Celeb Online

เซเลบนักลงทุนแนะ “เม่ามือใหม่” จัดพอร์ตฯ อย่างไรไม่เจ็บตัว?


ในวันที่โลกของการลงทุนกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด แทนที่จะฝากเงินไว้ในธนาคาร แลกกับดอกเบี้ยอันน้อยนิด หลายคนเลือกที่จะนำเงินมาต่อเงิน ด้วยการลงทุนในรูปแบบต่างๆ ซึ่งปัจจุบันไม่ได้มีแค่การลงทุนในหุ้น ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ แต่ยังมีการลงทุนในรูปแบบใหม่ๆ ที่ใช้เงินทุนเริ่มต้นไม่มาก แถมยังมีแอปพลิเคชันและเทคโนโลยีมากมาย ที่ช่วยให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ทำให้โลกการลงทุนเป็นเรื่องง่าย

อย่างไรก็ตาม แม้โลกการลงทุนจะเปลี่ยนไป แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงคือ ขึ้นชื่อว่าการลงทุนล้วนเต็มไปด้วย “ความเสี่ยงและความไม่แน่นอน” ฉะนั้น ใครที่กำลังสนใจอยากเริ่มลงทุนแต่ไม่อยากกลายเป็น “แมงเม่า” ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกนักลงทุนที่ตัดสินใจลงทุนในหุ้นหรือสินทรัพย์ที่เป็นกระแส ลองไปฟังเทคนิคจากเหล่าเซเลบริตีที่มีประสบการณ์การลงทุน ว่าพวกเขามีวิธีบริหารพอร์ตการลงทุนอย่างไร เพื่อไม่ให้เจ็บตัวเหมือนกับแมงเม่าที่หลงบินเข้ากองไฟ


เริ่มจาก “ฟอว์น-ไปยดา มหิทธนันท์” Co-founder รายการ Money Matters, คอร์สเรียน online-offline ด้านการเงิน, นักธุรกิจ และนักลงทุนในเอสเอ็มอี ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์ และ Crypto Currency เผยเทคนิคสำหรับมือใหม่ที่เพิ่งหัดลงทุนว่า ต้องเริ่มจากการสร้างมายด์เซ็ทแบบคนรวยหรือคนที่ประสบความสำเร็จ ดูว่าเขามีวิธีคิด มองภาพลึก-ภาพกว้างอย่างไร ควบคู่ไปกับการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการลงทุนเพิ่มเติม แต่ก็ต้องระวัง เพราะปัจจุบันมีข้อมูลความรู้ให้ศึกษาเยอะมากก็จริง แต่ที่ให้ความรู้ผิดๆ ก็ไม่น้อย ดังนั้น ต้องเลือกศึกษาเฉพาะจากแหล่งที่ถูกต้อง และคนที่มีผลลัพธ์จริงแล้วเท่านั้น

“ยิ่งความรู้น้อย ก็ยิ่งเสี่ยงเยอะ แต่การไม่เข้าใจอะไรเลยในสินทรัพย์ที่ลงทุน คือ ความเสี่ยงที่สุด เพราะฉะนั้น ใครที่คิดจะเริ่มลงทุนต้องขยันหาความรู้ และอย่าลงทุนแบบใจร้อน เทหมดหน้าตัก หรือไปกู้หนี้ยืมสินมาลงทุน ต้องประเมินตัวเองให้ดีว่าสามารถรับความเสี่ยงได้แค่ไหน ที่สำคัญ ถ้าไม่อยากพลาด เพราะถูกหลอก ให้เลือกลงทุนในแพลตฟอร์มที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รับรองดีที่สุด”

สำหรับการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล อย่าง คริปโตฯ ที่ย่อมาจาก Cryptocurrency (สินทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่งที่มีการเข้ารหัส มีราคากลางในการซื้อขายแปรผันตามกลไกตลาด จึงสามารถทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนมูลค่าผ่านอินเทอร์เน็ตได้) ซึ่งกำลังมาแรงตอนนี้ ฟอว์นแนะนำว่า ก่อนลงทุนต้องศึกษาอย่างรอบด้าน เริ่มจากความรู้ในเชิงทฤษฎี อย่างเทคโนโลยีบล็อกเชน, ประวัติศาสตร์การเงินโลก, กลไกการขับเคลื่อนต่างๆ ไปจนถึงปัจจัยที่ทำให้ราคาขึ้น-ลง และช่องทางในการลงทุนที่เชื่อถือได้ เป็นต้น


