วัดนับเป็นสถานที่สำคัญทางศาสนา เพื่อใช้ประกอบศาสนกิจของภิกษุพระสงฆ์ ทั้งยังเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธ ใช้ประกอบพิธีสำคัญๆ การสร้างวัดแต่โบราณในเมืองไทยนั้น เพื่อให้เป็นวัดประจำตระกูล เป็นสถานที่บำเพ็ญกุศลและบรรจุอัฐิธาตุของคนในวงศ์ตระกูล รวมทั้งเป็นอนุสรณ์แห่งเหตุการณ์ และการรำลึกถึงบุคคลนั้นๆ วันนี้ มาดูซิว่าวัดไหนเป็นวัดประจำราชสกุลและตระกูลใดบ้าง?
ราชสกุลเกษมศรี
เมื่อกล่าวถึง “ราชสกุลเกษมศรี” ที่มี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นทิวากรวงษ์ประวัติ (พระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าเกษมศรีศุภโยค) เป็นองค์ต้นราชสกุลนั้น ในฐานะทายาทรุ่นที่ 3 “คุณแก๊ก-ม.ล. จันทนนิภา เกษมศรี” ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ โรงแรมสินธร เคมปินสกี้ กรุงเทพฯ เล่าว่า “ภายในเดือนสิงหาคมของทุกปี สมาชิกของราชสกุลเกษมศรี จะมารวมตัวกันทำบุญเนื่องในวาระครบรอบวันประสูติของพระองค์ ซึ่งเป็นองค์ต้นราชสกุลกันที่ วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร เพราะเป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ซึ่งเป็นพระราชบิดาของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นทิวากรวงษ์ประวัติ”
จึงถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของสมาชิกราชสกุลเกษมศรี ที่จะได้มารวมตัวกันทำพิธีเพื่อรำลึกถึงพระองค์ในทุกๆ ปี โดยมี คุณแก๊ก ทำหน้าที่ประสานงานติดต่อบรรดาสมาชิกราชสกุล ให้มาร่วมทำพิธีกันอย่างพร้อมเพรียง นอกจากนี้ เธอยังรับหน้าที่ประสานงานกับทางสำนักพระราชวัง กรณีที่มีการจัดพิธีในวันสำคัญต่างๆ ที่ทางสมาชิกราชสกุลต้องเข้าร่วมพิธีอีกด้วย
ราชสกุลสนิทวงศ์
“วัดโปรดสัตว์” นับว่าเป็นวัดประจำราชสกุลสนิทวงศ์ ตั้งอยู่ที่ ต.ขนอนหลวง อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ตามเจตนารมณ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ต้นราชสกุลสนิทวงศ์ ที่จะทำนุบำรุงวัดนี้ โดยพระองค์เป็นพระราชโอรสลำดับที่ 49 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย กับเจ้าจอมมารดาปรางใหญ่ พระสนมเอก
วัดโปรดสัตว์ สร้างขึ้นปี 2235 สมัยกรุงศรีอยุธยา ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ปี 2245 และเป็นวัดต้นตระกูล “สนิทวงศ์” โดยตระกูลสนิทวงศ์ ได้นำอัฐิของบรรพบุรุษมาบรรจุไว้ที่ฐานพระประธานในพระอุโบสถ มีปูชนียวัตถุสำคัญ ได้แก่ พระประธานในพระอุโบสถ พระพุทธรูปปางป่าเลไลย์ และพระมหากัจจายนะประดิษฐานอยู่ในวิหาร และเจดีย์สมัยอยุธยา
ช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ของทุกปี ทายาทราชสกุลสนิทวงศ์ จะจัดงานทอดผ้าพระกฐินสามัคคีราชสกุลสนิทวงศ์ เพื่อนำเงินไปทำนุบำรุงเสนาสนะ ถาวรวัตถุ และดำเนินกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาของวัดโปรดสัตว์
และในวันที่ 21 มกราคมของทุกปี ทายาทของ พันตรี หม่อมราชวงศ์สุวพันธุ์ สนิทวงศ์ จะรวมตัวกันทำพิธีบำเพ็ญกุศลเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันถึงแก่อนิจกรรมของท่าน (พันตรี หม่อมราชวงศ์สุวพันธุ์ สนิทวงศ์ เป็นโอรสในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ กับหม่อมเขียน เป็น พระมาตุลา (ลุง) ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร และเป็นพระปัยกา (ทวด) ในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ
