สำหรับหลายๆ คน “มัธยม” ถือเป็นช่วงเวลาของความทรงจำ การเก็บเกี่ยวประสบการณ์ และการเปลี่ยนแปลงที่จะนำพาชีวิตไปสู่เส้นทางที่กว้างใหญ่กว่าเดิม จนทำให้คำว่ามัธยมสำหรับแต่ละคนมีความหมายแตกต่างกัน บางคนอาจหมายถึงช่วงของการค้นหาตัวตน บางคนอาจหมายถึงช่วงเวลาที่เริ่มจะมีความชัดเจนกับอนาคต แล้วคุณล่ะ มัธยมของคุณมีความหมายว่าอะไร?
‘Mathayom Art Exhibition’ (มัธยม อาร์ต เอ็กซิบิชั่น) เกิดขึ้นจากเด็กนักเรียน 4 คน ได้แก่ แพรว ธนวิสุทธิ์, ชวิศา อังควานิช, ณพ จึงสวนันทน์ และ เชษฐ์สุดา เฉลิมวัฒน์ ที่ชื่นชอบในงานศิลปะ ซึ่งล้วนมีความคิด มุมมองในช่วงวัยที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงของพวกเขา โดยได้หยิบยกสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตรอบๆ ตัว ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกหรือประสบการณ์จริง ทั้งด้านนามธรรมและรูปธรรม ถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานศิลปะหลากหลายรูปแบบ อย่างงานจิตรกรรม, ประติมากรรม, ภาพปะติด, ศิลปะจัดวาง และศิลปะภาพถ่าย เพื่อบอกเล่าถึงสิ่งที่พวกเขากำลังสนใจ โดยมีคอนเซ็ปต์ที่แตกต่างกัน แบ่งตามความสนใจของแต่ละคน ซึ่งจะจัดแสดงมากกว่า 40 ผลงาน วันนี้-10 ก.ค. 63 ณ Yelo House ซ.เกษมสันต์ 1
“แพรว ธนวิสุทธิ์” นำเสนอผลงานศิลปะในคอนเซ็ปต์ ‘ความต้องการ’ บอกเล่าให้เรารู้ถึงความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นความรัก ความฝัน หรือความสัมพันธ์ทางกาย อีกทั้งยังนำประสบการณ์จริงที่เคยเกิดขึ้นตอนได้รับอุบัติเหตุ มาถ่ายทอดความเจ็บปวดที่ได้รับผ่านผลงาน Installation เฝือกอ่อนของตัวเองที่ยังทิ้งร่องรอยของความทรงจำไว้
“ชวิศา อังควานิช” นำเสนอผลงานศิลปะที่สะท้อนความเป็น Feminine ในตัวตนของเธอ และต้องการจะบอกว่ามนุษย์ล้วนมีด้านขาวและด้านดำ คนเรามักจะนำเสนอด้านขาวให้คนอื่นเห็น และกอดเก็บความมืดดำไว้กับตัว และเมื่อวันใดที่ใจเราไม่แข็งแรงพอ ความมืดดำนั้นอาจจะทลายกำแพงจิตใจที่เราเพียรสร้างออกมาได้ซึ่งหมายรวมถึงตัวเธอด้วยเช่นกัน
“ณพ จึงสวนันทน์” ชายหนุ่มเพียงคนเดียว กับผลงานในคอนเซ็ปต์ ‘ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย’ แม้ด้วยวัยเพียง 18 ปี แต่ว่าเขามองเห็นสังคมของความไม่เท่ากัน และทำผลงานในเชิงเสียดสีสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อสะท้อนให้เห็นอีกหลายแง่มุมที่ใครหลายคนไม่เคยมองเห็น ยกตัวอย่างผลงานภาพถ่ายของคนงานก่อสร้างที่กำลังสร้างตึกสักตึก ณพให้ความสำคัญกับสิ่งที่คนงานเหล่านั้นกำลังสร้างขึ้น เขารู้สึกว่ามันยิ่งใหญ่และสำคัญ แต่ในทางกลับกันคนทั่วไปกลับมุ่งไปให้ค่ากับตึกที่พวกเขากำลังสร้างเท่านั้น
“เชษฐ์สุดา เฉลิมวัฒน์” ถ่ายทอดผลงานศิลปะด้วยความเชื่อในเรื่องของ ‘ความสัมพันธ์และเวลา’ นำเสนอผ่านผลงานในรูปแบบต่างๆ โดยมีดอกไม้เป็นส่วนหนึ่งในการเป็นสื่อกลางของความสัมพันธ์ สั่งสมเก็บเกี่ยวเรื่องราวจากหนังสือที่อ่าน รวมถึงผู้คนที่พบเจอ และได้ปฏิสัมพันธ์กันในชีวิต ยกตัวอย่างผลงาน Installation ที่มีชื่อว่า Faces ที่ต้องการจะสื่อให้เห็นถึงบางครั้งในชีวิตคนเรา ก็ไม่สามารถรู้ได้เลยว่าคนที่จะมายืนอยู่ข้างๆ เราในวันที่เราต้องการใครสักคนในช่วงเวลานั้น จะเป็นใครในชีวิต ซึ่งก็ไม่ต่างจากการจั่วไพ่ที่เราไม่สามารถรู้ได้ว่าไพ่แต่ละใบที่เราหยิบขึ้นมามันจะออกอะไร