สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปทรงเป็นประธาน การประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรมรอบตัดสินระดับประเทศ ประจำปี 2567 หนึ่งในโครงการตามแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ที่จัดขึ้นเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรม ให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับสู่สากล ซึ่งกระทรวงมหาดไทย โดย กรมการพัฒนาชุมชน ได้จัดให้มีการประกวดผ้าลายพระราชทานและงานหัตถกรรมต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 เพื่อสืบสานต่อยอดงานผ้าไทยและงานหัตถกรรม ณ สุราลัยฮอลล์ ชั้น 7 ไอคอนสยาม
ภายในงานมี อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.กระทรวงมหาดไทย, ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ และธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.กระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย อรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เฝ้ารับเสด็จ
ปีนี้มีผู้เข้าร่วมประกวดจาก 4 ภูมิภาค ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าประกวดระดับประเทศ 78 ผลงาน แบ่งเป็น ประเภทผ้า 72 ผลงาน และงานหัตถกรรม 6 ชิ้นงาน
สำหรับ “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” เป็นลายที่ได้ทรงศึกษาค้นคว้าลวดลายผืนผ้าจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และทรงนำมาออกแบบลายพระราชทาน เนื่องในปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครบ 6 รอบ 72 พรรษา โดยมีลายพระราชทานหลัก 4 ลาย ได้แก่ ลายวชิรภักดิ์, ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ 2567, ลายหัวใจ และลายดอกรักราษฎร์ภักดี พระราชทานแก่ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ศิลปิน ช่างทอผ้าและหัตถกรรมไทย ผ่านทางกระทรวงมหาดไทย โดยพระราชทานแบบตั้งต้นไว้ 4 ประเภท ได้แก่ ประเภทผ้ากาบบัว ประเภทผ้ายก, จก, ขิด, แพรวา ประเภทผ้ามัดหมี่ และประเภทผ้าบาติก
ส่งผลให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ช่างทอผ้า ทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค รวมถึงช่างหัตถกรรมทุกประเภท เกิดแรงบันดาลใจ ทุ่มเทกำลัง ความคิด และนำลายพระราชทานหลักทั้ง 4 ลายนี้ ไป ถักทอผสมผสานกับลวดลายภูมิปัญญาพื้นถิ่นตามความคิดสร้างสรรค์ของศิลปิน เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน ทำให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้จากการได้ใช้ภูมิปัญญา มาสร้างโอกาสขยายผลต่อยอด
ส่วน รางวัลการประกวดระดับประเทศ แบ่งเป็น 3 ประเภทดังนี้
ประเภทที่ 1 รางวัลพิเศษ Best of the Best ได้แก่ พล.ต. ชัยยุทธ วชิรวรภักดิ์ พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน (สถาบันสิริกิติ์)
ประเภทที่ 2 รางวัลพิเศษแม่น้ำหอม ได้แก่ ปาริชาติ แก้วหนัก กลุ่มปาริชาติไหมไทย
ประเภทที่ 3 เหรียญรางวัลพระราชทาน แบ่งเป็นประเภทต่างๆ กว่า 13 ประเภท รวมถึงประเภทหัตถกรรมอีกด้วย