกทำลายจากสงครามกลางเมืองที่ยาวนานนับทศวรรษ ตระกูลราชปักษาได้ก่อตั้งกองทุน และบริษัทลอยๆ ขึ้นนอกอาณาจักร เพื่อที่จะสะสมชิ้นงานศิลปะ อพาร์ตเมนต์หรู รวมทั้ง สะสมเงินสดแบบลับๆ
พวกเขาสามารถสะสมความร่ำรวย และมีอำนาจในการปกปิดเป็นความลับ ด้วยความช่วยเหลือจากองค์กรทางการเงิน นักกฎหมาย และมืออาชีพอื่นๆ ที่ไม่สนใจที่จะถามที่มาที่ไปของความร่ำรวยของพวกเขา แม้ว่า ตอนที่ ทีรุกุมาร์ นาเดซาน กลายเป็นเป้าโจมตีเรื่องคอร์รัปชั่น และกำลังถูกไต่สวนโดยทางการศรีลังกาก็ตาม
ในปี 2017 บริษัทลอยๆ ของตระกูลราชปักษาและนาเดซาน ที่ไม่มีใครรู้ว่ามีอยู่ มีมูลค่าถึง 18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่รายได้ของประชาชนศรีลังกาเฉลี่ยปีละ 4,000 บาท/คน
เคยมีหลักฐานเป็นอีเมลจาก ทีรุกุมาร์ นาเดซาน ถึง เอเชียซิตี ที่เป็นที่ปรึกษาทางการลงทุนของเขามานาน มีรายละเอียดระบุการลงทุนกว่า 160 ล้านดอลลาร์ในปี 2011 โดยเป็นการลงทุนโดยตรงกับ เอเชียซิตี 11.9 ล้านดอลลาร์ และที่เหลือลงทุนกับบริษัทอื่นๆ อีก 13 แห่ง
จากการสืบสวนของทีมนักข่าวโลก ที่เรียกว่า แพนดอรา เปเปอร์ส อินเวสติเกชัน เป็นเวลา 2 ปีเต็ม พบว่า มีการดูดเงินเป็นพันๆ ล้านดอลลาร์ จากประเทศที่ยากจนและปกครองแบบอัตตาธิปไตย ไปสู่บัญชีส่วนตัว ที่มีรายชื่อเป็นผู้บริหารบริษัทลอยๆ และกองทุนโนเนม ที่ดูเหมือนไม่มีตัวตนและตรวจสอบไม่ได้
หลายๆ ประเทศประสบปัญหาเดียวกันนี้ ขณะที่ความร่ำรวยตกอยู่ในมือของคนไม่กี่คน อย่างเช่นในศรีลังกา ที่นักเศรษฐศาสตร์บอกว่า ช่องว่างรหว่างคนรวยกับคนจนนับวันยิ่งกว้างขึ้น กฎเกณฑ์การเก็บภาษีที่หย่อนยาน กลายเป็นช่องทางสร้างความร่ำรวยและเป็นอำนาจต่อรองของคนบางกลุ่ม ในขณะที่ประเทศยังต้องฟื้นฟูจากบาดแผลของสงครามกลางเมือง รายได้ของประเทศไม่ได้นำไปพัฒนาการศึกษา การสาธารณสุข หรือพัฒนาสังด้านใดๆ
ปิยะดาซา เอดิริสุริยา อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังศรีลังกา ที่ตอนนี้ไปเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยโมนาช ประเทศออสเตรเลีย ให้ความเห็นว่า บริษัทการเงินระหว่างประเทศทั้งหลาย ควรจะมีหน้าที่ระงับการเงินที่ดูไม่ชอบมาพากล โดยเฉพาะเงินที่มาจากฝ่ายการเมือง และควรจะติดตามดูการทำธุรกรรมทางการเงินของพวกเขาด้วย “แต่ส่วนใหญ่เลือกที่จะนิ่งเฉย ทำให้คนศรีลังกาบางคนสามารถโกยเงินเข้ากระเป๋าได้จากการคอร์รัปชั่น และแอบนำมาซุกไว้ที่ต่างประเทศ”