ราชสกุลกุญชร
มี “วัดเทวราชกุญชร” ซึ่งเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร เดิมเป็นวัดราษฎร์สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ชาวบ้านเรียกว่า “วัดสมอแครง” เป็นวัดประจำราชสกุล ต่อมา สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชกาลที่ 1 ทรงปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ และ สมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหลวงพิทักษ์มนตรี พระโอรสของสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ ซึ่งเป็นพระเชษฐภคินีของรัชกาลที่ 1 (ต้นสกุลมนตรีกุล) ทรงบูรณะต่อ โดยมี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากุญชร กรมพระพิทักษเทเวศร์ ซึ่งเป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ 2 (ต้นราชสกุลกุญชร) ทรงอุปถัมภ์ เมื่อสิ้นพระชนม์แล้ว พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิงหนาทราชดุรงคฤทธิ์ พระโอรสทรงอุปถัมภ์ต่อ หลังจากนั้นเจ้านายผู้สืบสกุลกุญชรให้ความอุปถัมภ์โดยลำดับ
ครั้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงสถาปนาเป็นพระอารามหลวง และพระราชทานนามว่า “วัดเทวราชกุญชร” โดยคำว่า “เทวราช” แปลว่า “พระอินทร์” มานำหน้าพระนามของพระองค์เจ้ากุญชร ซึ่งแปลว่า “ช้าง” รวมความแล้วแปลว่า “ช้างพระอินทร์” ปัจจุบันกรมศิลปากรจดทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญ
ราชสกุลเทพหัสดิน
บรรพบุรุษต้นราชสกุลคือ “เจ้าขรัวเงิน” พ่อค้าชาวจีน ซึ่งได้เสกสมรสกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ พระพี่นางเธอในรัชกาลที่ 1 หลังจากนั้น เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ ได้ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ วัดเลียบ และรัชกาลที่ 1 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “วัดราชบุรณราชวรวิหาร”
เพราะราชสกุลเทพหัสดินมีหลายสาย ในแต่ละปี สมาชิกราชสกุลก็จะนัดรวมตัวกัน ในเดือนมีนาคม โดยแต่ละสายจะรับเป็นเจ้าภาพเชิญเครือญาติมาร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ที่บ้านของตัวเอง และในเดือนกรกฎาคมก็จะรวมตัวกันไปทำบุญให้บรรพบุรุษที่วัดราชบุรณราชวรวิหาร ซึ่งเป็นสถานที่เก็บพระอัฐิของราชสกุลเทพหัสดิน
ราชสกุลยุคล
“วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม” เป็นวัดประจำตระกูล เพราะทุกวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา วันเกิด หรือวันสงกรานต์ ลูกหลานทุกคนในราชสกุลยุคล ก็จะพากันไปทำบุญที่วัดราชบพิตรเป็นประจำ โดยเฉพาะ หม่อมอัญชลี ยุคล ณ อยุธยา ชายาของ ท่านใหม่-ม.จ. จุลเจิม ยุคล มักจะไปปฏิบัติธรรมที่วัดแห่งนี้เป็นประจำ
วัดราชบพิตรมีความสำคัญสำหรับราชสกุลยุคล โดยภายในพระปรางสามยอดที่จำลองจากลพบุรีมานั้น ก่อสร้างแบบศิลปะของลพบุรี บรรจุพระอัฐิของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ หรือพระองค์ชายเล็ก, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร หรือพระองค์ชายกลาง และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล หรือพระองค์ชายใหญ่ ซึ่งทั้ง 3 พระองค์เป็นพระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศร์”