“ถ้าเรามีความรู้ก็เหมือนมีภูมิคุ้มกัน หากเจอภาวะตลาดผันผวนจะได้ไม่ตกใจ เพราะบางครั้งการปรับตัวลงของตลาดอาจเป็น Healthy Correction หรือการปรับฐานเพื่อไปต่อ ซึ่งถ้าเราเลือกลงทุนในคริปโทฯ ที่พื้นฐานดีและมีอนาคตตั้งแต่แรก แม้จะเจอความผันผวนบ้าง แต่พื้นฐานไม่เปลี่ยน การผันผวนก็อาจเป็นโอกาสให้ได้เก็บของดีราคาถูกก็ได้ แต่ถ้าเกิดพื้นฐานเปลี่ยน บางครั้งก็อาจต้องยอม Cut Loss (ตัดสินใจขายสินทรัพย์) ส่วนจังหวะไหนจะเหมาะสม ถ้าเป็นฟอว์น จะใช้ประสบการณ์วิเคราะห์ว่า เราสามารถเอาประสบการณ์นี้ เรียนรู้เพื่อสร้างกำไรในอนาคตที่มากกว่าเดิมอย่างไรได้บ้าง คิดแบบนี้จะไม่รู้สึกว่าเสียเงิน จะรู้สึกว่าเป็นการลงทุนจ่ายค่าเทอมเพื่อต่อยอด และเตรียมความพร้อมเพื่อเก็บเกี่ยวได้มากขึ้นในอนาคต”

สำหรับเทรนด์การลงทุนอื่นๆ ที่น่าสนใจ ฟอว์นยกให้โลกของ DeFi (Decentralized Finance) หรือการเงินที่ไร้ตัวกลาง “หลายคนเข้าใจว่าการลงทุนในโลกของคริปโทฯ คือการทำกำไรจากส่วนต่างของการซื้อมาขายไปเท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว ยังสามารถสร้าง Passive Income จากดอกเบี้ยและปันผลจาก DeFi ซึ่งนอกจากค่าธรรมเนียมที่ถูกกว่า การเงินแบบมีตัวกลาง ในโลกของ DeFi ยังมีอะไรให้เรียนรู้อีกมาก เช่น Lending, Staking, Yield Farming ฯลฯ ซึ่งสำหรับมือใหม่ DeFi อาจจะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อน ฟอว์นแนะนำให้เรียนรู้จากการลงทุนแบบพื้นฐาน คือลงทุนแบบได้ส่วนต่างกำไรจากคริปโทฯ ให้เป็นก่อน”


ด้าน ติ-ปิติพัฒน์ ปรีดานนท์ ทายาทรุ่น 3 ของปรีดาเรียลเอสเตท กล่าวว่า ด้วยความที่อยู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้น จึงเลือกลงทุนในบ้านและคอนโดฯ เป็นหลัก ควบคู่ไปกับการลงทุนในหุ้น กองทุน และ คริปโทฯ เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง

“สมัยเป็นวัยรุ่น ยังมีเวลาติดตามข่าวสารเยอะ ผมก็ลงทุนในหุ้นครับ พอเป็นผู้ใหญ่ ภาระความรับผิดชอบเยอะขึ้น ไม่มีเวลามากนัก เลยเปลี่ยนมาลงทุนในแบบเน้นผลตอบแทนระยะยาว ช้าแต่ชัวร์ เน้นจัดพอร์ตฯ การลงทุนแบบกระจายความเสี่ยง คือมีทั้งหุ้น กองทุนในและต่างประเทศ ซึ่งต้องยอมรับว่า สมัยนี้โลกการลงทุนเปิดกว้างมากขึ้น และไร้พรมแดน การลงทุนในต่างประเทศทำได้ง่ายมากขึ้น ตอบโจทย์นักลงทุนรุ่นใหม่ รวมทั้งตัวผมเองที่สนใจไปลงในกองทุนต่างประเทศ อย่าง จีน หรือ พวกสตาร์ทอัพใหม่ๆ”

อย่างไรก็ตาม แม้จะออกตัวว่าเป็นสายลงทุนแบบ Conservative (อนุรักษ์นิยม) แต่ติยอมรับว่า บางครั้งเห็นการลงทุนรูปแบบใหม่ๆ ก็อดเข้าไปศึกษาไม่ได้

“อย่างคริปโทฯ ผมก็ลงนะครับ ลงเพื่อให้รู้ เพราะสิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น อยากศึกษาก็ต้องลองลงทุน แต่ลงไปไม่เยอะครับ หลังจากเข้าไปลองแล้ว ผมว่าคริปโทฯ เป็นการลงทุนที่ค่อนข้างหวือหวาและน่ากลัว ซึ่งอาจจะไม่ใช่สไตล์ผมเท่าไหร่ นอกจากคริปโทฯ ผมก็มีไปลองลงในหุ้นของบริษัทที่เสนอขายให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) อันนี้อาจจะต้องอาศัยการจับจังหวะให้ดี ว่าจะขายออกตอนไหน ซึ่งการหาจังหวะที่ใช่ ผมว่าเป็นสิ่งที่ยากที่สุด เทคนิคของผมคือ บางทีถ้าไม่แน่ใจก็อาจจะถอนทุนออกมาก่อน ถ้ายังอยากเสี่ยงต่อก็อาจจะเหลือส่วนที่มีกำไรไว้อย่างน้อย เพราะถ้าสถานการณ์ไม่เป็นอย่างที่คิด ก็ขาดทุนกำไร แต่ไม่เจ็บตัว”

