Celeb Online

เบื้องหลังชีวิตลึกๆ (ลับๆ) ของ ซีเอฟโอหัวเว่ย "เมิ่งหว่านโจว"


เมิ่งหว่านโจว หัวหน้าเจ้าหน้าที่การเงินของหัวเว่ย ลูกสาวคนโตของผู้ก่อตั้งยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมของจีน ได้รับการปล่อยตัวกลับบ้านแล้ว และได้การต้อนรับกลับจีนอย่างฮีโร่ หลังจากเธอถูกจับกุมในแคนาดา กลายเป็นศูนย์กลางของข้อพิพาททางการเมืองและภูมิศาสตร์ระหว่างสองประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ขณะที่จีนและหัวเว่ย ต่างออกมายืนกรานว่า เธอไม่ได้ทำผิดกฎหมายใดๆ แต่เธออาจถูกจำคุกนานถึง 30 ปี หากพบว่ามีความผิด

หลังจากข่าวคราวออกไป โลกต่างจับตามาที่ซีเอฟโอสาวรายนี้ ทำไมเธอกลายเป็นข้อพิพาททางการเมืองระหว่างสหรัฐ-จีน-แคนาดา (และอิหร่าน) ไปได้

เมิ่งหว่านโจว หรือที่รู้จักในชื่อ ซาบรินา เมิ่งหรือ เคที เมิ่ง ได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งซีเอฟโอของหัวเว่ย บริษัทเอกชนรายใหญ่ที่สุดของจีน

ผู้บริหารวัย 46 เริ่มต้นอาชีพด้วยการเป็นพนักงานต้อนรับในปี 1993 และหลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท ด้านการบัญชีจากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหัวจง ในปี 1999 เธอได้ย้ายเข้ามาร่วมงานในแผนกการเงินของหัวเว่ย และได้ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของบริษัท (CFO) ในปี 2011 ก่อนจะเลื่อนเป็นรองประธานเมื่อไม่กี่เดือนก่อนที่เธอจะถูกจับกุม โดยในปี 2018 เธออยู่ในอันดับที่ 12 ในรายชื่อนักธุรกิจหญิงชั้นนำของจีน

ความสัมพันธ์แบบพ่อ-ลูก กับบิดาของเธอเอง เหรินเจิ้งเฟย มหาเศรษฐีพันล้านนั้น ไม่เป็นที่เปิดเผยต่อสาธารณชน จนกระทั่งเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี่เอง เพราะตอนอายุได้ 16 ปี เมิ่งหว่านโจว ได้เปลี่ยนมาใช้นามสกุล เมิ่ง ตามแม่ของเธอ ที่เป็นภรรยาเก่าของ เหรินเจิ้งเฟย


เมิ่งหว่านโจว ถูกควบคุมตัวในวันที่ 1 ธันวาคม ที่แวนคูเวอร์ ขณะที่เธอกำลังเปลี่ยนเครื่องบิน โดยอัยการตั้งข้อกล่าวหาว่า เธอสมคบคิดที่จะฉ้อโกงธนาคาร โดยบอกธนาคารว่าบริษัทในเครือของหัวเว่ยเป็นบริษัทที่แยกจากกัน ซึ่งช่วยให้หัวเว่ยหลีกเลี่ยงการแบนการค้าของสหรัฐฯ

สหรัฐฯ ได้ทำการตรวจสอบผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่ที่สุดของโลกมาตั้งแต่ปี 2016 ซึ่งเชื่อว่าได้ใช้บริษัทในเครือเพื่อนำอุปกรณ์การผลิตของสหรัฐฯ และธุรกรรมหลายล้านดอลลาร์ไปยังอิหร่าน

การจับกุมเมิ่งหว่านโจว ได้จุดชนวนให้เกิดเหตุการณ์ทางการทูตที่ทวีความรุนแรงขึ้นระหว่างจีน แคนาดา และสหรัฐอเมริกา

ในเอกสารที่ยื่นในศาลฎีกาแห่งบริติชโคลัมเบีย ซึ่งเป็นที่พิจารณาคดีของเมิ่งหว่านโจว ได้เปิดเผยรายละเอียดในชีวิตส่วนตัวของซีเอฟโอสาว