โกตาบายา ราชปักษา เป็นอดีตประธานาธิบดีศรีลังกา ขณะที่ บิดาที่ล่วงลับของ นิรุพามา ราชปักษา เป็นลูกพี่ลูกน้องของเขา และในสมัยเดียวกัน มี (อดีต) นายกรัฐมนตรี ชื่อ มหินทา ราชปักษา ซึ่งเป็นพี่ชายแท้ๆ ของโกตาบายา กลุ่มสิทธิมนุษยชน กล่าวหาว่า สองพี่น้องเป็นอาชญากรสงคราม นอกจากนี้ อดีตเจ้าหน้าที่รัฐเคยยื่นฟ้องเรื่องการคอร์รัปชั่นของสองพี่น้อง โดยบอกว่า พวกเขานำเงินชาตินับพันล้านไปซุกไว้ที่บัญชีธนาคารส่วนตัวในดูไบ เกาะเซย์เชลส์ และเซนต์มาร์ติน งานนี้สมาชิกครอบครัวราชปักษาอย่างน้อย 8 คน และผู้ร่วมขบวนการ ได้ถูกสอบสวน จนบางคนถูกฟ้องข้อหาฉ้อฉล คอร์รัปชั่น ยักยอกเงิน
สามีของ นิรุพามา ราชปักษา เผชิญกับข้อกล่าวหายักยอกเงินรัฐไปจ่ายค่าจ้างสร้างวิลล่าสุดหรู ให้กับรัฐมนตรีรายหนึ่งในรัฐบาลของเขา อย่างไรก็ตาม เขาแก้ต่างว่า นี่เป็นการใส่ร้ายป้ายสีกันทางการเมือง ทุกธุรกรรมการเงินของเขาดำเนินการอย่างถูกต้อง ตามคำแนะนำของที่ปรึกษาทางการเงินทุกประการ แต่เขาปฏิเสธที่จะพูดถึงกองทุนและบริษัทลอยๆ ในต่างประเทศ
ตระกูลราชปักษาสร้างความร่ำรวยขึ้นมาท่ามกลางสงครามกลางเมืองที่ดำเนินอยู่กว่า 40 ปี ในศรีลังกา โดย ดอน อัลวิน ราชปักษา ให้สิทธิพิเศษกับคนเชื้อสายสิงหล ขณะที่กดขี่คนที่มีเชื้อสายทมิฬ ทำให้เกิดการลุกฮือขึ้นจากชนกลุ่มน้อย
หลังจาก โกตาบายา ราชปักษา ลูกชายของดอน อัลวิน ขึ้นเรืองอำนาจ เหตุการณ์ยิ่งเลวร้ายรุนแรงขึ้น จนเขาได้ฉายา “เทอร์มิเนเตอร์” ด้วยความโหดเหี้ยมของเขา
รายงานข่าว่า ช่วงเวลานั้น นิรุพามา และสามี ก็เริ่มตั้งบริษัทลอยๆ รวมทั้งกองทุน นอกศรีลังกา เรื่องราวของตระกูลนี้แทบไม่ต่างจากตระกูลมาร์กอสของฟิลิปปินส์
ขณะที่สงครามกลางเมืองยังขยายตัวออกไป ในปี 1991 นิรุพามา และสามี ก่อตั้งบริษัทแปซิฟิก คอมโมดีไทส์ และบริษัท โรเซตติ ทั้งคู่ยังได้ซื้ออพาร์ตเมนต์หรูในซิดนีย์ ใกล้ๆดาร์ลิง ฮาร์เบอร์ ผ่านบริษัท โรเซตติ รวมทั้งอพาร์ตเมนต์อีกสามแห่งในลอนดอน โดยที่ไม่มีใครรู้ว่า ซื้อโดยตระกูลราชปักษา ที่ควบคุมงบการเงินของศรีลังกาไว้กว่า 70%