หนึ่งในเจดีย์ 34 องค์ ในสุสานหลวงของวัดราชบพิธแห่งนี้ มีอนุสาวรีย์พระปรางสามยอดแบบลพบุรี ที่บรรจุพระสรีรางคารของพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฎ ปิยมหาราชปดิวรัดา พระอัครชายาและสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศร์ ต้นราชนิกุลยุคล, พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงเฉลิมเกียรติมงคล และประยูรญาติแห่งราชสกุลยุคล
ราชสกุลสวัสดิวัตน์
“วัดราชาธิวาส” เป็นวัดที่ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาททรงสถาปนาจาก “วัดสมอราย” ได้รับการปฏิสังขรณ์ต่อเนื่องตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 จนถึงในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงปฏิสังขรณ์และพระราชทานนามใหม่ว่า วัดราชาธิวาสวิหาร และเป็นวัดที่พระองค์ได้ทรงผนวชและจำพรรษา และได้ก่อตั้งคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายขึ้น และต่อมา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ พระราชโอรสพระองค์ที่ 60 ในรัชกาลที่ 4 ผู้ทรงเป็นต้นราชสกุลสวัสดิวัตน์ เสด็จมาประกอบพิธีสำคัญต่างๆ ที่วัดราชาธิวาสแห่งนี้ รวมถึงเป็นที่บรรจุพระอัฐิและพระสรีรางคารของราชสกุลสวัสดิวัตน์ จนถึงตอนนี้ เหล่าลูกๆ หลานๆ ก็ได้มาทำบุญให้บรรพบุรุษ หรือทำบุญวันเกิดที่วัดแห่งนี้อยู่เป็นประจำ
ที่ผ่านมา ราชสกุลสวัสดิวัตน์ ได้รวมตัวกันทำบุญครบรอบ 150 ปี สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ วัดนี้จึงเป็นวัดประจำราชสกุลสายตรง ที่ได้รับพระราชทานมาจากรัชกาลที่ 4 นอกจากนี้ ยังมีราชสกุลเทวกุล และสกุลสุจริตกุล ที่ได้มีการรวมตัวกันที่วัดนี้เพื่อทำบุญวันเกิด หรือทำบุญให้บรรพบุรุษ แล้วแต่วาระและโอกาสที่แตกต่างกันไป
ส่วนลูกหลานสกุล “วัชโรทัย” ก็ยังร่วมกันไปทำบุญที่ วัดราชาธิวาสอยู่เสมอ สกุล “วัชโรทัย” นั้นเป็นสกุลเก่าแก่ ที่ได้รับการไว้วางพระราชหฤทัยของกษัตริย์มาตั้งแต่รัชกาลที่ 1 และได้รับพระราชทานนามสกุลจากรัชกาลที่ 6 จึงมาทำบุญให้บรรพบุรุษที่วัดราชาธิวาสแห่งนี้เป็นประจำ ประมาณ 4 ครั้งต่อปี โดยเฉพาะ ในโอกาสครบรอบวันเกิด และวันครบรอบการสิ้นชีวิตของพระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร (กาด วัชโรทัย) และท่านผู้หญิงอนุรักษ์ราชมณเฑียร (พัว วัชโรทัย)
จะเห็นได้ว่า ที่วัดราชาธิวาสฯ นั้น แต่ละราชสกุลได้สร้างศาลา หรืออนุสรณ์สถานไว้ติดๆ กัน เพื่อให้บรรดาลูกหลานได้มารวมกันทำบุญแด่บรรพบุรุษโดยเฉพาะ
ตระกูลบุรณศิริ
“วัดบุรณศิริมาตยาราม” ตั้งอยู่แถวๆ สนามหลวง บริเวณหลังศาลฎีกา เป็นวัดประจำตระกูลบุรณศิริ สร้างโดย กรมหมื่นเสนีเทพ ในสมัยรัชกาลที่ 3 แต่แล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 4 โดย พระยามหาอำมาตย์ (ต่อมาคือ เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี ต้นสกุลบุรณศิริ) เดิมรัชกาลที่ 3 พระราชทานให้ชื่อว่าคือ วัดศิริอำมาตยาราม แต่รัชกาลที่ 4 ทรงเปลี่ยนชื่อเป็น วัดบุรณศิริมาตยาราม ปัจจุบันลูกหลานในตระกูลนี้ มักมารวมตัวกันทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษและโอกาสต่างๆ เป็นประจำ