เธอเป็นผู้รอดชีวิตจากมะเร็งต่อมไทรอยด์ ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง และมีปัญหาเรื่องการนอนหลับ ทนายความของเธอให้การว่า เธอต้องการยาทุกวัน

“ฉันกังวลว่าสุขภาพของฉันจะแย่ลงในขณะที่ฉันถูกจองจำ” เธอกล่าวในการยื่นฟ้อง “ขณะนี้ฉันมีปัญหาในการกิน และต้องปรับเปลี่ยนอาหารเพื่อแก้ไขปัญหา” ทนายของเธอยังเสริมว่า แม่ลูกสี่ไม่เสี่ยงหนีไปไหน เพราะเธอมีบ้านหลังงามอยู่ในแวนคูเวอร์


เมิ่งหว่านโจว ให้การกับศาลอีกว่า เธอเคยอาศัยอยู่ในแคนาดาในฐานะพลเมือง จนถึงปี 2009 ก่อนที่เธอจะกลับไปยังจีน ซึ่
เธอซื้อบ้านขนาด 6 ห้องนอนกับสามีคนที่สองในเมืองแวนคูเวอร์ และจะกลับมาเยี่ยมเขาและลูกๆ เป็นประจำ ซึ่งบางคนเข้าเรียนในโรงเรียนในแคนาดาจนถึงปี 2012 ขณะนี้บ้านหลังดังกล่าวมีมูลค่า 5.6 ล้านดอลลาร์

ในปี 2016 เธอและสามี ยังได้ซื้ออสังหาริมทรัพย์แห่งที่ 2 ซึ่งเป็นคฤหาสน์มูลค่า 16.3 ล้านดอลลาร์ โดยบ้านทั้งสองหลังถูกวางเป็นหลักประกันการประกันตัว

เอกสารของศาลให้ข้อมูลเชิงลึกที่น่าสนใจเกี่ยวกับชีวิตของผู้บริหารระดับสูงชาวจีน แวนคูเวอร์เป็นจุดหมายปลายทางสำหรับคนจีนที่ร่ำรวยมาหลายปีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย ให้การศึกษาแก่ลูกหลาน หรือเป็นกรมธรรม์ประกันความไม่แน่นอนของชีวิตในประเทศจีน

สิ่งที่ผู้คนยังสงสัยและยังเป็นความลับดำมืด คือ เธอสามารถถือหนังสือเดินทาง 7 เล่มพร้อมกันได้อย่างไร

ตามรายงานของสื่อจีน ซีเอฟโอหัวเว่ย มีหนังสือเดินทางจีนอย่างน้อย 4 เล่ม และหนังสือเดินทางฮ่องกงอีก 3 เล่ม


กฎหมายของจีนกำหนดว่า หากพลเมืองต้องการรับหนังสือเดินทางจากประเทศหรือภูมิภาคอื่น พวกเขาต้องยกเลิกหนังสือเดินทางจีนของตัวเองก่อน

เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองฮ่องกง ปฏิเสธจะให้ความเห็นเกี่ยวกับคดีของ เมิ่งหว่านโจว แต่ระบุว่าไม่มีผู้ถือหนังสือเดินทางคนใด “ครอบครองมากกว่าหนึ่งเล่ม” ในแต่ละครั้ง ทว่า ตามบันทึกการเข้าและออกของกรมศุลกากรและป้องกันชายแดนของสหรัฐฯ เมิ่งหว่านโจว ใช้หนังสือเดินทางฮ่องกง 3 ฉบับเพื่อเข้าสหรัฐฯ ใน 33 ครั้งระหว่างปี 2014 – 2017

มีรายงานว่า ลูกชายคนที่ 2 ของเธอกำลังศึกษาอยู่ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในรัฐแมสซาชูเซตส์ แต่ เมิ่งหว่านโจว ไม่ได้กลับมาที่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2017

ตำรวจแคนาดาบอกกับศาลว่า ผู้บริหารของหัวเว่ย ดูเหมือนจะ “เปลี่ยนแผนการเดินทาง” เพื่อหลีกเลี่ยงสหรัฐอเมริกา นับตั้งแต่ทราบการสอบสวนทางอาญาของบริษัทในเดือนเมษายน 2017