Celeb Online

สองสาวพี่น้องอินบทยักษ์! มี “ทศกัณฑ์กับอินทรชิต” เป็นไอดอล


ตลอด 10 กว่าปีของการเล่นโขนในบท “ยักษ์” ของสองสาวพี่น้องแห่งบ้านน้อยปุก “แป้ง-สุปรีย์วรรณ” และ “ป๊อบ-ถกนวรรณ” ที่เข้าสู่วงการโขน นาฏศิลป์ชั้นสูงที่เก่าแก่ของไทยตั้งแต่เด็กๆ ถึงจะเป็นผู้หญิงแต่กลับเลือกฝึกเป็นโขน “ยักษ์” แถมยังรักและหลงใหล วันนี้จะพามาไขข้อข้องใจกัน


ป๊อบผู้เข้าสู่วงการยักษ์ก่อนพี่สาวเล่าว่า “หนูเริ่มเรียนละคร เรียนรำ ตั้งแต่ 7-8 ขวบ โดยซ้อมพร้อมกับเพื่อนผู้ชายที่เรียนโขน จนอยากเล่นบ้าง เพราะชอบบุคลิกของยักษ์ที่ชัดเจน สง่างาม ดุดัน ออกท่าทางสนุกกว่าที่หนูซ้อมรำ พออายุ 17 มีรุ่นพี่แนะนำว่า ถ้าอยากเรียนโขนก็ลองมาเรียนที่สถาบันคึกฤทธิ์ หนูจึงมาสมัครโดยระบุว่าอยากเป็น “ยักษ์” จึงได้เป็นโขนยักษ์ผู้หญิงคนแรกๆ ของสถาบันค่ะ”


ด้านแป้งผู้เป็นพี่สาวเล่าว่า “เริ่มเล่นโขนตอนอายุ 19 เห็นน้องสาวเล่นก็ดูว่าเท่ดีจึงลองมาเรียนดูบ้าง ปรากฏว่าชอบมากเลยมุ่งมาเป็นตัวยักษ์ เพราะด้วยสรีระที่เป็นคนสูง ช่วงแรกๆ ก็อยากเล่นเป็นตัวนาง (หัวเราะ) แต่พอเรียนไปเรื่อยๆ ท่ามันเปลี่ยนจะกลับไปเป็นนางก็ดูไม่สวย แล้วเป็นยักษ์ก็สนุกกว่าเลยเล่นเป็นยักษ์มาตลอด มีคนถามเยอะค่ะว่าทำไมถึงมาเล่นเป็นยักษ์ แป้งคิดว่าในบรรดาตัวละคร โขนยักษ์มีความเท่ มีเสน่ห์ความสวยหลากหลายมาก เพียงแต่ความแข็งแรงของยักษ์ดูจะเหมาะกับผู้ชายมากกว่า

แต่ผู้หญิงก็ทำได้ไม่แพ้ผู้ชาย ถึงแม้ว่าสรีระอาจจะสู้ไม่ได้ แต่เคล็ดลับคือ เราต้องฝึกให้หนักกว่าผู้ชาย ยิ่งส่วนตัวแป้งชอบยักษ์อินทรชิตค่ะ เขาเป็นยักษ์วัยรุ่นเกเร มีพละกำลังเยอะท่าทางก็ออกแนวดุดัน มีความกระฉับกระเฉง แป้งต้องฝึกให้ตัวเองเคลื่อนไหวได้รวดเร็วกว่ายักษ์ตนอื่นๆ ค่ะ”


ความยากของการฝึกหัดโขนยักษ์ที่เป็นผู้หญิงคือ เรื่องพละกำลังและสรีระที่แตกต่างจากโขนชาย ต้องเน้นฝึกกำลังขาและแขนให้มากกว่าผู้ชาย เพื่อแสดงฉากสำคัญๆ ได้อย่าง ท่าการขึ้นลอย ที่ยักษ์หญิงต้องเป็นฐานรับลอยจากตัวแสดงลิงที่เป็นผู้ชาย ทำให้โขนหญิงที่เป็นยักษ์ต้องผ่านด่านฝึกโหดมากมาย


ป๊อบเสริมว่า “ครูจะฝึกทุกอย่างเหมือนผู้ชายเลยค่ะ แรกๆ เจ็บมาก กลับบ้านก็ปวดระบมทั้งตัว คือทุกอย่างมันต้องไม่เป็นปกติ มือต้องอ่อนช้อย แขนต้องตึงตรงกับไหล่ ต้องเกร็งกล้ามเนื้อ โดยส่วนตัวหนูชอบทศกัณฑ์ เป็นยักษ์ที่สง่างาม ดุดัน แต่เวลามีความรักก็จะขี้เล่น ขี้งอน มีอารมณ์หลากหลายค่ะ ความยากคือ เวลาเล่นคนดูจะไม่เห็นหน้าตาหนูเพราะสวมหัวโขนอยู่ แต่ก็ต้องสื่ออารมณ์ของยักษ์ตนนี้ผ่านทางนิ้วมือ แขน ขา ออกมาให้ได้

ความภูมิใจที่สุดของการเป็นโขนยักษ์คือ ได้มีโอกาสต่อท่าฉุยฉายทศกัณฑ์ลงสวน กับครูต้อย-จตุพร รัตนวราหะ ศิลปินแห่งชาติ ฉากทศกัณฑ์เกี้ยวนางสีดาใช้เวลาในการต่อท่ากับครูอยู่หลายปี ตอนนั้นครูต้อยยังสามารถถ่ายทอดท่ารำให้ได้ด้วยตัวเอง อันนี้ถือเป็นที่สุดในชีวิตของโขนผู้หญิงแล้วค่ะ ซึ่งก็จะมีแค่ป๊อบกับพี่แป้งที่ได้ต่อท่ากับครูต้อยโดยตรงค่ะ”


ผู้ที่สนใจจะเป็น ยักษ์ ลิง พระ-นาง หรือ ขับร้อง และเล่นดนตรีไทย ตั้งแต่อายุ 7-25 ปี ติดตามได้ที่ ศูนย์ศิลปะการแสดง สถาบันคึกฤทธิ์ FB : @kukritinstitute Tiktok: kipac.kukrit.2454@gmail.com และ IG: @kukritinstitute