เนื่องในโอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 70 พรรษา 28 กรกฎาคม 2565 มูลนิธิวงรอยัลแบงค์คอกซิมโฟนีออร์เคสตร้า ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้จัดการแสดงคอนเสิร์ต “Royal Concert” ถวายพระพรชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 25-26 พฤศจิกายน 2565 เวลา 20.00 น. ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทอดพระเนตรการแสดงคอนเสิร์ต เมื่อค่ำวันที่ 26 พฤศจิกายน 2565 นำมาซึ่งความปลื้มปีติของประชาชนชาวไทยเป็นที่ยิ่ง
ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิรอยัลแบงค์คอกซิมโฟนีออร์เคสตร้า และประธาน บี.กริม. เผยถึงความพิเศษของคอนเสิร์ตในครั้งนี้ว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ทรงพระกรุณารับเป็นผู้อำนวยการแสดง และโปรดให้วง Royal Bangkok Symphony Orchestra (RBSO) นำบทพระนิพนธ์ 4 บทเพลงมาบรรเลง อำนวยเพลงโดย Michel Tilkin ผู้อำนวยการด้านดนตรี RBSO ร่วมด้วยศิลปินเดี่ยวเปียโน Titos Gouvelis ศิลปินนักเปียโนชาวกรีก และ Niklas Liepe ศิลปินนักไวโอลินชาวเยอรมัน โดยทรงเป็นโปรดิวเซอร์การแสดงทั้งหมด ทั้งนี้ ทรงใส่พระทัยในทุกรายละเอียด ตั้งแต่การออกแบบฉาก เวที แสง เสียง ทั้งยังทรงดูแลนักดนตรีและเข้าชมการฝึกซ้อม พร้อมพระราชทานคำแนะนำโดยไม่ถือพระองค์ ซึ่งผู้ชมได้ดื่มด่ำกับบทเพลงพระนิพนธ์อันไพเราะและทรงคุณค่า ตลอดจนได้มีโอกาสชื่นชมพระอัจฉริยภาพด้านดนตรีของพระองค์อย่างใกล้ชิด”
การแสดงเริ่มรายการด้วยบทนิพนธ์ MYTHOS POETICA Suite for Orchestra Mythos Poética (2020) เป็นดนตรีบรรยายเรื่องราวตามบทกวีนิพนธ์ ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ทรงพระนิพนธ์ขึ้นโดยได้รับแรงบันดาลพระทัยมาจากตำนานกรีกโบราณ บทเพลงบรรยายถึงเรื่องราวความรักในฉากพิพิธภัณฑ์ ระหว่างที่ชายหนุ่มนักสะสมงานศิลปะ กำลังเยี่ยมชมผลงานแฟชั่นชั้นสูง เขาตกหลุมรักหญิงสาวที่มีความงดงามราวกับเทพธิดากรีก เธอมีดวงตาที่เปล่งประกายดั่งดวงดาวในท้องฟ้า แม้ว่าจะเป็นไปไม่ได้ที่จะครองรักกัน แต่มีเพียงสิ่งเดียวที่แน่นอนคือ ช่วงเวลาแห่งความสุขที่ทั้งสองได้มีร่วมกัน อยู่ในความทรงจำที่ไม่มีวันลบเลือน
Mythos Poética ประกอบด้วย 5 ท่อน เหมือนเช่นบทเพลงพระนิพนธ์เพลงชุดสำหรับออร์เคสตราบทอื่น มีการใช้เครื่องดนตรี ‘Reform’ ที่พระองค์ทรงประดิษฐ์ขึ้น และยังคงเอกลักษณ์การใช้วงออร์เคสตราผสมวงดนตรีร็อก ที่ผสานด้วยดนตรีไฟฟ้าและเครื่องกระทบ (Percussion) รวมถึงเทคนิคการบรรเลงดนตรีที่หลากหลายเช่นเคย โดยมีท่อนเดี่ยวไวโอลินอยู่ใน Chapter I และ ท่อนเดี่ยวเปียโนประชันกับวงออร์เคสตราใน Chapter III บทเปียโนคอนแชร์โต Le Mariage de minuit Fantasie pour piano et orchestra นำบทเพลง Mythos Poetica มานิพนธ์ให้นักเปียโนได้แสดงความสามารถ ใช้เทคนิคชั้นสูงเพื่อเล่นประชันกับวงออร์เคสตรา และบทเพลง NEFRERETTA Concerto for Violin and Orchestra สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ เสด็จทอดพระเนตรการแสดงวัตถุโบราณ ณ พิพิธภัณฑ์กรุงเวียนนา โดยทรงได้รับแรงบันดาลพระทัย ในเรื่องการนำวัฒนธรรมจากลุ่มแม่น้ำไนล์พบลุ่มแม่น้ำดานูบ ทรงใช้วงออร์เคสตราแทนอารยธรรมลุ่มน้ำดานูบ และทรงนำเครื่องดนตรีกลุ่มเครื่องตี เป็นเครื่องดนตรีในบทเพลงที่ทรงนิพนธ์ขึ้น