สำหรับนักลงทุนมือใหม่ ติแนะนำว่า ถ้าไม่อยากเป็นแมงเม่า ต้องศึกษาข้อมูลข่าวสารให้ดีก่อนลงทุน “ผมว่าคนที่ลงทุนแล้วเจ็บตัวน้อย เขาต้องขวนขวาย ศึกษาในเชิงลึกจริงๆ ไม่ใช่แค่ติดตามข่าวสารนะ แต่ศึกษาลงลึกไปในงบการเงินของบริษัทนั้นๆ ในแต่ละปี ศึกษาทิศทางของธุรกิจ มุมมองผู้บริหาร ซึ่งอย่างผมเอง อย่างที่บอกโฟกัสหลักเราไม่ได้อยู่ตรงนี้ ผมไม่ได้ลงทุนเป็นงานหลัก ไม่ได้เกาะติดความเคลื่อนไหวตลอด แต่ถ้าเป็นข่าวสารเชิงนโยบายที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์อันนี้ ผมเกาะติดตลอด เพราะเราอยู่ในธุรกิจนี้ ดังนั้น เวลาจะเลือกลงทุนก็ต้องละเอียดรอบคอบ ลงทุนด้วยเงินในส่วนที่ต่อให้เจอความผันผวนก็ไม่เดือดร้อน”


ปิดท้ายที่ “วสุ วิรัชศิลป์” สถาปนิกผู้ก่อตั้ง Vaslab นิยามตัวเองว่าเป็นนักลงทุนสาย Conservative ไม่เน้นการลงทุนที่ผลตอบแทนสูงหรือรวดเร็วทันใจ แต่ต้องแลกด้วยการแบกรับความเสี่ยงสูง วสุบอกว่าเขาเลือกลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ และกองทุนรวมต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นลงทุนระยะยาว แต่ให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างชัดเจน ส่วนคริปโทฯ ที่กำลังมาแรง วสุบอกว่า หลังจากศึกษาและเห็นประสบการณ์ของคนรอบตัว แล้วคิดว่าอาจจะไม่เหมาะกับสไตล์การลงทุนของตัวเองเท่าไหร่ เลยเลือกที่จะผ่านไป

“ผมมองว่าการนำเงินไปลงทุนก็เหมือนเป็นการออมประเภทหนึ่ง เพราะถ้าเทียบกับนำเงินไปฝาก ดอกเบี้ยปีละไม่เกิน 1.5% แต่ถ้าเอาไปลงพวกกองทุน ส่วนใหญ่ผลตอบแทนก็ 3-4% ส่วนตัวผมจะออมในรูปแบบเงินฝากด้วย และแบ่งส่วนหนึ่งมาออมในรูปแบบของการลงทุนในกองทุนและตราสารหนี้ อย่างที่บอกผมไม่ใช่สายใจร้อน ไม่ได้หวังว่าต้องกำไรหวือหวาจากการลงทุน เพราะแหล่งรายได้หลักของผมไม่ได้อยู่ตรงนี้ คติในการลงทุนของผมคือ อาจจะใช้เวลา ลงทุนไปแล้วผลตอบแทนไม่สูงไม่เป็นไร สำคัญคือเงินต้นยังอยู่ เพราะถ้าลงทุนแล้วเงินต้นหาย อันนี้ผมรับไม่ได้ (หัวเราะ)

เพราะฉะนั้น สำหรับคนที่คิดจะเริ่มลงทุน ผมเห็นด้วยครับ แต่ว่าก่อนจะลงทุน ต้องกลับมาสำรวจตัวเองก่อนว่า รับความเสี่ยงได้แค่ไหน เพื่อจะได้เลือกรูปแบบการลงทุนที่เหมาะ ที่สำคัญ ควรนำเงินก้อนที่คิดว่า ไม่ได้มีความจำเป็นต้องใช้มาลงทุน และหมั่นหาความรู้ ติดตามสถานการณ์ ส่วนใครที่อาจจะอยากลงทุนในรูปแบบใหม่ๆ ที่อาจจะมีความผันผวนสูง วสุแนะนำว่า ถ้าอยากลองจริงๆ ก็อาจจะแบ่งเงินก้อนที่ใช้ลงทุนมา 3-5% เพื่อลองลงทุนดูก่อน ถ้าลงไปแล้วไม่เวิร์ก อย่างน้อยก็จะได้เจ็บตัวไม่หนักมาก”

ข้อดี
– การลงทุน เป็นอีกทางเลือกของการออมที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าการฝากเงิน
– ปัจจุบันมีทางเลือกในการลงทุนมากมายเพื่อตอบโจทย์นักลงทุน สามารถเลือกกระจายความเสี่ยงได้ในการลงทุนระยะสั้นและระยะยาว แถมยังสามารถทลายกำแพงไปลงทุนในต่างประเทศได้

ข้อเสีย
– การลงทุนทุกชนิดมีความเสี่ยง ไม่ควรเทหมดหน้าตัก แต่ควรศึกษาและลงทุนอย่างรอบคอบ
– การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงมาก ก็ย่อมมีความเสี่ยงที่สูงมาก เช่น การลงทุนในคริปโทฯ ถือเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยง และผันผวนสูงมากกว่าตลาดทั่วไป หากไม่ศึกษาให้รอบคอบอาจจะเจ็บตัว